ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มอดีตพนักงานสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 ออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผล 4 ข้อกรณีเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมหลังถูกเลิกจ้าง เตรียมพบ กสทช.-ศาลแรงงาน เพื่อสอบถามแนวทางหลักเกณฑ์ในการเยียวยา

แถลงการณ์ของกลุ่มอดีตพนักงานช่อง 3 ระบุว่า หลังจากที่อดีตพนักงาน ผู้ร่วมผลิตรายการ และพนักงานลูกจ้างของผู้ร่วมผลิตรายการ ได้เดินทางเข้าหารือฝ่ายนิติกร ศาลแรงงานกลาง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางกลุ่มพิจารณาแล้วว่า จะเดินหน้าเรียกร้องขอความยุติธรรมจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม เนื่องจากเห็นว่า ความจำเป็นในการเลิกจ้างของนายจ้าง ต้องมีผลต่อการประกอบธุรกิจในทันที แต่การเลิกจ้างครั้งนี้ เป็นการกระทำเพื่อแลกมาด้วยเงินชดเชยจากการคืน 2 ช่องดิจิทัล คือ ช่อง 13 และ 28 คิดเป็นจำนวนเงินประมาณกว่า 800 ล้านบาท

เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า บริษัทได้ตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานจำนวนหนึ่งเพื่อแลกกับข้อเสนอเงินชดเชยที่ได้มา โดยไม่มีการประชุมปรึกษาหารือกับพนักงานผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา และรับฟังถึงความเดือดร้อนของพนักงานที่จะต้องตกงานในภาวะวิกฤตของทีวีดิจิทัล แต่กลับมีการหารือและตัดสินใจเป็นการภายในเฉพาะคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ รวมถึงผู้บริหารที่เป็นผู้ถือหุ้นเพียงเท่านั้น ขณะที่ข้ออ้างในการเลิกจ้างพนักงาน เพื่อเป็นการลดต้นทุนของบริษัท แต่ในความเป็นจริงบริษัทยังรับพนักงานใหม่เข้ามาทดแทนอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราเงินเดือนสูง

จึงเห็นว่าการกระทำของบริษัทดังกล่าว มิได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดแก่ลูกจ้าง คู่ค้า คู่สัญญา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงพนักงานและลูกจ้างของผู้ประกอบธุรกิจร่วมในการผลิตข่าว ที่ร่วมทำงานกันมานับ 10 ปี การกระทำของบริษัท จึงไม่สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทมหาชน ที่จะดำรงไว้ในการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล มีจริยธรรม และคุณธรรม ที่สามารถตรวจสอบได้ และพึงต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายทุกฉบับ และทุกประการ และจะเดินหน้าทวงความเป็นธรรม ตามรายละเอียดดังนี้

1. การดำเนินการเลิกจ้างในทันที โดยไม่แจ้งเหตุผล ทั้งที่ยังเหลือเวลาออกอากาศอีก 2 เดือน

2. เป็นการคืนช่อง 28 และ 13 แต่กลับบอกเลิกจ้างกับพนักงานที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับช่องดังกล่าว และไม่มีการอธิบายหลักเกณฑ์ และเหตุผลการพิจารณาเลิกจ้างแต่อย่างใด ทั้งนี้ พนักงานทั้ง 2 ช่องมีประมาณ 122 คน แต่กลับเลิกจ้างพนักงานเกือบ 200 คน

3. ไม่มีมาตรการบรรเทาการเลิกจ้าง ก่อนที่จะมีการเลิกจ้างจริง เพราะการเลิกจ้างพนักงานควรเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะใช้ หลังจากได้ใช้มาตรการบรรเทาการเลิกจ้างแล้ว

4. การจ่ายเงินบางประเภท ไม่ใช้หลักเกณฑ์ที่ถูกต้องและเท่าเทียมกัน ทั้งๆ ที่เป็นการบอกเลิกจ้างพร้อมกัน

ทางกลุ่มยืนยันจะเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรม โดยจะเดินทางเข้าพบ กสทช. เพื่อสอบถามแนวทางหลักเกณฑ์ในการเยียวยา ในวันพุธที่ 7 ส.ค.2562 เวลา 11.30 น. ร่วมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมาธิการด้านคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และ กลต. เพื่อสอบถามความโปร่งใส่ในการดำเนินงานของบริษัทตามหลักธรรมภิบาล ก่อนเดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางในสัปดาห์หน้า เพื่อทวงคืนศักดิ์ศรีความเป็นธรรม และสร้างบรรทัดฐานให้กับวิชาชีพสื่อมวลชนต่อไป รวมทั้งขอเชิญชวนเพื่อนอดีตพนักงานที่คิดว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจากการเลิกจ้างครั้งนี้ เข้าร่วมรับฟังคำชี้แจงจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อรักษาสิทธิ์ที่ควรได้รับตามกฎหมาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: