ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารโลกเปิดรายงาน 'การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ' ครั้งแรกในไทย ชี้ LGBTI เกือบครึ่งไม่รู้ว่าประเทศไทยมีกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศมา 3 ปีแล้ว พบการถูกเลือกปฏิบัติในตลาดแรงงาน-การรับบริการจากรัฐ ขณะที่ 'กลุ่มทรานส์เจนเดอร์' ถูกกีดกันจากตลาดอสังหาฯ และถูกปฏิเสธรับเข้าทำงานมากกว่าเกย์-เลสเบี้ยน

ธนาคารโลกเปิดรายงานเรื่อง 'การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTI ในประเทศไทย' ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการสำรวจและรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณที่ใหญ่ที่สุด เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ผ่านการตอบแบบสำรวจออนไลน์ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 3,502 คน ซึ่งอยู่อาศัยในประเทศไทย แบ่งเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTI (เลสเบี้ยน, เกย์, ไบเซ็กชวล, ทรานส์เจนเดอร์ และอินเตอร์เซ็กส์) 2,302 ราย และคนที่ไม่ใช่ LGBTI อีก 1,200 ราย

นายคลิฟตัน คอร์เท็ซ ที่ปรึกษาระดับโลก ด้านเพศและเพศสภาพ (Sexual Orientation and Gender Identity) ธนาคารโลก เปิดเผยว่า รายงานฉบับนี้ เป็นการศึกษาวิจัยที่มุ่งเน้นกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง โอกาส การมีส่วนร่วม และการเลือกปฏิบัติ การถูกกีดกันต่างๆ โดยวัดผลและบันทึกผลการถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งในตลาดแรงงาน ธุรกิจประกันภัยประกันชีวิต อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และการเงิน รวมถึงการเข้าถึงบริการด้านการศึกษาและสุขภาพอนามัย

โดยมีข้อค้นพบ 5 เรื่อง ได้แก่

หนึ่ง : ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติและกีดกันบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยกลุ่ม LGBTI ร้อยละ 51 และคนที่ไม่ใช่ LGBTI อีกร้อยละ 69 ระบุว่า ไม่ทราบเรื่องที่ประเทศไทยมีกฎหมายดังกล่าว ทั้งที่ประเทศไทยประกาศใช้ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 มาได้ เกือบ 3 ปีแล้ว 

สอง : การเลือกปฏิบัติที่ร้ายแรงที่สุดกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เกิดขึ้นในตลาดแรงงาน โดยพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่ถูกปฏิเสธงานมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มคนข้ามเพศ (ทรานส์เจนเดอร์) มากถึงร้อยละ 77 รองลงมาคือ กลุ่มเลสเบี้ยน ร้อยละ 62.5 และกลุ่มเกย์ ร้อยละ 49 อีกทั้งกลุ่มทรานส์เจนเดอร์ที่ตอบแบบสำรวจร้อยละ 40 ยังระบุว่า ถูกละเมิดทางเพศหรือล้อเลียนในที่ทำงานมากที่สุด ขณะที่เกย์ร้อยละ 22.7 ระบุว่า จะไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเนื่องจากเป็นบุคคลหลากหลายทางเพศ อีกทั้ง LGBTI ร้อยละ 24.5 ยังถูกห้ามเปิดเผยตัวตน ร้อยละ 23.7 ยังต้องใช้ห้องน้ำตามเพศเกิด และทรานส์เจนเดอร์ร้อยละ 60 เผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม การเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับงาน และในแวดวงการทำงานมีลักษณะแตกต่างกันไปตามอาชีพและภาคเศรษฐกิจ และกลุ่ม LGBTI ไม่สามารถเข้าถึงอาชีพบางอย่าง เช่น ตำรวจ กองทัพ สถาบันเกี่ยวกับศาสนา 

แต่ในทางตรงข้าม พวกเขาสามารถเข้าไปทำงานได้ง่ายมากในภาคเกษตร ธุรกิจค้าปลีก ความงามและสุขภาพ ซึ่งบ่งชี้เรื่องการแบ่งแยกกีดกันทางอาชีพด้วยเหตุแห่งวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งจำกัดความก้าวหน้าทางอาชีพของบุคคลกลุ่มนี้ในตลาดแรงงาน

LGBTI.jpg

สาม : LGBTI ต้องเผชิญอุปสรรคการเข้าถึงบริการของรัฐ เช่น การขอออกบัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทางหรือเอกสารประจำตัวสำคัญอื่นๆ ที่สำคัญคือ เกย์ร้อยละ 40.6 เลสเบี้ยนร้อยละ 36.4 และกลุ่มคนข้ามเพศร้อยละ 46.9 ที่ตอบแบบสำรวจ ต่างระบุว่าพวกเขาไม่ได้รับบริการที่แสวงหาจากรัฐ และครึ่งหนึ่งระบุว่า ได้รับการปฏิบัติแบบไม่ให้เกียรติ เมื่อไปขอใช้บริการจากรัฐ และมากกว่าร้อยละ 30 โดนคุกคามล้อเลียนและถูกบังคับให้ทำตามข้อบังคับเพิ่มเติม มากกว่าประชาชนทั่วไปที่ไปใช้บริการรัฐ อีกทั้งส่วนใหญ่ประสบความทุกข์ยากด้านการเงิน อารมณ์ เรื่องส่วนตัวและกฎหมาย เพราะถูกเลือกปฏิบัติเมื่อต้องไปใช้บริการภาครัฐ 

สี่ : กลุ่มทรานส์เจนเดอร์ร้อยละ 60 ระบุว่า พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติในการทำงาน มากกว่ากลุ่มเลสเบี้ยนที่มีร้อยละ 29 กลุ่มเกย์ ร้อยละ 19 และยิ่งชัดเจนเมื่อใช้บริการภาครัฐทุกประเภทตั้งแต่การศึกษา ฝึกอบรม การทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ การใช้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่คนข้ามเพศ หรือ ทรานส์เจนเดอร์ประสบอุปสรรคมากกว่าเกย์และเลสเบี้ยน มีเพียงการเข้าถึงสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เท่านั้นที่กลุ่มเลสเบี้ยนที่มีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติมากที่สุด เมื่อเทียบกับทรานส์เจนเดอร์และเกย์ 

ห้า : คนที่ไม่ใช่ LGBTI เชื่อว่า การเลือกปฏิบัติบางรูปแบบต่อกลุ่ม LGBTI เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ โดยพบว่า ร้อยละ 37.4 ระบุว่า ยอมรับได้หากว่าผู้จ้างงานเลือกปฏิบัติต่อ LGBTI และร้อยละ 48 ระบุว่า สมเหตุสมผลที่ LGBTI จะถูกเลือกปฏิบัติบางอย่างเมื่อเข้าใช้บริการรัฐ 

ชงแก้ไข พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ปิดช่อง 'เลือกปฏิบัติ'

อังคณา นีละไพจิตร-LGBTI.jpg

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า รายงานนี้ช่วยให้เห็นประเด็นจากกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่จะทำอย่างไรให้มีการรับประกันว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศจะได้รับการคุ้มครอง ให้สังคมได้ตระหนักถึงความเสมอภาคในการจ้างงาน ให้ความสำคัญกับการสร้างสุขอนามัยวัยเจริญพันธุ์ และสร้างความเท่าเทียม มีสิทธิตามกฎหมาย 

เมื่อสิ่งที่พบในรายงานของธนาคารโลกฉบับนี้คือ คนที่ไม่ใช่ LGBTI จำนวนมากยอมรับที่จะมีการเลือกปฏิบัติกับคน LGBTI ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดการปฏิบัติตามปฏิณญาสากลและทุกคนได้รับการปฏิบัติโดยข้ามอุปสรรคทางเพศไปได้ 

รวมทั้ง การแก้ไข พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 มาตรา 17 (2) ซึ่งควรต้องมีการตัดคำว่า 'เลือกปฏิบัติ' ที่สงวนไว้สำหรับเรื่องทางศาสนา ความปลอดภัย และความมั่นคงออกไปด้วย 

LGBTI.jpg

นายอูลนิค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย มาเลเซีย และความร่วมมือในภูมิภาค ระบุว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่ทัศนคติต่อ LGBTI ในสังคม ซึ่งจำเป็นต้องสร้างระบบความคิดในการอยู่ร่วมกับตั้งแต่ยังเด็ก ยิ่งในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องใช้สื่อ ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการรณรงค์ส่งเสริมสร้างความเข้าใจว่า กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นส่วนผสมของสังคมเช่นกัน 

นางสาวภมรรัตน์ ตันสงวนวงษ์ เจ้าหน้าที่อาวุโส ด้านการพัฒนาสังคม ธนาคารโลก ระบุว่า ที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ทำงานร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงยุติธรรมเข้าไปทำโปรแกรมฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่อง LGBTI เพื่อให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้เข้าใจและปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศบนฐานของความเสมอภาคและไม่เลือกปฏบัติ ซึ่งผลจากการฝึกอบรม หวังว่าจะทำให้เจ้าหน้าที่มีการปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้ด้วยความเข้าใจมากขึ้น