ศาสตราจารย์โวล์ฟแฟรม ชาฟฟาร์ ชาวเยอรมันผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทย ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ ‘ดอยเชอเวลเลอ’ของเยอรมนีเมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา พาดพิงถึงกรณี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนปัจจุบัน แถลงต่อสื่อมวลชนไทยถึงสถานการณ์การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น
ดอยเชอเวลเลอระบุว่า แม้ ผบ.ทบ.จะยืนยันว่ากองทัพไทยวางตัวเป็นกลางและดำเนินตามคำสั่งของทุกรัฐบาล แต่ในเวลาต่อมาก็ระบุว่า “หากไม่เกิดวิกฤตความรุนแรงทางการเมือง ก็จะไม่นำไปสู่การรัฐประหาร” ทำให้สื่อเยอรมันตั้งคำถามว่ากองทัพไทยวางตัวเป็นกลางได้จริงหรือไม่ เพราะหากมองจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจะพบว่ากองทัพไทยพัวพันการรัฐประหารมาแล้ว 18 ครั้ง นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ชาฟฟาร์ยังเตือนว่ารัฐบาลจะต้องจัดเลือกตั้งตามกรอบเวลาที่กำหนดเอาไว้ เพราะคนไทยจำนวนมาก “ใกล้จะหมดความอดทนแล้ว” โดยเขาให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมามีการเลื่อนกำหนดเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง จนทำให้คนขาดความเชื่อใจในรัฐบาล แม้แต่คนบางกลุ่มที่ใกล้ชิดหรือสนับสนุนกองทัพก็เริ่มไม่พอใจเช่นกัน โดยเป็นการเปรียบเทียบกับเสียงสนับสนุนที่กองทัพเคยได้รับเมื่อครั้งก่อรัฐประหารเมื่อปี 2557 ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นการหยุดยั้งความรุนแรงในประเทศไทย
ชาฟฟาร์ระบุด้วยว่า กองทัพไทยมีความเกี่ยวโยงกับสถาบันและองค์กรทางการเมืองต่างๆ ในประเทศอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ทำให้มีความกังวลว่าการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในปีหน้าอาจไม่เสรีและเป็นธรรม เพราะท้ายที่สุดแล้ว พรรคการเมืองที่ไม่ได้เห็นชอบกับทหารก็ไม่อาจผนึกกำลังกันเพื่อท้าทายกองทัพได้
สื่อเยอรมันยกตัวอย่างกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 เป็นผลให้มีผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีจำนวนมาก ทั้งนักวิชาการ นักศึกษา นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เรื่อยมาจนถึงกลุ่มผู้เรียกร้องการเลือกตั้งในปีที่ผ่านมา บ่งชี้ว่ากองทัพมีความพยายามที่จะยื้ออำนาจต่อไปในอนาคต
ที่มา: DW/ Asahi Shimbun/ Reuters
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: