ไม่พบผลการค้นหา
แม้จะมีการประกาศว่าเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ก้าวเข้าสู่ 'ยุคสมัยแห่งสันติภาพ' ในการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีทั้ง 2 ชาติเมื่อวานนี้ แต่ทั่วโลกยังมีทั้งข้อสงสัยและความคาดหวังต่อกระบวนการสันติภาพว่าจะ 'เป็นจริง' ได้เพียงใด

ปฏิญญาพันมุนจอม หรือ Panmunjom Declaration ถูกลงนามรับรองโดยนายมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ และนายคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ ที่พันมุนจอม พื้นที่รักษาความปลอดภัยร่วมกันในเขตปลอดทหารระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ หลังสิ้นสุดการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลี 2 ชาติ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 11 ปี เมื่อวานนี้ (27 เม.ย.)

ผู้นำหลายประเทศทั่วโลก ทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรป (EU) รวมถึงเลขาธิการสหประชาชาติ (UN) แสดงความยินดีกันถ้วนหน้า เพราะปฏิญญาดังกล่าวเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะนำไปสู่การเจรจาสันติภาพและการยุติสงครามระหว่างเกาหลีทั้งสองประเทศอย่างเป็นทางการ

เขตปลอดทหาร เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ รวมชาติเกาหลี พันมุนจอม คิมจองอึน มุนแจอิน

(คิมจองอึนและมุนแจอิน พร้อมด้วยภริยาของทั้งคู่ พบกันครั้งแรกระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำเมื่อ 27 เม.ย.)

ก่อนหน้านี้ คาบสมุทรเกาหลีทวีความตึงเครียดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่คิมจองอึนเข้ารับตำแหน่งผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือเมื่อปี 2554 และมีการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีหลายครั้ง ทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ลงมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนืออีกหลายครั้ง แต่ผู้นำเกาหลีเหนือก็เลือกตอบโต้ด้วยวิธีแข็งกร้าวตลอดมา

จนกระทั่ง 'มุนแจอิน' ชนะเลือกตั้งเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว ทำให้การเจรจาเพื่อหาทางยุติความขัดแย้งระหว่างเกาหลีทั้ง 2 ประเทศมีความคืบหน้า เพราะเขาสนับสนุนให้ใช้แนวทางการทูตมากกว่าการทหาร ต่างจากสมัยของนางสาวปักกึนเฮ อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนก่อนหน้า

เป้าหมายสำคัญ 'รวมชาติเกาหลี'

สื่อเกาหลีใต้จำนวนมากรายงานเกาะติดการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีทั้งสองประเทศเมื่อวานนี้ โดยโคเรียไทม์ชี้ว่า การพบกันของคิมจองอึนและมุนแจอิน เป็นการ 'สร้างประวัติศาสตร์บทใหม่ร่วมกัน' ขณะที่หนังสือพิมพ์จุงอังเดลี่เสนอรายละเอียดข้อตกลงและความร่วมมือในปฏิญญาพันมุนจอม ซึ่งมีประเด็นสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ 1. การฟื้นฟูความสัมพันธ์ของประชาชนสายเลือดเดียวกัน 2. การลดความตึงเครียดทางทหารและกำจัดภัยสงคราม และ 3. การร่วมมือผลักดันให้เกิดสันติภาพถาวรในคาบสมุทรเกาหลี

รวมชาติเกาหลี เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้

(ชาวเกาหลีใต้ที่สนับสนุนกระบวนการสันติภาพรวมตัวที่กรุงโซล ก่อนถึงวันประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลี 2 ฝ่าย)

หนังสือพิมพ์จุงอังตั้งข้อสังเกตว่า รายละเอียดในประเด็น 'ฟื้นฟูความสัมพันธ์' และ 'การกำจัดภัยสงคราม' (ข้อ 1-2) มีแนวทางปฏิบัติค่อนข้างชัดเจน เพราะเป็นการสานต่อความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายที่เคยเห็นชอบร่วมกันในการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นในปี 2550 โดยนายคิมจองอิล อดีตผู้นำเกาหลีเหนือซึ่งเป็นบิดาของคิมจองอึน และนายโนห์มูฮยอน อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในสมัยนั้น เป็นผู้ร่วมลงนาม 

สิ่งที่เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เห็นชอบว่าจะดำเนินการร่วมกันครั้งใหม่นี้ ได้แก่ การพิจารณาฟื้นฟูเขตเศรษฐกิจร่วม 'เกซงซิตี้' ในฝั่งเกาหลีเหนือ การจัดวันรวมญาติให้ครอบครัวที่พลัดพรากจากกันไปเพราะการแบ่งแยกประเทศได้กลับมาพบกันทุกวันที่ 15 ส.ค.ของทุกปี การเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมทั้งสองประเทศ ทั้งทางรถไฟและทางรถยนต์ รวมถึงการลดกิจกรรมที่เป็นปรปักษ์และการยั่วยุทางทหารตามแนวชายแดน สอดคล้องกับที่เกาหลีใต้สั่งปิดเครื่องกระจายเสียงบริเวณชายแดนที่เคยเผยแพร่ข้อมูลโจมตีรัฐบาลเกาหลีเหนือไปเมื่อสัปดาห์ก่อน 

ส่วนประเด็นสำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่เป้าหมาย 'การรวมชาติ' เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ให้เป็นหนึ่งเดียวกันในอนาคต คือ การผลักดันให้รัฐบาลทั้งสองประเทศประกาศสิ้นสุดภาวะสงครามอย่างเป็นทางการภายในสิ้นปี 2561 เนื่องจากที่ผ่านมา เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยังไม่เคยลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ มีเพียงการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงเมื่อ 65 ปีที่แล้ว ทำให้ในทางปฏิบัติถือว่าทั้งสองประเทศยังอยู่ในภาวะสงคราม

'สันติภาพลายพราง' กรณีปลดอาวุธนิวเคลียร์

เงื่อนไขข้อ 1 และ 2 ของปฏิญญาพันมุนจอมไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากนัก แต่เงื่อนไขข้อ 3 ที่ระบุว่าเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ต้องร่วมกันดำเนินการปลดอาวุธนิวเคลียร์ และทำให้เกิดสันติภาพถาวรในคาบสมุทรเกาหลี ถูกสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศวิจารณ์ว่าขาดรายละเอียดในการปฏิบัติงาน และไม่มีเงื่อนไขชัดเจนใดๆ ที่จะผูกมัดให้ฝ่ายเกาหลีเหนือดำเนินการจนบรรลุเป้าหมาย

นักวิเคราะห์บางรายสันนิษฐานว่าการงดเว้นรายละเอียดเรื่องปลดอาวุธนิวเคลียร์ อาจเป็นเพราะผู้นำเกาหลีเหนือมีกำหนดพบกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ภายในเดือน พ.ค. หรือต้นเดือน มิ.ย.ที่จะถึง จึงคาดว่ารายละเอียดการปลดอาวุธนิวเคลียร์จะถูกยกไปหารือในการประชุมระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือแทน

เขตปลอดทหาร เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ รวมชาติเกาหลี พันมุนจอม

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้จึงถูกกลุ่มที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมในประเทศวิพากษ์วิจารณ์ที่มีการเปิดช่องให้สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือกำหนดรายละเอียดในการปลดอาวุธนิวเคลียร์เอง ทำให้เกาหลีใต้ถูกลดบทบาทเป็นเพียง 'นายหน้า' ที่คอยอำนวยความสะดวกให้แก่สหรัฐฯ แทนที่จะเป็นผู้มีบทบาทหลักในการรักษาความมั่นคงบริเวณคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของทรัมป์ที่ทวีตข้อความกล่าวอ้างว่าเขาเป็นคนสำคัญคนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้กลับสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพร่วมกันได้ในที่สุด

ท่าทีของนายทรัมป์ทำให้ฝ่ายต่อต้านความรุนแรงในเกาหลีใต้เกรงว่าหากปล่อยให้สหรัฐฯ รับบทบาทนำในการเจรจากับเกาหลีเหนือ อาจเปิดทางให้สหรัฐฯ ใช้กำลังทหารกดดันควบคู่ไปกับการเจรจา และทุกอย่างอาจจะกลับสู่ภาวะขัดแย้งเหมือนเดิม โดยยกตัวอย่างกรณีสหรัฐฯ ผลักดันให้อดีตประธานาธิบดีปักกึนเฮของเกาหลีใต้ ติดตั้งระบบยิงต่อต้านขีปนาวุธเพดานบินสูง หรือทาด บริเวณชายแดน จนกลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดการประท้วงใหญ่ ทั้งในเกาหลีใต้และในจีน ซึ่งมองว่าสหรัฐฯ ใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งของเกาหลีทั้งสองประเทศเพื่อขยายอิทธิพลทางทหารเพิ่มเติมในคาบสมุทรเกาหลี

อย่างไรก็ตาม เดอะวอชิงตันโพสต์ของสหรัฐฯ เผยแพร่บทสัมภาษณ์ 'คริสโตเฟอร์ ฮิลล์' อดีตตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ ในการเจรจากับรัฐบาลเกาหลีเหนือ ซึ่งมองว่ารัฐบาลเกาหลีใต้วางหมากอย่างรอบคอบที่ผลักดันให้สหรัฐฯ เป็นฝ่ายเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือเอง เพราะถ้าการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ ก็จะถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวของสหรัฐฯ แทนที่จะเป็นความล้มเหลวของเกาหลีใต้

เขตปลอดทหาร เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ รวมชาติเกาหลี พันมุนจอม คิมจองอึน มุนแจอิน

ที่มา: Korea Times/ Joongang Daily/ ABC/ The Washington Post/ NK News

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: