นายคูมี ไนดู เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลออกแถลงการณ์ริบรางวัลทูตแห่งมโนธรรม รางวัลเกียรติยศสูงสุดของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคืนจากนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ซึ่งเคยได้รับรางวัลดังกล่าวในปี 2552 โดยมีการชี้แจงเหตุผลว่านางซูจีทรยศค่านิยมที่เธอเคยต่อสู้เคียงข้างกันมา
นายไนดูระบุว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งที่นางซูจีไม่สามารถเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง ความกล้าหาญ และการปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อีกต่อไป แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่สามารถสร้างความชอบธรรมให้นางซูจีอยู่ในสถานะผู้รับรางวัลเกียรติยศนี้ได้ เนื่องจากเธอไม่ยอมใช้อำนาจทางการเมืองและศีลธรรมในการปกป้องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศของเธอได้
นอกจากนี้ นายไนดูยังวิจารณ์ว่านางซูจีเลือกที่จะมองข้ามการกดขี่รุนแรงและอาชญากรมต่อมนุษยชาติของกองทัพต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อีกทั้งยังปกป้องกองทัพจากการวิพากษ์วิจารณ์และการตรวจสอบจากนานาชาติ และยังไม่มีความอดทนอดกลั้นต่อเสรีภาพในการแสดงออก
หลังเกิดการฆ่าล่างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ นางซูจีก็ถูกริบรางวัลเกียรติยศจำนวนมาก และยังมีกระแสเรียกร้องให้มีการริบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่เคยให้นางซูจีไปเมื่อปี 2534 จนเลขาธิการของคณะกรรมการรางวัลโนเบลต้องออกมาชี้แจงว่า ไม่สามารถยึดรางวัลโนเบลคืนได้ เพราะเป็นการให้รางวัลต่อผลของความพยายามในอดีต
เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา นางซูจีเพิ่งออกมายอมรับว่า รัฐบาลควรจะรับมือกับสภานการณ์ความขัดแย้งในรัฐยะไข่ได้ดีกว่า แต่เธอก็มักปกป้องกองทัพเมียนมาอยู่เสมอ พร้อมตำหนิว่านานาชาติที่วิจารณ์เรื่องความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา ไม่เข้าใจความขัดแย้งที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและซับซ้อนภายในเมียนมา
ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา
ความรุนแรงรอบล่าสุดในรัฐยะไข่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนส.ค. 2560 ส่งผลให้มีชาวโรฮิงญาถูกสังหารหมู่ และมีคนต้องลี้ภัยออกจากพื้นที่ไปยังบังกลาเทศมากกว่า 700,000 คน ส่งผลให้ให้ค่ายผู้ลี้ภัยคอกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา สหประชาชาติเพิ่งออกรายงานการค้นหาความจริงเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งสรุปว่า การปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม เช่นเดียวกับสถานการณ์การสู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉานและรัฐกะฉิ่น อีกทั้งยังเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ พร้อมเรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศดำเนินคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพเมียนมา
นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังตำหนิว่าการเพิกเฉยของนางซูจีและรัฐบาลพลเรือนเมียนมามีส่วนให้เกิดอาชญากรรมที่ชั่วร้าย อีกทั้ง รัฐบาลพลเรือนของเมียนมายังพยายามปฏิเสธความผิดของกองทัพ เผยแพร่ข้อมูลที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง ละเลยการทำลายหลักฐานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่ อีกทั้งยังขัดขวางกระบวนการสืบสวนสอบสวน
ที่มา : Amnesty International, CNN, BBC
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :