ไม่พบผลการค้นหา
สิทธิความหลากหลายทางเพศเป็นประเด็นที่นักเคลื่อนไหวทั่วโลกกำลังต่อสู้กันอย่างแข็งขัน แต่อุปสรรคในการต่อสู้ประเด็นนี้ในแต่ละประเทศก็แตกต่างกันออกไป ซึ่งนักเคลื่อนไหวในเอเชียมองว่า ความท้าทายสำคัญสำหรับการต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBTIQ กลับอยู่ที่ปัญหาขั้นพื้นฐาน นั่นคือการไม่มีประชาธิปไตย

ความหลากหลายทางเพศเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การต่อสู้เพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศก็ยังคงมีอุปสรรคหลายด้าน ตั้งแต่เรื่องกฎหมาย อคติทางเพศ ไปจนถึงเรื่องศาสนา ซึ่งอุปสรรคในการต่อสู้เรื่องนี้ก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม ซึ่งนักเคลื่อนไหวด้าน LGBTIQ ในเอเชียแปซิฟิกมองว่า ความท้าทายสำคัญของภูมิภาคนี้ก็คือความไม่เป็นประชาธิปไตย

จีน ชง Jean Chong
  • จีน ชง นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิกลุ่มหลากหลายทางเพศในสิงคโปร์และเอเชีย

จีน ชง นักเคลื่อนไหวที่ขับเคลื่อนประเด็นนี้ผ่านการทำวิจัยและแคมเปญในสิงคโปร์ รวมถึงในเอเชียแปซิฟิกมากว่า 18 ปี จนได้รับรางวัล HERO Awards สาขาฮีโรของชุมชนคนหลากหลายทางเพศ ประจำปี 2018 จากมูลนิธิแอ็พคอมกล่าวว่า ความท้าทายของเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เพราะเมื่อไม่มีสิทธิมนุษยชน ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะพูดถึงสิทธิกลุ่มหลากหลายทางเพศ เพราะสิทธิของ LGBTIQ เกี่ยวโยงกับสิทธิอื่นๆ ทั้งเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคม ดังนั้น สำหรับเธอ 'การเมือง ประชาธิปไตย หลักนิติธรรม' จึงเป็นสิ่งท้าทายที่สุดของเอเชียแปซิฟิก

เธอระบุว่าสิงคโปร์เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ยังมีกฎหมายยุคอาณานิคมที่ระบุว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แม้รัฐบาลจะประกาศว่าจะไม่บังคับใช้กฎหมายนี้ แต่ปัญหาก็คือ กฎหมายนี้เป็นอุปสรรคต่อการออกนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ดังนั้น กลุ่ม LGBTIQ ทั้งหมดก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ประเด็นสำคัญก็คือเรื่องการเซ็นเซอร์สื่อ ซึ่งรวมถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศด้วย

โยกี ประเซเทีย Yogi Prasetia
  • ดร.โยกี ประเซเทีย ผู้ก่อตั้ง 'บาหลี เมดิกา' คลินิกตรวจเชื้อเอชไอวีในบาหลี

ด้าน ดร.โยกี ประเซเทีย แพทย์ผู้ก่อตั้ง 'บาหลี เมดิกา' คลินิกตรวจหาเชื้อเอชไอวีในบาหลีของอินโดนีเซีย ซึ่งทำงานสนับสนุนประเด็น LGBTIQ และการป้องกันเชื้อเอชไอวีมากว่า 10 ปี กล่าวหลังได้รับรางวัล Hero Awards สาขาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีว่า อคติทางเพศถือเป็นความท้าทายใหญ่ที่สุดในการทำงานของเขา

แม้อินโดนีเซียจะเป็นประเทศมุสลิมสายกลาง แต่ความเชื่อทางศาสนาของคนส่วนใหญ่ในประเทศก็มีผลต่อทัศนคติของคนส่วนใหญ่ต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศและผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะช่วงหลังมานี้ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมในอินโดนีเซียออกมาเคลื่อนไหวต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศมากขึ้น มีกลุ่ม LGBTIQ ถูกลงโทษทางกฎหมายให้เห็นบ่อยขึ้น

ดร.โยกีกล่าวว่า หากรัฐบาลและสังคมพยายามผลักไสใครหรือทำโทษใครจากรสนิยมทางเพศของเขา จะทำให้หลายคนไม่กล้าไปพบแพทย์เพื่อตรวจเชื้อเอชไอวี เพราะกลัวว่าจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ แต่หลักการของคลินิกนี้ก็คือ คลินิกจะให้บริการทุกคน ไม่ว่าจะมีรสนิยมทางเพศแบบใดก็ตาม และเขาพยายามให้ความรู้กับคนทั่วไปว่า พฤติกรรมส่วนบุคคลเป็นสาเหตุให้ติดเอชไอวี ไม่ใช่รสนิยมทางเพศ ซึ่งถือเป็นเป็นเรื่องท้าทายอยู่บ้าง แต่เขาก็พยายามทำอย่างต่อเนื่อง

ไทกะ อิชิคะวะ Taiga Ishikawa
  • ไทกะ อิชิคะวะ นักเขียนและนักการเมืองเกย์อย่างเปิดเผยคนแรกของญี่ปุ่น

ไทกะ อิชิคะวะ เจ้าของรางวัลเกียรติยศ 'ศิวะนันทา ข่าน' เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิกลุ่มหลากหลายทางเพศในญี่ปุ่นและเอเชียมากว่า 20 ปี เขากล่าวว่า การไม่รู้ว่ามี LGBTIQ คนอื่นๆ อยู่ในสังคม เคยทำให้หลายคน รวมถึงตัวเขา รู้สึกโดดเดี่ยว ทั้งที่รู้ตัวมาตั้งแต่ ม.ต้นว่าเป็นเกย์ ตอนนั้นเขาก็อยากเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ก็ยังทำไม่ได้ จนอายุ 25 ปีได้เจอกับเพื่อนที่เป็น LGBTIQ เหมือนกัน จึงรู้สึกว่าได้รับแรงและพลังใจที่จะสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

อิชิคะวะเล่าว่าเขาทำกิจกรรมสนับสนุน LGBTIQ มาตั้งแต่ปี 2000 จากนั้นในปี 2002 ได้เขียนหนังสือชื่อ 'แฟนหนุ่มของผมอยู่ไหน' เปิดเผยตัวเองว่าเป็นเกย์ ทำให้คนญี่ปุ่นได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของกลุ่ม LGBTIQ มากขึ้น ต่อมาในปี 2004 เขาก่อตั้งองค์กร Peer Friends เพื่อลดความโดดเดี่ยวของ LGBTIQ ในสังคมญี่ปุ่น อิชิคะวะกล่าวว่า เขารู้สึกสนุกที่ได้ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่เคยทำกัน

ในปี 2011 เขาจึงลงเลือกตั้งและชนะการเลือกตั้งในกรุงโตเกียว ทำให้เขาได้เป็นนักการเมืองเกย์อย่างเปิดเผยคนแรกของญี่ปุ่น และเขาก็คิดว่ามันเป็นงานที่สนุกมากและท้าทายมาก และเขาก็จะทำงานต่อไป เพื่อให้คนญี่ปุ่นยอมรับ LGBTIQ มากขึ้น

ในขณะที่คนที่มีความหลากหลายทางเพศในญี่ปุ่นอาจไม่ออกมาเปิดเผยตัวตนกันมากนัก สื่อต่างๆ ก็มีส่วนช่วยให้คนยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น อิชิคะวะกล่าวว่า ในญี่ปุ่นก็จะมีสื่อต่างๆ เช่น การ์ตูนญี่ปุ่นที่เรียกว่า บอยส์เลิฟ (Boy’s Love) ที่เขียนถึงความสัมพันธ์ของผู้ชายสองคน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคนอ่านและได้รับความนิยมค่อนข้างมากทีเดียว เขาคิดว่ามันน่าจะส่งผลกับการรับรู้ของคนญี่ปุ่นอยู่บ้าง หากทำแบบสอบถามความเห็นออนไลน์เกี่ยวกับการแต่งงานเพศเดียวกัน คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย

อ่านเพิ่มเติม: