ไม่พบผลการค้นหา
‘ก้าวไกล’ กังขา ป.ป.ช. ด่วนตัดชื่อ ‘ไตรรงค์’ ไม่กล่าวหาคดีมันเส้น จงใจละเว้นหน้าที่หรือไม่ ดักทาง อย่าซ้ำรอยคดีไม้ล้างป่าช้า GT-200 เล่นงานแค่ผู้ปฏิบัติงาน แต่ปล่อยผู้มีอำนาจ ย้ำความจำเป็นเปลี่ยนที่มา ป.ป.ช. ให้ยึดโยงประชาชน

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2565 จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เลื่อนพิจารณาชี้มูลคดีการระบายมันสำปะหลังในสต็อกรัฐบาล หรือ “คดีมันเส้น” โดยยังไม่มีมติชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหารายใด จากรายงานข่าวระบุว่าประเด็นที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ คือการพิจารณาสำนวนกรณีกล่าวหาไตรรงค์ สุวรรณคีรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายมันสําปะหลัง เนื่องจากกรรมการ ป.ป.ช. บางรายทักท้วงว่าในขั้นตอนการไต่สวน ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาไตรรงค์ แต่กลับแจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องระดับสูงสุดแค่ปลัดกระทรวงเท่านั้น โดย ป.ป.ช. เลื่อนการลงมติชี้มูลออกไปเป็นวันที่ 19 ธันวาคม 2565

จิรัฏฐ์กล่าวว่า การตัดผู้ต้องสงสัยออกด้วยการไม่กล่าวหาความผิดนั้น ไม่เป็นคุณแต่อาจเป็นโทษ เพราะการไม่กล่าวหา เป็นการสรุปไปก่อนการไต่สวนจริงแล้วว่าบุคคลนั้นบริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจจนนำไปสู่การทุจริตและสร้างความเสียหายแก่ประเทศ ไม่มีความจำเป็นต้องรีบตัดความเป็นไปได้นี้ออก อีกทั้งการกล่าวหาความผิด หรือแม้แต่การชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้ถือเป็นที่สิ้นสุด ยังมีกระบวนการต่อสู้คดีในชั้นอัยการและชั้นศาลอีกนาน กว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

“การประชุมในวันที่ 19 ธ.ค. นี้ หาก ป.ป.ช. เลือกที่จะละเว้นการเรียกไต่สวน ชี้มูล และกล่าวหาไตรรงค์ ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการนโยบายมันสําปะหลังในขณะเกิดการทุจริตนั้น จะถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ให้รับโทษทางวินัยหรือทางอาญาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และกระทำฐานจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 25 รวมถึงการจงใจไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ข้อที่ 13 หรือไม่” จิรัฏฐ์กล่าว

จิรัฏฐ์กล่าวต่อว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องไม่ทำให้เรื่องนี้ซ้ำรอยคดีทุจริตจัดซื้อ GT200 ที่ ป.ป.ช. ใช้เวลากว่า 10 ปีสืบหาความจริง แต่กลับได้ข้อสรุปสั้น ๆ เพียงว่าความเสียหายจากการทุจริตจัดซื้อ GT200 เกิดจากความประมาทของเจ้าหน้าที่เท่านั้น โดยเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ป.ป.ช. ปิดคดีทุจริตจัดซื้อ GT200 โดยมีมติชี้มูลความผิดทั้งหมดให้แก่เจ้าหน้าที่ในระดับผู้ปฏิบัติงานไม่กี่คน ทั้งที่บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ในขณะที่กระบวนการพิจารณาไม่มีการเรียกไต่สวนหรือกล่าวหา พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนาธิการทหารบกในขณะนั้น ในฐานะผู้ลงนามอนุมัติหลักการ และอนุมัติจัดซื้อ GT200 เกือบทั้งหมด ทั้งที่ลายมือลงนามอนุมัติสั่งซื้อของทั้ง 3 คน ปรากฏชัดเจนอยู่ในเอกสารหลักฐานการจัดซื้อ GT200 ที่ ป.ป.ช. ใช้ในการพิจารณาไต่สวนตลอดกว่า 10 ปี แต่เมื่อมีมติชี้มูลความผิด ป.ป.ช. กลับไม่เอ่ยชื่อคนอนุมัติสั่งซื้อทั้ง 3 เลยแม้แต่คำเดียวในเอกสารสำนวนหลายร้อยหน้า

“การประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ หากผลเป็นไปตามแนวโน้มที่เกิดขึ้นจริง จะเกิดคำถามตัวโต ๆในสังคมว่า การที่ไตรรงค์ สุวรรณคีรี รอดจากการถูก คณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหาและไต่สวนคดีมันเส้นครั้งนี้ เป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งจะลงนามในคำสั่งแต่งตั้งนายไตรรงค์ให้มาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ใช่หรือไม่” จิรัฏฐ์กล่าว

จิรัฏฐ์กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเห็นปัญหาการทำงานของ ป.ป.ช. ในรูปแบบปัจจุบัน ที่กรรมการทุกคนถูกรับรองโดย ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยถึงความเป็นกลางและมาตรฐานในการทำงาน เราจึงเสนอนโยบายปรับกระบวนการสรรหา ให้กรรมการ ป.ป.ช. 9 คน มีที่มาที่หลากหลาย ยึดโยงประชาชน และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ผ่านการเสนอชื่อจากทั้งผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล ผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน และจากที่ประชุมศาล โดยทุกคนที่จะรับตำแหน่ง ต้องผ่านการรับรองโดยเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงเพิ่มกลไกในรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนริเริ่มกระบวนการถอดถอน ป.ป.ช. ได้ ผ่านการเข้าชื่อ 20,000 รายชื่อ คล้ายกับกลไกที่เคยมีในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่า ป.ป.ช. จะทำงานอย่างเข้มข้นในการตรวจสอบทุกรัฐบาล ทุกหน่วยงาน ทุกบุคคล อย่างไร้ข้อยกเว้น