นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 22 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้เริ่มการก่อสร้างในเฟสแรก ตั้งแต่สถานนีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ในวันที่ 21 ธันวาคมนี้
โดยหลังจากนี้ ทางจีน จะนำมติดังกล่าวเสนอผู้บริหารของประเทศ ส่วนไทยจะนำเสนอ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานด้วย
ส่วนการก่อสร้างโครงการ เฟส 2-4 คือ ช่วงปากช่อง-คลองขนานจิตร 11 กิโลเมตร แก่งคอย-นครราชสีมา 119.5 กิโลเมตร และ ช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย 119.5 กิโลเมตร และจะแบ่งสัญญาการก่อสร้างเป็น 14 สัญญา โดยจะมีการจัดลำดับความสำคัญในเรื่องของการออกแบบและเริ่มต้นก่อสร้างให้ต่อเนื่อง ตั้งแต่กรุงเทพฯ เป็นต้นไป ซึ่งอาจดำเนินการก่อสร้าง ช่วงกรุงเทพฯ - พระนครศรีอยุธยา เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ก่อน เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มประมูลได้ ในเดือนมีนาคม 2561 และน่าจะใช้เวลาก่อสร้าง ประมาณ 2-3 ปี
ส่วนสัญญา 2.3 ระบบอาณัติสัญญา ระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งการจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากรนั้น กระทรวงคมนาคม จะเร่งหารือรายละเอียดกับฝ่ายจีน เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนมีนาคม 2561 หลังจากลงนามสัญญาที่ 2.1 งานออกแบบ และ 2.2 งานโยธาเรียบร้อยแล้ว
ส่วนการก่อสร้าง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ไทยจะดำเนินการเอง ทั้งการศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าด้านการลงทุน และการออกแบบรายละเอียด โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีจีนเป็นที่ปรึกษาในการพิจารณา
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้ฝ่ายจีนส่ง ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันรถไฟความเร็วสูงมาทำงานร่วมกับกระทรวงคมนาคมในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อจัดทำแผนถ่ายทอดเทคโนโลยี ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1.การส่งบุคลากรไปศึกษาตั้งแต่ระดับอาชีวศึกษา ถึงระดับอุดมศึกษา 2.การจัดหลักสูตรฝึกอบรม��ทคนิควิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง และ 3.การฝึกปฏิบัติจริง ทั้งการขับรถ และการบำรุงรักษา
ส่วนการเชื่อมต่อสถานีหนองคาย - สถานีเวียงจันทน์ ของลาว เพื่อรถไฟความเร็วสูงทั้ง 3 ประเทศเชื่อมต่อกันได้ ฝ่ายจีนรับไปดำเนินการศึกษาและออกแบบรายละเอียด โดยจะหารือร่วมกัน 3 ประเทศ คือ ไทย จีน และลาว อีกครั้ง
รายงานโดย ทัศน์ศรันย์ ชีพวรรณ