ไม่พบผลการค้นหา
'บก.ลายจุด' เหน็บ 'บิ๊กตู่' แค่เจ้าพ่อคอสเพลย์ ยื่น กกต.ขอเป็นพยานยืนยันสถานะหัวหน้า คสช.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด หัวหน้าพรรคเกียน แต่งชุดคอสเพลย์ลูกเสือ พร้อมอุ้มหุ่นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เพื่อเสนอตัวเป็นพยานและให้ปากคำกับ กกต. ในการวินิจฉัยสถานะหัวหน้า คสช.ของพล.อ.ประยุทธ์

นายสมบัติ กล่าวว่า ตามที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ทำหนังสือพร้อมคำพิพากษา ในคดีที่นายสมบัติถูกฟ้องข้อหาขัดคำสั่ง คสช. ไม่มารายงานตัว โดยนายสมบัติได้โต้แย้งว่า คสช.ไม่ใช่เจ้าพนักงาน แต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ได้วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ

นายเรืองไกร ได้ชี้ให้เห็นถึงการขาดคุณสมบัติในการถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนตัวจึงเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยในครั้งนี้ จึงมาแสดงตัวเพื่อเป็นพยานและให้ปากคำต่อ กกต.

นายสมบัติ ย้ำว่า การเดินทางมา กกต.ครั้งนี้เพื่อยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่ศาลได้วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานของรัฐ หาก กกต.เชื่อตัวเอง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่หากเชื่อศาล พล.อ.ประยุทธ์ จะมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อยู่ที่ว่า กกต.จะเชื่อใคร ทั้งนี้หาก พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐต้องการพยาน เพื่อโต้แย้งในเรื่องนี้ยินดีเป็นพยานให้

หัวหน้าพรรคเกียน ยังตั้งข้อสังเกตว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาที่พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. อาจมีสถานะเป็นเพียงเจ้าพ่อคอสเพลย์ตัวจริงเท่านั้น

"เรืองไกร" ร้อง กกต.โต้แย้งความเห็นผู้ตรวจการแผ่นดิน

ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ยื่นหนังสือคำร้องต่อประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ขอโต้แย้งความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน และขอยืนยันให้กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามความในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98(15)หรือไม่

โดยการยื่นคำร้องต่อ กกต.ครั้งนี้ ได้แนบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2562 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อใช้หักล้างมติของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมติของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ชี้ว่าหัวหน้า คสช.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ โดยอ้างการเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ต่อไปนั้นไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2562 เพราะอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของพลเอกประยุทธ์มีแค่ 2 เดือน คือวันที่ยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว

ขณะที่หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 นั้น เป็นการใช้อำนาจในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เพราะเมื่อหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แล้วต้องรายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็วด้วย บทบัญญัติมาตรา 44 จึงชัดเจนว่าหัวหน้า คสช.หาได้มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นไว้

นายเรืองไกร ยังตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่น่าจะมีอำนาจนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 มาใช้ตีความตำแหน่งเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐของพลเอกประยุทธ์ เพราะคำวินิจฉัยดังกล่าวบังคับใช้เฉพาะกรณี ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ใช่ผู้ตีความกฎหมายแล้วมีผลเป็นเด็ดขาด แต่ต้องเป็นศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2562 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งนายรังสิมันต์ โรม จำเลยได้ระบุไว้ว่าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. เป็นคณะบุคคลที่ได้อำนาจการปกครองประเทศ โดยการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน หรือทำรัฐประหาร ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้ในทำนองว่า คปค.เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หรือองค์กรที่ใช้อํานาจรัฐ ที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถ ควบคุม ตรวจสอบ หรือจำกัดการใช้อำนาจรัฐได้ จากคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงชัดเจนว่า คปค.เป็นคณะบุคคลที่ถือว่าเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หรือองค์กรที่ใช้อํานาจรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว

ดังนั้นในทำนองเดียวกัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. หรือหัวหน้า คสช. ย่อมเป็นคณะบุคคลหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หรือองค์กรที่ใช้อํานาจรัฐ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ หลังจากที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แล้วเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :