ไม่พบผลการค้นหา
นักโบราณคดีสรุปผลการขุดสุสานทางเหนือของเปรู เก่าแก่กว่า 500 ปี คาดเป็นหลุมศพหมู่ของเด็กที่ถูกฆ่าเพื่อบูชายัญ หลังพบโครงกระดูกถูกผ่าอก-ซี่โครงผิดรูป ซึ่งอาจเกิดจากการควักหัวใจออกมา

กาเบรียล ปรีเอโต นักโบราณคดีชาวเปรู และนายจอห์น เวราโน นักโบราณคดีชาวอเมริกัน ร่วมกันแถลงรายงานสรุปผลการขุดสุสานในเมืองลามาส ทางเหนือของประเทศเปรู ซึ่งถูกค้นพบตั้งแต่ปี 2554 และได้ดำเนินการตรวจสอบและขุดค้นเพิ่มเติมในปี 2559 พบว่า สุสานดังกล่าวมีขนาดประมาณ 7,500 ตารางเมตร อายุเก่าแก่ประมาณ 500-600 ปี และเกิดขึ้นในยุคที่อารยธรรมโบราณ 'ชิมู' กำลังรุ่งเรือง

ปรีเอโตระบุว่า โครงกระดูกมนุษย์ทั้ง 140 ศพที่พบในสุสานดังกล่าวเป็นของเด็กอายุประมาณ 4-16 ปี ซึ่งคาดว่าจะถูกฆ่าเพื่อบูชายัญ เพราะสภาพโครงกระดูกบ่งชี้ว่าเด็กทั้งหมดถูกผ่าและแหวกหน้าอกจนทำให้ซี่โครงผิดรูป ทั้งยังเป็นการผ่าในครั้งเดียวโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งน่าจะทำเพื่อควักหัวใจออกมา

ในสุสานดังกล่าวมีโครงกระดูกตัวลามะอีกกว่า 200 ตัว เชือกจูง และภาชนะรวมอยู่ด้วย ทำให้สันนิษฐานว่าอาจเกิดภัยธรรมชาติร้ายแรงจนนำไปสู่การบูชายัญครั้งใหญ่ เพราะถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการขุดพบสุสานเหยื่อบูชายัญในแถบทวีปอเมริกามาก่อนแล้ว แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่พบเหยื่อบูชายัญรวมอยู่ในหลุมเดียวกันมากเท่าหลุมที่พบในเมืองลามาส และไม่เคยพบเหยื่อบูชายัญเด็กจำนวนมากขนาดนี้ด้วย

'บูชายัญ' การต่อรองระหว่างอำนาจปกครองและพลังเหนือธรรมชาติ

จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าการสังหารหมู่บูชายัญเด็กพร้อมกันทั้ง 140 คน เกิดขึ้นราว ค.ศ.1400-1450 ก่อนที่อารยธรรมอินคาจะเริ่มแผ่ขยายและทำให้อารยธรรมชิมูล่มสลายไป และในยุคดังกล่าว การบูชายัญเป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เพื่อรักษาอำนาจในการปกครองของผู้นำในยุคนั้น

ฮาเกน เคลาส์ นักมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยจอร์จเมสัน เปิดเผยกับ National Geographic ว่าการบูชายัญผู้ใหญ่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไปในยุคสมัยโบราณ แต่การบูชายัญเด็กจำนวนมากภายในครั้งเดียวเหมือนที่พบในเมืองลามาส ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงมีการบูชายัญเช่นนั้นเกิดขึ้น 

ข้อสันนิษฐานที่นักโบราณคดีคิดว่าน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือ 'ภัยธรรมชาติ' อาจทวีความรุนแรงจนการบูชายัญผู้ใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ 'ไม่เพียงพอ' ต่อการแก้ปัญหา และในยุคโบราณมีความเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ จึงต้องมีการเสียสละสิ่งที่รักหรือสิ่งที่พิเศษยิ่งกว่าการบูชายัญในรูปแบบเดิม โดยเมื่อสังเกตจากผืนดินบริเวณสุสาน พบรอยเท้าหลงเหลืออยู่ บ่งชี้ว่าผืนดินในช่วงเกิดเหตุนั้นอ่อนนุ่มคล้ายดินเหนียว จึงอาจเป็นไปได้ว่าในช่วงเกิดเหตุมีฝนตกกระหน่ำไม่หยุด 

ส่วนโครงกระดูกที่พบในสุสานบ่งชี้ว่า เหยื่อบูชายัญถูกนำตัวมาจากพื้นที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งผู้ที่มาจากที่ราบสูงและบริเวณริมทะเล แต่ทั้งหมดมีสุขภาพแข็งแรง และขณะประกอบพิธีไม่มีร่องรอยของการขัดขืนหรือพยายามหลบหนี ต่างจากรอยเท้าของตัวลามะที่ถูกฆ่าเพื่อบูชายัญในคราวเดียวกัน มีทั้งร่องรอยเชือกและรอยย่ำที่แสดงให้เห็นว่าผู้ลากจูงลามะต้องใช้แรงอย่างมากเพื่อนำสัตว์เข้าสู่พิธีเชือดบูชายัญ

ขณะที่เว็บไซต์ด้านวิทยาศาสตร์ Live Science รวมถึง NPR รายงานเพิ่มเติมว่า โครงกระดูกของเหยื่อทั้งหมดถูกจัดวางในลักษณะที่ศีรษะหันไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นทิศของทะเล จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้ปกครองอาณาจักรชิมูในยุคนั้นต้องการจะบวงสรวงเทพเจ้าแห่งน้ำหรือทะเล และภัยธรรมชาติที่คุกคามผู้คนในยุคโบราณอาจไม่ใช่ฝนกระหน่ำ แต่อาจรวมถึงภัยจากทะเล เช่น 'สึนามิ' 

ที่มา: National Geographic/ Live Science / NPR

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: