ไม่พบผลการค้นหา
กระเทียมเถื่อนจากจีนถูกลักลอบนำเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ไทยอยู่ในฤดูฝน โดยมีราคาถูกกว่าในประเทศ ทำให้มีการลักลอบขนเข้ามาขายในไทย ขณะที่ภายในประเทศผลิตไม่เพียงพอกับการบริโภค เนื่องจากในช่วงฤดูฝนปลูกกระเทียมไม่ได้

นายบุญเสริม สุขภิญโญ หัวหน้ากลุ่มพืช ผัก สมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์ลักลอบขนกระเทียมเถื่อน ว่า มีสองสาเหตุสำคัญ คือ 1.ปริมาณการผลิตในประเทศไทยไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค แต่ละปีสามารถผลิตได้ 60,000-70,000 ตัน ขณะที่ความต้องการบริโภคอยู่ที่ 120,000 ตันต่อปี สาเหตุที่ผลิตได้เท่านี้ เนื่องจากสภาพอากาศและสภาพพื้นที่ไทยปลูกได้ในจังหวัดภาคเหนือและอีสาน 6-7 จังหวัด

2.กระเทียมจากต่างประเทศมีราคาถูกกว่ากระเทียมในประเทศไทย โดยกระเทียมที่ลักลอบนำเข้ามาส่วนใหญ่มาจากประเทศจีนถึงร้อยละ 90 เนื่องจากจีนราคาต้นทุนประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่กระเทียมไทยอยู่ที่ 40-50 บาทต่อกิโลกรัม

นายบุญเสริม กล่าวว่า กระเทียมจีนที่ลักลอบเข้ามาจะมาช่วงหน้าฝน ซึ่งเป็นช่วงที่บ้านเราปลูกกระเทียมเองไม่ได้ แม้ว่าจะเปิดนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV โดยไม่มีภาษี แต่เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านภูมิประเทศมีความใกล้เคียงกัน ผลผลิตจึงไม่มีในช่วงหน้าฝนเช่นกัน จึงเป็นช่องให้กลุ่มคนลักลอบนำกระเทียมจากจีนเข้ามา เพื่อแย่งตลาดกระเทียมไทย เพราะถูกกว่ามาก หากเสี่ยงลักลอบเข้ามาได้จะได้กำไรมากคุ้มค่ากับการเสี่ยง

"ถามว่าทำไมเรารู้ว่ากระเทียมที่เข้ามาจากทางชายแดนประเทศเพื่อนบ้านคือกระเทียมจากจีน เพราะเพื่อนบ้านเรา ไม่มีผลผลิตออกมาช่วงนี้ แต่ที่จีนมีบางพื้นที่ที่ปลูกกระเทียมได้ ซึ่งกระเทียมจีนจะมีเปลือกแข็งกว่าประเทศในภูมิภาคนี้ เพราะคนละสายพันธุ์" นายบุญเสริม กล่าว

นายบุญเสริม กล่าวว่า การแก้ปัญหากระเทียมเถื่อน ได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และศุลกากรเข้างวดในการตรวจสอบตามด่านต่างๆ เมื่อพบจะประเมินภาษีร้อยละ 57 ต่อกิโลกรัม จะทำให้กระเทียมมีราคาใกล้เคียงกับของในประเทศไทย แต่การจับกุมทำได้ยาก เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มาเป็นกองทัพมด ทำทุกวัน วันละหลายๆ คันรถยนต์ เมื่อรู้ว่าด่านนี้ตรวจเข้ม จะหลบไปด่านอื่น ทำให้มีเล็ดลอดเข้ามาในประเทศได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด่านมุกดาหารสามารถจับกุมการลักลอบหนีศุลกากร โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ประกอบด้วย กระเทียม หัวหอมใหญ่ ข้าวสาร-ข้าวเปลือก ระหว่างเดือน ต.ค. 2560 - ก.ค. 2561 จำนวน 59 คดี มูลค่า 3,975,067 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง