แม้วันนี้สังคมเปลี่ยนไป บทบาทของผู้หญิงยุคใหม่ก็ก้าวออกมาในพื้นที่ผู้ชายมากขึ้น รวมถึงการก้าวออกมาของ “ครัว” พื้นที่ของผู้หญิงสู่ระบบเศรษฐกิจและปากท้อง เจ้าของสูตรอาหารทีเด็ดหลายราย ก็ก้าวออกมาขายอาหาร “สูตรแห่งความห่วงใย” ที่เธอทำให้คนที่เธอรัก ขยายความห่วงใย ทำให้ชุมชนได้ฝากท้องเวลาหิว เพราะนี่คือชุมชนที่โอบรับคนที่เธอรักและครอบครัวหลายครอบครัวไว้ด้วยกัน และนี่คือชีวิตความเป็นจริง ที่เธอต้องมีมูลค่าทางเศรษฐกิจแบบผู้ชาย
ฉันได้ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมเรียนทำขนม เพื่อหารายได้เสริมของ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นกิจกรรมที่ฉันได้มีโอกาสพบแม่บ้านใช้เวลาเรียนทำขนมเพื่อเป็นอาชีพเสริม ฉันรู้ว่านี่คือวิถีชุมชนที่ผู้หญิงได้เข้ามาเรียนรู้ และพวกเธอกำลังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ฉันคุยกับพวกเธอว่า นี่คือหนทางที่เราจะต้องดำรงและยึดมั่นไม่ให้ใครแย่งมันจากเราไปได้ คือ “วิถีเศรษฐกิจชุมชน” ที่ในวันนี้เราถูกการจัดระเบียบ และกลายเป็นเอื้อประโยชน์ให้กับร้านสะดวกซื้อ “ชื่อดัง” ในขณะคนที่เธอรักเติบโตทำงานนอกบ้านเพื่อรับเงินเดือน สิ่งหนึ่งที่เธอต้องทำคือ การรักษาชุมชนให้เป็นชุมชน เกาะเกี่ยวกันด้วยรหัสวิถีชุมชน ต้านกระแสทุนที่แทรกซึมเข้ามาอยู่ในเกือบทุกมุมห้องแถว
ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ แต่เรากลับต้องซื้อข้าวแพงขึ้น จากถุงละ 5 บาทและอิ่มท้อง แต่วันนี้เราต้องซื้อข้าว 15 – 20 บาทต่อถ้วยที่ทานแล้วก็ยังไม่อิ่มท้อง
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การสื่อสารที่เป็นชุมชน เมื่อมีวิถีเศรษฐกิจเข้ามา การค้าขายอย่างธรรมชาติก็คือ “รหัสวิถีชุมชน” และเป็นสิ่งที่ต้องรักษาเอาไว้ เพราะนี่คือพื้นที่ ที่มนุษย์ทุกคนต้องมี
ในช่วงรัฐประหารที่ผ่านมา มีการจัดระเบียบทางเท้า ทำให้การค้าขายรหัสวิถีชุมชน หายไปในจุดที่มีเงินหมุนเวียนมาก หลายคนอาจจะเห็นด้วยเพราะทางเท้าดูเรียบร้อย และสวยงาม แต่หลายท่านก็อาจจะไม่เห็นด้วยกับการจัดระเบียบ ท่ามกลางความคิดเห็นที่สวนทาง ทั้งแง่คิดและการเมือง
ฉันมองเห็นอนาคตของประเทศไทย เมื่อคนเราออกไปทำงานหาเงิน เก็บหอมรอมริบ จะเป็นเงินเท่าไหร่ล่ะ ยิ่งสมัยนี้ เก็บเงินได้ 5 แสนในช่วงบั้นปลายก็เก่งแล้ว และเราจะใช้เงินก้อนสุดท้ายในชีวิตของเรา ด้วยการทำมาหากินเล็ก ๆ น้อยในชุมชนของเรา แต่สิ่งที่เกิดในตอนนี้ เราไม่สามารถคืนกลับสู่ชุมชนเราและทำมาหากินได้ เพราะ “ทุนผูกขาด” ได้ขายทุกอย่างหมดแล้ว
“สังคมไทยกำลังจัดระเบียบให้เราเป็นหนูถีบจักร”
นี่คือพื้นที่ “ผู้หญิง” ที่เป็นเรื่องเล่าของเราทุกคน ไข่พะโล้ ของคุณปู่ แกงเขียวหวานของคุณยาย น้ำพริกกะปิของคุณแม่ ประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เป็นตัวหนังสือ แต่เป็นประวัติศาสตร์ของความอิ่มท้องของพวกเราทุกคน