ภายในระยะเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลัง 'กูเกิล' ออกแถลงการณ์ยกเลิกการค้าระหว่างบริษัทกับ 'หัวเว่ย' ซึ่งจะส่งผลกระทบกับบริษัทโทรคมนาคมสัญชาติจีนอย่างหนัก กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯก็ออกมาประกาศผ่อนปรนการแบนการค้าระหว่างบริษัทอเมริกันกับหัวเว่ย โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อช่วยเหลือบริษัทอเมริกันให้ปรับตัวได้ทัน
มาตรการผ่อนปรนที่ออกมาชั่วคราวนั้นอนุญาตให้หัวเว่ยซื้อสินค้าจากสหรัฐฯเพื่อรักษาสถานภาพของโครงข่ายและเพื่อการให้บริการไร้สายอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามหัวเว่ยยังคงถูกแบนการจากซื้ออุปกรณ์ของสหรัฐฯเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท
โดยมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้วันจันทร์ (20 พ.ค.) ที่ผ่านมา และจะมีผลไปเป็นเวลา 90 วัน ในระยะแรก ซึ่งมาตรการผ่อนปรนทางการค้านี้สามารถขยายเวลาออกไปได้หากเห็นสมควร
'วิลเบอร์ รอสส์' รัฐมนตรีว่าการประทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวว่า มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวดังกล่าวมีไว้เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการปรับตัวจัดการต่างๆและให้พื้นที่กับกระทรวงในการพิจารณามาตรการที่เหมาะสมในระยะยาวเพื่อจัดการกับสภาวะที่บริษัทอเมริกันพึ่งพา หัวเว่ย ในฐานะบริษัทให้บริการด้านโทรคมนาคมเป็นหลัก
แม้ว่าหัวเว่ยจะไม่ได้เข้ามาทำธุรกิจในสหรัฐฯมากนัก แต่มีความสำคัญในฐานะผู้ให้บริการด้านอุปกรณ์โครงข่ายแก่บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้สหรัฐฯ อีกทั้งบริษัทเหล่านั้นยังออกมาบอกว่า การปรับตัวต้องใช้เวลาหรืออาจจะเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ที่จะหาบริษัทอื่นมาแทนที่หัวเว่ย
"เราเสียสละ(ความต้องการ)ส่วนบุคคลและครอบครัวมากมายเพื่อขึ้นมายืนในอันดับต้นๆของโลก และการอยู่ในจุดนี้ ต้องขัดแย้งกับสหรัฐฯไม่ช้าก็เร็ว" 'เหรินเจิ้งเฟย' ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย กล่าว
'สหรัฐฯ' เลือกเดินหมากผิด
สำนักข่าวบลูมเบิร์กวิเคราะห์กลยุทธ์ของรัฐบาลสหรัฐฯที่มีต่อหัวเว่ยว่าเป็นความผิดพลาด โดยกล่าวถึงผลกระทบที่บริษัทข้างเคียงอื่นๆทั่วโลกต้องแบกรับ ซึ่งรวมไปถึง การสูญเสียธุรกิจ เผชิญหน้ากับการแทรกแซงและต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมหาศาล ส่งผลให้พันธมิตรที่เคยช่วยสหรัฐฯกดดันหัวเว่ยอาจหันหลังให้กับประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งได้ และแม้ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ จะออกโรงกลืนน้ำลายยื่นมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน ให้แก่หัวเว่ย ก็ไม่อาจจะทำให้บริษัทเหล่านี้เชื่อได้ว่าจะไม่มีการแบนอีกครั้ง
ในมิติด้านการเจรจายิ่งเลวรายและไม่สมเหตุสมผลเข้าไปใหญ่ คงเป็นเรื่องที่เชื่อได้ยาก หากจะบอกว่าการแบนหัวเว่ยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ใช่หนึ่งในมาตรการที่ ทรัมป์ ต้องใช้หัวเว่ยเพื่อโกยผลประโยชน์เข้าสหรัฐฯ เหมือนที่ทรัมป์ทำกับ 'แซดทีอี' ในปีที่แล้ว สิ่งที่ทรัมป์ทำมาตลอดอาจจะเรียกได้ว่ามากเกินไปแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจึงไม่ใช่ซึ่งที่จะทำให้จีนอยากเจรจาต่อมากเท่าไหร่นัก
สิ่งที่สหรัฐฯควรให้ความสำคัญคือวางแผนระยะยาวเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน สร้างสามารถในการแข่งขันและร่วมมือกับพันธมิตรกดดันให้จีนดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานสากล ไม่ใช่พยายามทำลายหัวเว่ย ซึ่งนอกจากจะเป็นการคำนวณกลยุทธ์ที่ผิดพลาดยังเป็นการทำร้ายตัวเองและคนอื่นอย่างสาหัส
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :