ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลพยายามผลักดันที่จะก่อสร้างโครงการทางเลียบสองฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา งบประมาณกว่า 14,000 ล้านบาท โดยทำเป็นทางคอนกรีตขนาดใหญ่ ยาวเป็น 14 กม. ซึ่งโครงการดังกล่าวไม่เพียงแต่กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และหลักมนุษยธรรม แต่ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จากการที่รัฐบาลทำการศึกษา โดยทำแบบก่อสร้างเพียงแค่ฉบับเดียวนั้น นับว่าขาดการวิเคราะห์และตัดทางเลือกของประชาชนโดยสิ้นเชิง เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาเปรียบเสมือนเป็นแม่น้ำสายหลักของคนไทยที่พักอาศัยใน กทม. ซึ่งมีคุณประโยชน์มากมาย ทั้งอยู่อาศัย ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และการสัญจรทางน้ำ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้อย่างมากมายมหาศาล
ดังนั้น การสร้างถนนคร่อมแม่น้ำ จึงเป็นการทำลายเจ้าพระยาทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือ โครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่จะขวางทางน้ำ ส่งผลให้ลำน้ำแคบลง เกิดน้ำท่วมได้ง่าย กระแสน้ำอาจจะเปลี่ยนทิศและไหลเชี่ยวกราก ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางเรือได้ง่าย พร้อมทั้งยังกัดเซาะตลิ่ง และกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวจะพัดพาตะกอนมากมายทำให้แม่น้ำตื้นเขินมากขึ้น และสุดท้ายจะกลายเป็นที่ดักขยะ ทำลายคุณภาพน้ำและระบบนิเวศ ส่งผลกระทบกลับมาให้ประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้ประโยชน์ที่ดิน 17 เขต โดยพื้นที่ทั้งหมดแบ่งเป็น พื้นที่ชุมชน 66.81 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ราชการ 13.68 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่โรงงาน 12.75 เปอร์เซ็นต์ และยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่นอีก เช่น ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วยสถานศึกษา 204 แห่ง โบราณสถาน 57 แห่ง โรงแรม 66 แห่ง แหล่งท่องเที่ยว 84 แห่ง และสวนสาธารณะ 16 แห่ง
และยังส่งผลไปถึงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย เช่นกัน โดยมี สถานศึกษา ศาสนสถาน และสถานพยาบาล 318 แห่ง และโบราณสถาน 111 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบในเชิงกว้าง ดังนั้น รัฐจึงควรที่จะหันมาพัฒนาระบบนิเวศน์วิทยาในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม โดยขยายลุ่มน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม และจัดทำนโยบายพัฒนาการท่องเที่ยวบริเวณแม่น้ำเชิงบูรณาการ
นอกจากนี้ ควรเปิดเผยข้อมูลต่อสังคมให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงผลดีและผลเสีย ที่จะตามมาจากการทำโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพิจารณาและวิเคราะห์อย่างรอบคอบละเอียดถี่ถ้วนและให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น ซึ่งหากรัฐบาลดึงดันที่จะใช้งบประมาณจำนวนมากซึ่งมาจากภาษีของประชาชน จะได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: