กิจการที่พักและโปรแกรมบำบัดจิตใจที่ใช้ชื่อว่า Prison Inside Me (คุกในตัวเรา) ตั้งอยู่ที่เมืองฮงชอน ห่างจากกรุงโซลของเกาหลีใต้ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร เปิดให้บริการเมื่อปี 2556 โดยคิดค่าบริการคืนละ 90 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,970 บาท)
จุดขายของที่พักแห่งนี้คือการเป็นสถานที่ที่ตัดขาดจากโลกภายนอก โดยจำลองรูปแบบคล้ายกับเรือนจำในเกาหลีใต้ ภายในห้องพักขนาด 5 ตารางเมตรไม่มีอะไรหรูหรา ผู้เข้าพักจะได้รับเสื่อโยคะที่ต้องใช้แทนฟูกนอน เสื้อเครื่องแบบสมุด ปากกา รวมถึงโต๊ะเขียนหนังสือ กาต้มน้ำร้อนขนาดเล็ก แต่ไม่มีบริการอินเทอร์เน็ต นาฬิกา หรือเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ แต่มีห้องน้ำขนาดเล็ก ซึ่งไม่มีกระจกเงา
ควอนจงซ็อก อดีตอัยการที่เคยทำงานสัปดาห์ละกว่า 100 ชั่วโมง และโนห์จีฮยัง ผู้เป็นภรรยาของเขา ร่วมกันก่อตั้งและบริหารกิจการ Prison Inside Me ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากความต้องการพักผ่อนและทบทวนชีวิตตัวเองโดยไม่มีปัจจัยอื่นๆ มาเป็นแรงกดดัน
ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.ย. ควอนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า การทบทวนตัวเองเพื่อตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อไปในชีวิต ต้องการสมาธิอย่างมาก และต้องตัดขาดจากทั้งผู้คนรอบข้าง บุหรี่ โทรศัพท์ เจ้านาย และงานที่ต้องเร่งให้เสร็จโดยเร็ว และกลายป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ควอนลาออกจากงานมาประกอบกิจการของตัวเอง
อาคารที่พักของ Prison Inside Me ถูกปลูกสร้างเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม มีห้องพักทั้งหมด 28 ห้อง ตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชน แต่มีพื้นที่สีเขียวล้อมรอบ ภายในอาคารที่พักจะทาสีเทาเลียนแบบห้องขังในเรือนจำ และผู้ที่เข้าพักจะต้องนำโทรศัพท์ไปฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งเปรียบเสมือนผู้คุมเรือนจำ ชุดที่สวมใส่ก็คล้ายเสื้อของนักโทษ และผู้ตัดสินใจเข้าพักจะต้องอยู่ในภายห้องเพียงลำพังเพื่อใช้เวลาทบทวนตัวเอง แต่ภายในห้องจะมีสมุดบันทึกให้ผู้เข้าพักเขียนความรู้สึกหรือไม่ก็เป้าหมายในชีวิตของตัวเองได้
ส่วนผู้ที่เลือกโปรแกรมบำบัดจิตใจต้องเข้าพักที่ Prison Inside Me นานประมาณ 1 สัปดาห์ จะได้ร่วมกิจกรรมฝึกสมาธิและการสนทนาแบบกลุ่มเพื่อเปิดใจและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย ขณะที่อาหาร 3 มื้อจะถูกเสิร์ฟที่ห้องพัก โดยเจ้าหน้าที่จะวางไว้ที่ช่องปิด-เปิดขนาดเล็กของประตู 'ห้องขัง' แต่ผู้ที่เลือกเข้าพักแบบรายวันจะถูกห้ามไม่ให้พูดคุยกับผู้เข้าพักรายอื่นๆ และจะต้องใช้เวลาอยู่กับตัวเองโดยไม่ต้องสนใจสิ่งเร้าภายนอก
พักฮเยรี พนักงานบริษัทวัย 28 ปี หนึ่งในผู้ใช้บริการของ Prison Inside Me เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ที่จริงแล้วเธอมีงานยุ่งมาก แต่รู้สึกอยากทบทวนตัวเอง จึงตัดสินใจเข้าพักที่นี่ และเรื่องที่ตลกก็คือ สถานที่คุมขังแห่งนี้ให้ความรู้สึกอิสระเสรีทางจิตใจมากกว่าที่ทำงานของเธอเสียอีก
ทั้งอัลจาซีราและรอยเตอร์รายงานตรงกันว่า ประชากรวัยทำงานของเกาหลีใต้ต้องทำงานเฉลี่ย 2,024 ชั่วโมงเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา โดยถือว่าเป็นประเทศที่คนใช้เวลาทำงานมากเป็นอันดับ 3 จาก 36 ประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ทั่วโลก ทั้งยังเป็นประเทศที่ประชากรฆ่าตัวตายมากที่สุดด้วย เฉลี่ย 12,000 คนต่อปี ซึ่งปัจจัยหนึ่งเป็นผลจากภาวะเครียดและได้รับความกดดันจากสังคมและที่ทำงาน
แม้ว่าต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้จะปรับแก้กฎหมายแรงงานเพื่อลดเวลาทำงานลง โดยกำหนดให้พนักงานบริษัทเอกชนต่างๆ ทำงานไม่เกินสัปดาห์ละ 52 ชั่วโมง จากเดิมที่กำหนดให้ทำงานสูงสุดสัปดาห์ละ 68 ชั่วโมง แต่ภาคเอกชนและพรรคฝ่ายค้านไม่ค่อยเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง แต่ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บ่งชี้ว่าการทำงานที่สมดุลกับการใช้ชีวิตส่วนตัวจะทำให้ประชากรวัยทำงานมีความสุขและมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: