ไม่พบผลการค้นหา
เปิดมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ประจำวันที่ 18 เมษายน 2567 ไฟเขียวโครงการโคแสนล้านนำร่อง ภายใต้กรอบสินเชื่อ ธ.ก.ส. 5,000 ล้านบาท พร้อมรับทราบผลการพิจารณาศึกษา เรื่องการแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง กรอบวงเงินสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 5,000 ล้านบาท ในส่วนอัตราดอกเบี้ยและรายละเอียดอื่นที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามมติ กทบ. ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 โดยรัฐชดเชยต้นทุนทางการเงินให้กับ ธ.ก.ส. ในระยะเวลา 2 ปีอัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี และให้   ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดเชยอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น จำนวน 450 ล้านบาท (ปีละ 225 ล้านบาท) ตามที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) เสนอ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 19 มีนาคม 2567 รองนายกรัฐมนตรี สมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้ลงนามคำสั่งคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติที่ 6/2567 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2567 แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง โดยคณะทำงานฯ ได้พิจารณาแนวทางการดำเนินงาน งบประมาณ และกรอบระยะเวลาในการดำเนินโครงการฯ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ภาครัฐต้องรับภาระชดเชย ตลอดจนความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากการประชุมดังกล่าวมีการปรับรายละเอียดการดำเนินงานโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่องสรุปดังนี้

1. ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส. กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กองทุนหมู่บ้านฯ) สำหรับให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สมาชิกกองทุนฯ) กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงโค จำนวน 100,000 ครัวเรือน (ครัวเรือนละ 50,000 บาท) และรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในอัตราดอกเบี้ย 4.50 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี (ปีละ 225 ล้านบาท รวม 2 ปี 450 ล้านบาท) โดยให้ ธ.ก.ส. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดเชยดอกเบี้ยต่อไป

2. กลุ่มเป้าหมาย กองทุนหมู่บ้านฯ ที่มีประวัติการกู้เงินและชำระเงินดี โดยเคยกู้เงิน ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน หรือธนาคารอื่น ๆ แล้วชำระหนี้ได้

3. วัตถุประสงค์โครงการ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ครัวเรือนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ลดภาระค่าครองชีพให้กับครัวเรือนสมาชิก ยกระดับการผลิตโคเนื้อที่มีคุณภาพสูงสู่ตลาดภายในและต่างประเทศ ส่งเสริมการตลาด ขยายโอกาสทางการค้า เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน สร้างความมั่นคงทางอาหาร และให้สมาชิกเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพการเลี้ยงโคคุณภาพสูง

4. ประเภทสินเชื่อและระยะเวลา เป็นสินเชื่อระยะยาว ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี โดยให้กองทุนหมู่บ้านฯ เป็นตัวแทนยื่นเสนอขอรับสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ในฐานะนิติบุคคลตามแนวทางที่กำหนด โดยให้สมาชิกกองทุนฯ ยื่นความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการกับกองทุนหมู่บ้านฯ จากนั้นกองทุนหมู่บ้านฯ พิจารณาคุณสมบัติของสมาชิกกองทุนฯ ตามระเบียบ ข้อบังคับของกองทุนหมู่บ้านฯ และยื่นขอสินเชื่อโครงการฯ กับ ธ.ก.ส. ในนามกองทุนหมู่บ้านฯ

5. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ยกระดับการผลิตของเกษตรกรรายย่อยและเอกชน ให้สามารถเลี้ยงโคเนื้อเชิงอุตสาหกรรมตอบสนองต่อการบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้เพิ่มลดความยากจนของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ได้อย่างน้อย 120,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี ต่อแม่โค 1 ตัว

6. การติดตามประเมินผล กทบ. สทบ. ธ.ก.ส. กระทรวงพาณิชย์ กรมปศุสัตว์ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องจะติดตามประเมินผลเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาส โดยให้ ธ.ก.ส. รายงานข้อมูลกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ยื่นขอรับการสนับสนุนงบประมาณและผลการอนุมัติงบประมาณของ ธ.ก.ส.

นอกจากนี้มีมติเห็นชอบปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 (เรื่อง การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร) ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ตรงตามเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยไม่กระทบต่อฐานะทางการเงินของ ธ.ก.ส. และมีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน รวมถึงป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ ธ.ก.ส. โดยให้ถือใช้ข้อความตามที่ปรับปรุงแล้ว แทนข้อความเดิมตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กค. รายงานว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 มกราคม 2550) ธ.ก.ส. ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและได้วางกรอบแนวปฏิบัติ เพื่อให้ส่วนงานในพื้นที่ดำเนินการ เรื่อง การงดการดำเนินคดีบังคับคดีและการขายทอดตลาด โดยการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550

ในการชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี การบังคับคดี และการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเกษตรกร มีผลใช้บังคับมาเป็นระยะเวลากว่า 17 ปี โดยสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) และหน่วยงานอื่นที่ได้รับมอบหมายได้ใช้ประโยชน์จากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม และในทางตรงกันข้าม กลับก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอีกหลายประการ 

กค. จึงมีความจำเป็นต้องขอเสนอการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี โดยปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ ธ.ก.ส. สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและยังคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยมีรายละเอียดการขอทบทวนปรับปรุงในครั้งนี้ สรุปได้ดังนี้ 

1. ให้ ธ.ก.ส. สหกรณ์การเกษตร หน่วยงานภายใต้ ธ.ก.ส. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีของเกษตรกร ดำเนินการ ดังนี้

1.1 เรื่องที่ยังมิได้มีการฟ้องร้อง ให้ชะลอการฟ้องร้องไว้ก่อน เว้นแต่กรณีหนี้นั้นจะขาดอายุความฟ้องร้อง หรือไม่สามารถแก้ไขเพื่อมิให้หนี้ขาดอายุความโดยวิธีอื่นใดได้

1.2 เรื่องที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีและคดีถึงที่สุดแล้วให้ชะลอการบังคับคดีไว้ก่อน เว้นแต่กรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลได้และไม่สามารถเจรจาแก้ไขหนี้ร่วมกันกับสถาบันการเงินได้ ให้ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป

1.3 คดีที่มีการบังคับคดีไว้แล้วและจะต้องมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเกษตรกร ให้ชะลอการขายทอดตลาดไว้ก่อน เฉพาะกรณีที่ยังไม่พ้นระยะเวลาบังคับคดีเท่านั้น โดยเมื่อมีการชะลอการขายทอดตลาดแล้วจะต้องมีอายุบังคับคดีคงเหลือไม่น้อยกว่า 3 ปี

ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีของเกษตรกรดังกล่าวข้างต้น สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการปฏิบัติในการดำเนินการตามข้อ 1.1 – 1.3 ข้างต้นได้ โดยพิจารณาถึงสภาพปัญหาของลูกหนี้เกษตรกรแต่ละรายเป็นสำคัญ

รับทราบผลการพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน

ขณะเดียวกันยังมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซปิโตรเลียม) ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอและแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กระทรวงพลังงาน (พน.) ได้สรุปผลการพิจารณาออกเป็น 2 ส่วนคือ “การแก้ไขปัญหาราคาก๊าซ LPG” และ “ภาพรวมในเชิงบริหารของน้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซ LPG” โดยมีรายละเอียดดังนี้ ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการฯ และแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซ LPG ของ พน. โดยมีทั้งสิ้น 4 ข้อดังนี้

1. ควรปรับปรุงการบริหารต้นทุนตามวิธีการผลิตและต้นทุนที่ชัดเจน โดยให้แยกราคาหน้าโรงกลั่น ราคาหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG โดยทาง พน. ได้มีการศึกษาและทบทวนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเผยแพร่ข้อมูลโครงสร้างราคาก๊าซ LPG และหลักเกณฑ์การคำนวณราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG รวมทั้งสำรวจและทบทวนค่าการตลาดที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับการคำนวณราคาจำหน่ายก๊าซ LPG เป็นไปตามกลไกการกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ 

2. ควรใช้หลักเกณฑ์ในการเปิดสถานีบริการและโรงบรรจุก๊าซ LPG เช่นเดียวกับสถานีบริการน้ำมัน เพื่อเพิ่มช่องทางการบริการและการแข่งขัน อันจะเป็นการลดต้นทุนการจัดการและราคาให้กับผู้บริโภค โดยทาง พน. ได้มีการดำเนินงานด้านหลักเกณฑ์ ให้การก่อสร้างสถานีบริการและโรงบรรจุก๊าซ LPG นั้น ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง แต่การลงทุนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ประกอบการ ซึ่งกฎหมายไม่ได้ห้ามการลงทุน

3. ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้โรงบรรจุก๊าซสามารถบรรจุก๊าซในถังบรรจุก๊าซ LPG ที่มี เครื่องหมายการค้าของผู้ค้าน้ำมันอื่นได้ เพื่อความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง โดยทาง พน. ได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ให้ปัจจุบันสามารถดำเนินการได้ โดยผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงของ พน. และต้องคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยของถังบรรจุก๊าซ LPG

4. รัฐควรพิจารณานโยบายการรักษาระดับปริมาณเก็บสำรองก๊าซ LPG ที่ร้อยละ 1 (32,725 ตันต่อเดือน) ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับใช้ในภาคครัวเรือน เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตเองได้ ดังนั้น การกำหนดปริมาณเก็บสำรองมากเกินไปจะส่งผลให้ไม่สามารถนำก๊าซที่มีอยู่ออกมาใช้ได้ และต้องเพิ่มการนำเข้าจากต่างประเทศส่งผลให้มีต้นทุนสูงขึ้น รวมทั้งอาจทำให้ผู้ประกอบการนำไปหากำไรจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยทาง พน. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของอัตราการเก็บสำรองก๊าซ LPG

ในส่วนที่สองคือ ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการฯ ต่อภาพรวมในเชิงบริหารของน้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซ LPG โดยมีทั้งสิ้น 8 ข้อดังนี้

1. เสนอให้จัดตั้งหน่วยงานด้านสารสนเทศเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวม วิเคราะห์และเผยแพร่พลังงานสารสนเทศ

2. มาตรการช่วยเหลือและรักษาเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิงที่ควรมุ่งเน้นช่วยเหลือในกลุ่มที่มีความเปราะบางแทนการช่วยเหลือในภาพรวม

3. การเข้าถึงแหล่งพลังงานของประชาชนในราคาที่เป็นธรรม ดังนั้น การกำหนดราคาต้นทุนของพลังงานที่ผลิตในประเทศควรเป็นต้นทุนที่แท้จริง หรือหากใช้ราคาตลาดโลกในการอ้างอิงควรกำหนดให้ราคาที่ผลิตในประเทศมีราคาที่ต่ำกว่า

4. ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ไม่ซับซ้อน ชัดเจน และเป็นธรรม ลดการแทรกแซงราคา ซึ่งการแทรกแซงราคาส่งผลให้เกิดการบิดเบือนโครงสร้างราคาที่แท้จริง

5. พิจารณาแนวทางในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้การบริหารมีประสิทธิภาพและการใช้เงินกองทุนฯ ต้องเป็นไปเพื่อการรักษาเสถียรภาพราคาอย่างแท้จริง ไม่ควรนำไปใช้ในการแทรกแซงหรืออุดหนุนราคาจนเกิดความผันผวน

6. ทบทวนกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดบนพื้นฐานสถานการณ์ปัจจุบันให้สอดคล้องกับทรัพยากรของประเทศ

7. การจัดหาพลังงานในอนาคตที่ควรเร่งพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติม

8. ควรส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา วิจัยพลังงานและเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น พลังงานไฮโดรเจนจากน้ำเพื่อลดปริมาณการใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคต

โดยทาง พน. ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะแทบทุกข้อ อาทิ การจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติเพื่อเป็นศูนย์กลางสารสนเทศด้านพลังงาน มีการช่วยเหลือราคาเชื้อเพลิงแบบมุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในส่วนของก๊าซปิโตรเลียมเหลวและกลุ่มผู้ประกอบอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้างในส่วนของน้ำมันเบนซิน

ส่วนการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ชดเชยสูงสุดได้ไม่เกินปี พ.ศ. 2569 รวมทั้งการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่และการเจรจาปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย - กัมพูชา และมีมาตรการสนับสนุนการศึกษาวิจัยพลังงานและเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้ไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ในภาคพลังงาน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้นโยบายสังคมคาร์บอนต่ำ และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นอีกด้วย

“เพิ่มเติมจากที่อยู่ในวาระ ครม. ทาง พน. นำโดย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ล่าลุดได้มีประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่องการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2567 ซึ่งได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง

รวมถึงแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล จะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบเช่นเดียวกัน ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้ พน. ทราบถึงต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นจริง ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมและเป็นธรรมให้กับประชาชนต่อไป” รองโฆษกรัดเกล้า เสริม

เว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางระหว่างไทยกับสาธารณรัฐคาซัคสถาน 

ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (18 เมษายน 2567) มีมติให้ความเห็นชอบการจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถาน ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถานมีกำหนดจะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 21-24 เมษายน 2567 โดยทั้งสองประเทศเห็นชอบที่จะจัดให้มีการลงนามความตกลงฯ ในวันที่ 23 เมษายน 2567 เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของทั้งสองฝ่าย

โดยสาระสำคัญของร่างความตกลงฯ เป็นการระบุรายละเอียดและเงื่อนไขของการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาระหว่างไทยและคาซัคสถาน สรุปสาะสำคัญได้ดังนี้

ข้อตกลง – ผู้ถือหนังสือเดินทางที่มีอายุการใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 6 เดือนนับจากวันที่เดินทางเข้าของรัฐภาคี (ไทยและคาซัคสถาน) จะได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับการเดินทางเข้า เดินทางออกจาก เดินทางผ่าน และพำนักอยู่ชั่วคราวในดินแดนของรัฐภาคีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วันนับจากวันที่เดินทางเข้า โดยระยะเวลาพำนักสะสมรวมกันจะต้องไม่เกิน 90 วันภายในแต่ละช่วงเวลา 180 วัน และในกรณีที่มีความประสงค์จะพำนักเกินกว่า 30 วัน จะต้องได้รับการตรวจลงตราตามที่กำหนดไว้ตามกฎหมายและข้อบังคับของรัฐภาคีนั้นๆ

ผลบังคับใช้ – ความตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด และจะมีผลบังคับใช้ใน 30 วันหลังจากวันที่ได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งสุดท้าย ผ่านช่องทางการทูตว่าได้ดำเนินกระบวนการทางกฎหมายภายในที่จำเป็นต่อการบังคับความตกลงฉบับนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว 

การจัดทำความตกลงฯ จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของทั้งสองฝ่าย ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน และเสริมสร้างศักยภาพและรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวม รวมถึงเป็นการช่วยยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในด้านอื่นๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ วิชาการ วัฒนธรรม

อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

ทั้งนี้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ในท้องที่เขตวังทองหลาง เขตบางกะปิ เขตสวนหลวง เขตประเวศ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร และอำเภอบางพลี อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คค. เสนอว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว - สำโรง) ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดย

โดย รฟม. ได้ส่งมอบที่ดินที่ถูกเขตทางทั้งหมดในโครงการรถไฟฟ้าสายสีหลืองฯ เพื่อใช้ในการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว แต่มีที่ดินของเอกชนที่ถูกเวนคืน และ รฟม. ได้วางเงินค่าทดแทนแก่เจ้าของที่ดินแล้วแต่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 33 แปลง รฟม. จึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 เพื่อให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของ รฟม.

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ เป็นการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ในท้องที่เขตวังทองหลาง เขตบางกะปิ เขตสวนหลวง เขตประเวศ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร และอำเภอบางพลี อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ โดยให้ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชบัญญัตินี้ และให้เจ้าหน้าที่เวนคืนเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนภายในระยะเวลา 4 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้