เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2563 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาเรื่องด่วน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ โดย ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า เมื่อครั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการทำประชามติตนคือหนึ่งในผู้ที่ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผล 1.เห็นว่ารัธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลพวงต่อเนื่องการรัฐประหาร 2.ส่วนตัวเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร ยอมรับว่า เหตุการณ์ในปี2557 ทำให้ประเทศเดินทางมาถึงทางตัน การมีผู้มีอำนาจออกมาสลายทางตันเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในตอนนั้นแต่ถึงวันนี้มองว่าท่านอยู่นานไปนิด อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังทำให้รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารเป้นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย และ 3. รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังเป็นรัฐซ้อนรัฐมียุทธศาสตร์ชาติมีองค์กรอิสระที่ดูเหมือนไม่อิสระ และยังแก้ไขได้ยาก เมื่อสถานการณ์โลกและสถานการณ์ประเทศเปลี่ยนไปรับธรรมนูญจึงกลายเป้นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ
"ก่อนหน้านี้พรรคภูมิใจไทยเคยแถลงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าต้องแก้ไข ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งในการนำฟืนออกจากกองไฟ โดยให้แก้ไขที่มาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งส่วนในร่างพรรคร่วมที่ให้มีบางส่วนมาจากตัวแทนองค์กรเรากรับได้แต่ที่สำคัญต้องไม่แตะหมวด1 หมวด 2 และอยากให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นรัฐธรรมนูญที่กินได้โดยให้ใหเผู้ร่างใส่ใจการดูแลปากท้องของประชาชนและให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ ส่วนการดำรงอยู่ของส.ว.นั้นเราเห้นว่ายังมีความจำเป็นสำหรับการคัดกรองกฎหมายและพิจารณาบุคคลสำคัญไปอยู่หน่วยงานต่างๆ เมื่อส.ส.รร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็ต้องนำเข้ารัฐสภาจะได้ช่วยกันพิจารณาหาทางออกให้ประเทศ" ศุภชัย ระบุ
ด้าน ดิเรกฤิทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. อภิปรายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำได้ยาก เพราะต้องคำนึงถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่คำนึงถึงแต่เสียงข้างมาก ต้องคำนึงถึงเสียงข้างน้อยด้วย และคำนึงถึงหลักนิติรัฐ การแก้รัฐธรรมนญไม่จำเป้นต้องตั้ง ส.ส.ร.มารื้อใหม่ทั้งฉบับ เพราะประเด็นที่จะแก้ไขมีเพียงบ้าางเรื่องเท่านัน อีกทั้งการตั้งส.สงร.มเป้าหมยไม่ชัดเจน เป็นการเซ็นเชคเปล่าไปแก้เรื่องที่ดีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะเรื่องปราบโกง ดังนั้นควรคุยกันให้ตกผลึกก่อน ที่สำคัญการตั้ง ส.ส.ร.มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ แม้จะมีการทำประชามติก็ไม่มีหลักประกันว่าจะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุด ควรแก้ไขเป็นรายมาตราจะเหมาะสมกว่า
น้องวิษณุ แนะแก้ รธน.ต้องประชามติ 2 ครั้ง หวั่นถูกยื่นศาล รธน.คว่ำร่างปมแก้ทั้งฉบับ
ส่วน พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายว่า มองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรกทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนที่จะมีการลงมติรับหลักการในวาระแรกว่า อยากได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สอง ทำหลังจาก ส.ส.ร. ยกร่างเสร็จและมีการลงมติเรียบร้อยแล้วให้ทำประชามติสอบถามประชาชนว่า พอใจกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
นอกจากยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้ว การแก้ไขแบบรายมาตราก็มีคำถามเหมือนกันว่า จะต้องทำประชามติถามประชาชนหรือไม่ ยืนยันว่า ตนไม่ขัดข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ตกอยู่ภายในอาณัติของใคร เคารพเสียงของประชาชนและลูกๆหลานๆที่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ตนอยากให้แก้รัฐธรรมนูญ โดยที่ไม่ขัดกฏหมาย ไม่มีใครนำเรื่องไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า กระบวนการได้รัฐธรรมนูญไม่ชอบ เพราะเมื่อครั้งปี 2555 ที่มีการยื่นแก้ไขมาตรา 291 ในรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อแก้ไขทั้งฉบับก็มีผู้ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า สามารถทำได้หรือไม่ ในที่สุดศาลวินิจฉัยว่า การแก้ไขทั้งฉบับควรผ่านการทำประชามติจากประชาชนก่อนที่จะมีการแก้ไข ตนเชื่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีคนยื่นให้ศาลตีความเหมือนกับในปี 2555 แน่นอน ซึ่งโดยส่วนตัว ถ้าตนขัดข้องหมองใจหนักๆก็ยินดีลาออกจาก ส.ว.เพื่อยึดหลักกฏหมายที่ถูกต้อง
ส.ว.ซัด เพื่อนทนไม่ไหว เดือดปิดสวิตช์ ส.ส.
จเด็จ อินสว่าง ส.ว. ถามประธานรัฐสภาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ประชาชนได้ประโยชน์อะไรบ้าง ประชาชนจะกินดีอยู่ดี หรือประเทศจะมีความมั่นคงมั่งคั่งอย่างไรบ้าง ก่อนจะอภิปรายต่อไปว่า ปลายเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน บ้านเมืองกำลังเดินไปด้วยดี บริหารจัดการทางด้านสาธารณสุขดีเด่นในโลกต่อการควบคุมการระบาดโควิด ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) กลาโหม เราสามารถทำให้การลงทุนประคองตัวอยู่ได้ การค้าขายประคองตัวอยู่ได้ รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยากด้วยเงินสงเคราะห์และมาตรการทางด้านเศรษฐกิจ อยู่ๆ ก็มีเหตุการณ์เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ โดยไม่มีสาเหตุ แก้มาตรา 256 กระทบไปถึงอำนาจของ ส.ว. ไม่ได้พูดถึงเลยว่าแก้แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร บาปเคราะห์ทั้งหมดก็มาลงที่ ส.ว. หมดเลย ต้องปิดสวิตช์ ส.ว. จนเพื่อนตนทนไม่ได้ถามว่าถ้าปิดสวิตช์ ส.ส. บ้างจะเป็นยังไง
ประการต่อมาคือความเชื่อมโยง ส.ส. หลายคนพูดว่าถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ ไม่ตั้ง ส.ส.ร. จะเกิดรัฐประหาร ตนอายุเข้า 74 เห็นการรัฐประหารมาหลายครั้ง ไม่ได้ทำกันง่ายๆ ทหารก็รักประชาธิปไตยเหมือนกัน แล้วก็พูดกันถึงปลายน้ำทุกที ไม่พูดถึงต้นน้ำและกลางทางว่าเพราะอะไรถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ก็เกิดในห้องนี้ทั้งนั้นที่ทำให้เกิดความร้าวฉาน โดยลึกๆ แล้วเขาไม่อยากทำหรอก ตนรู้ดี ไม่ใช่ทำกันง่ายๆ การปฏิวัติรัฐประหาร
'เสรี' ขวางตั้ง ส.ส.ร. ชี้เลือกตั้งส่อซื้อเสียง
ด้าน เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน การกล่าวหาวุฒิสภาแต่งตั้งจากเผด็จการ ไม่เชื่อมโยงประชาชน วุฒิสภาถูกพูดถึงในทางเสียหาย แต่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าที่เข้ามาทำหน้าที่ไม่ได้มาจากอำนาจเผด็จการ แต่เข้ามาโดยรัฐธรรมนูญที่ผ่านการประชามติ พร้อมระบุถึงการเข้ามาสู่อำนาจของ คสช. ว่า คนส่วนใหญ่เห็นด้วยให้เข้ามาแก้ไขปัญหา เพราะบ้านเมืองวิกฤต การกล่าวหาเป็นการเมืองเก่า ไม่ได้ทำให้เจริญก้าวหน้า ส่วนการให้ ส.ส.ร.มาจากประชาชนเป็ฯคำพูดสวยหรู แต่ต้องคิดถึงกระบวนการด้วย ต้องตัดสินใจด้วยเหตุผล รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ห้ามให้ ส.ส.ร.เป็น ส.ว. ซึ่งตนเองก็สมัครเป็น ส.ว. และได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งประธานรัฐสภาเองก็ทราบปัญหา ส.ว.หากมาจากการเลือกตั้ง ก็มีฐานที่มาจาก ส.ส. ถูกเรียกว่าสภาผัวเมีย สภาหมอนข้าง สุดท้ายยึดโยงพรรคการเมือง แยกจากกันกับ ส.ส. ไม่ออก สุดท้าย ส.ว.ก็ถูกแทรกแซง รับเงินจาก ส.ส. จนขาดความอิสระ เวลาเลือกองค์กรอิสระก็ถูกแทรกแซง จนสุดท้ายเป็นวิกฤตประเทศ
เสรี กล่าวว่า การเสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงหรือไม่ ต้องพิจารณาอย่างสมเหตุสมผล ไม่อยากชี้นำว่าจะสรุปอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามการเสนอให้มี ส.ส.ร. และบรรยากาศปัจจุบัน ที่มีการเรียกร้องทางการเมืองสูง ให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ถ้านึกภาพแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมาจากพรรคการเมือง เพราะมีฐานเสียง มีหัวคะแนน มีวิธีการเลือกตั้งชนะ และอาจเห็นการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ที่ซื้อเสียงมากที่สุด แต่ก็ไม่ค่อยกังวลใจ เพราะสุดท้ายคือการอ้างอิงประชาชน แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือความแตกแยก การดูหมิ่นใส่ร้ายสถาบัน
ทำให้ ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงว่าเป็นการอภิปรายพาดพิงมาถึงพรรคก้าวไกล ดูหมิ่นสถาบัน จึงขอให้ถอนคำพูดกล่าวหาพรรคก้าวไกลในเชิงดูหมิ่นสถาบัน
แต่ เสรี ยืนยันว่าไม่ได้พูดว่าพรรคก้าวไกลซื้อเสียง ดูหมิ่นสถาบัน เพียงแต่ใช้ภาษาไทยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันก้าวไกล ไม่ได้เอ่ยชื่อพรรค ระหว่างนั้น วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล บอกว่าถ้าไม่ถอน จะถอนหงอก แต่ เสรี ยังยืนยันไม่ถอนคำพูดเพราะเป็นภาษาไทย ไม่ได้เอ่ยชื่อพรรค หากพูดว่าภูมิใจความเป็นไทยก็จะไปเป็นชื่อพรรคภูมิใจไทยอีก และมองว่าพรรคก้าวไกลร้อนตัว ถ้าไม่ได้ทำก็คงไม่รู้สึกอยู่แล้ว ขณะที่ประธานรัฐสภายืนยันให้ถอนคำว่าก้าวไกล จนสุดท้ายนายเสรียอมถอนคำพูด
เสรี อภิปรายต่อว่า กระบวนการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ถูกมองว่าทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขยาก แต่เข้าใจคนร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนาดี หากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องใด สามารถทำได้ แต่มีเงื่อนไขหลายฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกัน สมัครสมานสามัคคีกันจึงจะแก้ไข หากใส่ร้ายเสียดสี ไม่เกิดความสามัคคี ก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ การพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรพิจารณาให้สมประโยชน์ประชาชนทั้งประเทศ แต่ทั้ง 6 ญัตติ ทำให้เกิดคำถามเยอะ และ ส.ว. ก็ไม่ได้รับการปรึกษาหรือให้การพิจารณาก่อน จึงมีคำถามเยอะ หากมีโอกาสดูรายละเอียดมากกว่านี้ ก็จะเป็นประโยชน์การพิจารณา แต่หากพูดเสียดสีกัน กล่าวหา ส.ว.ในทางเสียหาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่มีทางสำเร็จ
รปช. ยก รธน. ปี 60 เหมาะสมกับปัจจุบัน
สุพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช. อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมาะสมกับประเทศในปัจจุบัน และหากยกเลิกอาจเกิดิสิ่งที่เลวร้ายขึ้น ในอดีตเคยเกิดเผด็จการรัฐสภาสร้างผลเสียให้กับปรนะเทศชาติมาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็เคยวินิจฉัยว่าเป็นการทำลายหลักการปกครองประชาธิปไตย ถือเป็นเผด็จการเสียงข้างมาก
'ชาญวิทย์' ย้ำประเทศไม่ได้อยู่ได้เพราะ รธน.
ชาญวิทย์ ผลชีวิน ส.ว. อภิปรายโดยยกตัวอย่างวุฒิสมาชิก Elizabeth Warren ที่เคยปราศรัยว่า “ประเทศไม่ได้อยู่ได้เพราะประชาธิปไตย ไม่ได้อยู่ได้เพราะรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่ได้เพราะกฎหมาย แต่ประเทศจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนได้ด้วยกำลังของพลเมืองดีที่ไม่ดูดายและยอมแพ้ต่อคนชั่วคนทุจริตที่กัดกร่อนทำลายประเทศชาติ พลเมืองดีจึงต้องยืนหยัดรักษาบ้านเมืองไว้ให้มั่นคงเพื่อลูกหลานรุ่นต่อไป” เป็นคำกล่าวที่ตนชอบมาก ตนเป็นนักกีฬา ตอนนี้เราเล่นในนามทีมชาติ ถ้าจะแก้กติกาต้องถามคนอื่นว่าจะเอาด้วยหรือไม่ ตนรับไม่ได้ ส.ส. อย่ามาดูถูกว่ามาจากเผด็จการ เพราะ ส.ว. ก็มาจากรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ตนยอมรับประชาธิปไตยที่อยู่บนพื้นฐานความเห็นต่าง แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ก.ข.ต. (เกลียดชัง ขัดแย้ง แตกแยก) ขอร้องว่าประชาธิปไตยที่เห็นต่างต้องสง่างาม เพราะฉะนั้นจะร่างรัฐธรรมนูญอีกกี่ฉบับ ถ้าแก้ทุกอย่างแต่ไม่แก้ตัวเอง ไม่เคยแพ้เลยจะชนะอย่างเดียว เป็นไปไม่ได้
จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ชี้แจงกรณี ชาญวิทย์ ผลชีวิน ส.ว. อภิปรายโดยยกตัวอย่างคำพูดของวุฒิสมาชิก Elizabeth Warren ซึ่งความจริงกล่าวว่า “ประชาชนไม่ควรนิ่งดูดาย ปล่อยให้โครงสร้างรัฐธรรมนูญสถาบันต่างๆ ทำงานไปเอง เราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพราะประชาธิปไตยดูแลตัวเองไม่ได้ นิติรัฐดูแลตัวเองไม่ได้ ประชาชนต้องเป็นยคนดูแล เพราะคนที่มีเงินและมีอำนาจตลอดมาที่คิดว่าไม่ใช้กฎเกณฑ์เดียวกับคนทั่วไป” แต่ภาพที่ขึ้นจอในสภาคือ ข่าวปลอมที่ฝ่ายขวาเอามาใช้เพื่อผลทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ตนได้อ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลแล้วตนนับถือความเสมอต้นเสมอปลาย เพราะถ้าย้อนกลับไปในวันที่บอกว่าจะไม่ทำรัฐประหาร นายกรัฐมนตรียังคงความเจ้าเล่ห์ เก็บซ่อนความต้องการที่แท้จริงภายใต้หน้ากากคนดี ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเตือนไม่ให้ใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม นายจิรัฏฐ์ อภิปรายต่อว่าตอนนี้สังคมไทยตาสว่างแล้ว การแสดงปาหี่ไม่สามารถซ่อนคำโกหกได้อีก หนังสือทุกฉบับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเซ็นภายใต้หน้าปกสวยแต่ข้างในซ่อนเจตนาที่หลอกลวงประชาชน
'กิตติศักดิ์' โต้นัว 'ก้าวไกล' ปมล้มเจ้า 'ชวน' เตือนห้ามพูดถึงสถาบัน
จิรัฏฐ์ กล่าวต่อไปอีกว่า มาตรา 256 ของร่างรัฐธรรมนูญพรรคร่วมรัฐบาล แทบไม่มีการแก้ไข แต่แก้ไขการลงคะแนนเห็นชอบจากกึ่งหนึ่งเป็น 3 ใน 5 ตนเห็นว่าถ้าให้อำนาจ ส.ว. มาโหวต ส.ว. 25 คนสามารถยับยั้งการแก้กฎหมายของประชาชน 50,000 คนได้ แต่ร่างนี้ก็ยังยืนยันอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ต่างอะไรจากเอาคนพิการมือด้วนมากดโหวต เพราะคนที่โหวตจริงๆ คือ พล.อ.ประยุทธ์
ด้าน กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ประท้วงว่า ส.ว. มาตามรัฐธรรมนูญ แต่นักการเมืองบางพรรค บางคน แอบไปอยู่ใต้กระโปรงเด็ก วันๆ คิดแต่จะล้มเจ้า ทำให้ ชวน ปิดไมค์ และเตือนไม่ให้พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้าน ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วง กิตติศักดิ์ว่าปัญญาชนไม่ควรพูดคำเช่นนี้ ทำให้ กิตติศักดิ์ ยอมถอนคำพูดว่าใต้กระโปรงเด็กและล้มเจ้า
นายจิรัฎฐ์ อภิปรายต่อว่า ส.ส.ร. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน เพราะเราไม่ต้องการให้มีการเเต่งตั้งจนเกิดการเเทรกเเซง การที่ร่างแก้ไขของรัฐบาลไปห้ามไม่ให้แก้หมวด1-2 ไม่เข้าใจว่าคืออะไร ทำไมแก้ไม่ได้ ตนถามหน่อยว่ารัฐสภาแห่งนี้ ยังยืนยันหรือไม่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ถ้ายังยืนยันหลักการนี้ทำไม ส.ส.ร.ซึ่งเป็นตัวเเทนประชาชนจะแก้กฎหมายของประชาชนไม่ได้
‘ก้าวไกล’ ซัด ‘ธนภัทร’ เป็นงูเห่ารับกล้วย - 'ธนภัทร' อัดบางพรรคก้าวล่วงสถาบัน
ต่อมา สรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน โดยให้เหตุผลเป็น 3 ปัญหาของรัฐธรรมนูญคือ 1.วิกฤติศรัทธาของประชาชน เกิดการรวมตัวของพรรคร่วม 19 พรรคส่งผลต่อการบริหารประเทศ มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการโหวต 250 เสียง เจ้ากระทรวงไม่เหมาะสมในการทำงานแต่มาจากการต่อรองทางการเมือง เราได้เห็นงูเห่าในสภาที่ย้ายค่ายจากเหตุผลส่วนตน หักหลังคะแนนเสียงที่ส่งเขาเข้าสภา เป็นผลพวงของรนัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทำให้คนตั้งคำถามว่าประเทศเป็นประชาธิปไตยที่เท่าเทียมหรือไม่ ทั้งนี้เกิดจากกฎกติกาที่บิดเบี้ยว ทำให้เกิดการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
สรัสนันท์ ระบุว่า 2.นายกรัฐมนตรีไม่สามารถบริหารประเทศได้ เพราะการเมืองอ่อนแอไม่มีเอกภาพ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไร้ทิศทางจึงต้องอิงระบอบข้าราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ ปิดกั้นเสียงของประชาชน 3.มีคนอ้างว่ารัฐธรรมนูญสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันการทุจริต แต่กลับเปิดช่องให้ผู้มีอำนาจและลดช่องทางการตรวจสอบ งบประมาณไม่ยึดโยงกับประชาชน
ทำให้ พ.ต.ท.ธนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี พรรคพลังประชารัฐ ขอให้ผู้อภิปรายถอนคำพูด เนื่องจากตนถูกขับออกจากพรรคที่เคยสังกัด เพราะไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมหรือการดำเนินกิจกรรมของพรรคบางอย่าง เช่น การก้าวล่วงสถาบัน จะบอกว่าตนเป็นงูเห่า กล่าวหาในทางร้าย ตนขอปฏิเสธ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ไม่เป็นไร ไม่ได้เอ่ยชื่อ และได้ชี้แจงไปแล้ว
ด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วง พ.ต.ท.ธนภัทร ว่าเป็นการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์และเป็นการกล่าวหา เมื่อ ชวนถามว่าผู้ประท้วงคนก่อนหน้ากล่าวว่าอะไร โดย วิโรจน์ ตอบว่า พ.ต.ท.ธนภัทร บอกว่ากิจกรรมของพรรคเป็นการก้าวล่วงสถาบันทำให้เขาต้องไปรับกล้วยเป็นงูเห่า ทั้งนี้ ชวน ได้ขอให้จบกัน แต่ วิโรจน์ ยังยืนยันว่า พ.ต.ท.ธนภัทร รับกล้วยเป็นงูเห่า
'สมชาย' รับไม่ได้เยาวชนพูดแตะสถาบัน ขอตีตกให้กลับไปศึกษาก่อน
สมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายว่า "สองร่างของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหา เพียงแต่จะปลุกมวลชน ฝ่ายหนุนและฝ่ายต้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การชุมนุม 19 ก.ย. 2563 เยาวชนมีการพูดถึงสิ่งที่รับไม่ได้ จะจัดการกับสถาบัน เพราะเนื้อหาดูหมิ่น อาฆาต ชัดเจนตามมาตรา 112 หมวดพระมหากษัตริย์ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น อาทิ การแก้ไขมาตรา 71 มาตรา 72"
สมชาย อภิปรายว่า ตนทราบปัญหาเรื่องบัตรเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองสองกลุ่มอยากแก้ไขรายมาตรา ไม่แตะต้องเรื่องการปฏิรูป แต่เสนอร่างก็กลายเป็นรื้อรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขอให้ทบทวนใหม่ มี 12 พรรคเล็กอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราบัตรเลือกตั้ง เพราะไม่เคยได้ ส.ส. แต่ท่านกำลังจะแก้ไขเพื่อให้พรรคเล็กหายไป พรรคอนาคตใหม่จะได้ ส.ส.จากบัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ก็อยากจะแก้ไขเป็นบัตรสองใบ พรรคการเมืองที่มีปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญต้องตกลงกันก่อนแล้วมาตกลงกับ ส.ว.ว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งนี้ไม่อยากลงมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
"รัฐธรรมนูญ 279 มาตรา มีปัญหาเล็กน้อย ท่านต้องเผาบ้านทิ้งทั้งหมด ท่านต้องใช้เงิน 15,000 ล้านบาท แทนที่เอาไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน คนตกงานเหมือนที่ท่านพูดกัน สภากำลังไปผิดทิศทางยามที่มีปัญหาโควิด พิษเศรษฐกิจร่วมกัน เรากำลังมีวิกฤตร่วมกันคนในชาติอย่าสร้างความขัดแย้ง ไม่อยากลงมติ 24 ก.ย. ว่าไม่เห็นด้วย ผมอยากชวนเพื่อนสมาชิกในอนาคต ท่านกลับไปร่างใหม่ไปศึกษาก่อน อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญตรงไหนที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ผมก็พร้อมร่วมมือเห็นชอบ แต่วันนี้ผมไม่เห็นชอบ" สมชาย ระบุ
ประธานวิป รบ.เผยกรอบเวลา 3 ฝ่ายอภิปราย
เวลา 21.50 น. วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล แจ้งต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาว่า ฝ่ายรัฐบาลเหลือเวลา 4 ชั่วโมง 2 นาที ฝ่ายค้านเหลือ 3 ชั่วโมง 58 นาที ส.ว.เหลืออภิปราย 3 ชั่วโมง 43 นาที จะอภิปรายในวันแรกเสร็จได้ตอน 01.00 น. ของวันใหม่ จากนั้นจะพักประชุมแล้วเริ่มอภิปรายต่อในเวลา 09.30 -18.00 น. ของวันที่ 24 ก.ย.
'วันชัย' ดันโหวตหนุนลดเงื่อนไขขัดแย้งนอก-ในรัฐสภา - ยกเลิก ส.ว.โหวตนายกฯ
วันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่า ต่อมาพรรคร่วมรัฐบาลได้เสนอญัตติของแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เช่นเดียวกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในพรรคร่วมรัฐบาลมีหลายพรรคการเมือง ต่อมาคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหลายพรรคการเมือง ตนได้พิจารณาและให้สัมภาษณ์ว่าตนเห็นด้วยการแก้ไขมาตรา 256 ของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทั้งเห็นด้วยต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และมาตรา 272 ส่วนอีก 3 ร่างจะไม่ขอกล่าวถึง เพราะตนทราบว่าเป็นความต้องการของพรรคการเมืองบางส่วน ซึ่งยังมีความเห็นไม่ตกลงไปด้วยกันได้ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญได้ใช้มา 2 ปี ทุกฝ่ายที่เสนอมาเห็นปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ ทั้งในสภาและนอกสภาเห็นปัญหา โดยส่วนตัวที่ตน ส.ว. ได้ใช้รัฐธรรมนูญก็เห็นปัญหาต่อรัฐธรรมนูญในบางมาตรา โดยเฉพาะองค์กรอิสระ แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนมาด้วยวัตถุประสงค์ดี เพื่อให้ได้บุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แต่องค์กรอิสระบางองค์กรเป็นศูนย์รวมอดีตข้าราชการ
รัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอตอบสนองทั้งข้อเรียกร้องในรัฐสภาและนอกรัฐสภา ที่สำคัญพรรคร่วมรัฐบาลที่ร่วมเป็นรัฐบาลด้วย 3 พรรคใหญ่ มีนโยบายในการแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี สนับสนุนศึกษาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงลดความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอก เหตุที่จะเป็นปัญหาในความแตกแยกของพรรคการเมืองจะลดน้อยลง ความวุ่นวายต่อข้อเรียกร้อง แม้จะทำอะไรต่อรัฐบาลไม่ได้ในขณะนี้ แต่จะเป็นเชื้อปะทุต่อไปเรื่อยๆ การแก้ไขดังกล่าวนั้น ลดเงื่อนไขต่างๆที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่อบ้านเมืองและรัฐบาลเอง
วันชัย ระบุว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญดูแล้ว เมื่อเราเห็นปัญหาและร่วมกันแก้ไขปัญหา มาร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดความรัก สามัคคี อีกทั้งการเมืองเป็นเรื่องการประนอมอำนาจซึ่งกันและกัน ยุคหนึ่งอาจต้องใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ บางยุคต้องประนอมอำนาจกันหลายๆ ฝ่าย การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ ยุคนี้ไม่ได้เป็นอำนาจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เมื่อทุกกลุ่มมีส่วนร่วมทำงานการเมือง จึงต้องประนอมอำนาจซึ่งกันและกัน
วันชัย อภิปรายว่า หากวันที่ 24 ก.ย. ตนจะโหวตให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน หากถามรัฐธรรมนูญแก้ได้หรือไม่ ยังแก้ไม่ได้ครับ ยังไงสมาชิกรัฐสภา 750 คนทุกคนโหวตให้ผ่านก็แก้ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้เป็นประตูสุดท้าย จะแก้ได้ต้องเป็นมติของมหาชนที่เรียกว่าประชามติ ถ้าประชาชนไม่ให้แก้ วาระที่1-3 ก็ใช้ไม่ได้หมด ทั้งนี้เมื่อเห็นปัญหาต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ทุกคนอยู่อย่างอบอุ่น
ส่วนบทบัญญัติการดำรงอยู่ของนายกรัฐมนตรีขณะนี้ไม่ได้อยู่ เพราะ ส.ว. แต่อยู่ได้เพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่เกิน 251 เสียง จะล้มจะอยู่หรือจะไป เพราะเสียง ส.ส.ทั้งสิ้น การเลือกนายกฯครั้งก่อนก็ดูจากเสียง ส.ส.ที่สนับสนุน เพราะฉะนั้น ตนจึงเห็นว่า เหตุแห่งเฉพาะกิจ การกระทำเฉพาะกาลและบริบททางการเมืองเปลี่ยนไป มาตรานี้จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังก่อให้เกิดความสามัคคี
'คำนูณ' โหวตหนุน ต้ัง ส.ส.ร. - แก้ ม.272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ
ต่อมา คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายว่า ส.ว.ชุดนี้มีผลต่อการแก้ไข มาตรา 256 เพราะต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 ถ้าตนไม่เห็นด้วย และทำไมต้องโหวตขวางทางการตัดสินใจประชาชน ผ่านประชามติหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านรัฐสภา รวมทั้งจะต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. การลงมติพรุ่งนี้ (24 ก.ย.) จะมีเสียง ส.ว.ถึง 84 เสียงหรือไม่ หากจะตกไปชั้นแรก
"ผมไม่อาจหักใจโหวตให้ตกไปตั้งแต่ครั้งแรก วันนี้ได้มีสมาชิกบางท่านด้วยความเคารพ ได้เอ่ยถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 ที่ได้วินิจฉัยคล้ายว่าการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราวิธีที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเปิดให้มี ส.ส.ร.ยกร่างใหม่ทั้งฉบับทำไม่ได้ ต้องไปทำประชามติก่อน คำวินิจฉัยฉบับนั้นมีจริง แต่สาระศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรกศาลเห็นว่ารับไว้วินิจฉัยได้ ประเด็นที่สอง รัฐธรรมนูญ ปี 2550 อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญคือประชาชน เพราะมาจากการทำประชามติ ถ้าจะแก้ไขทั้งฉบับ ควรจะให้ประชาชนได้ลงประชามติเสียก่อนว่าควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือถ้าจะแก้ไขเป็นรายมาตราก็เหมาะสมก็เป็นอำนาจรัฐสภาจะดำเนินการได้ แต่รัฐสภาปี 2555 ก็ฟังศาลรัฐธรรมนูญอยู่ แต่สิ่งที่จะบอกกล่าวประธานรัฐสภา คำวินิจฉัยของศาลยังมีประเด็นที่สาม ผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทำผิดมาตรา 68 หรือไม่ ศาลยกคำร้อง ไม่ได้มีพฤติกรรมใดเข้าข่ายมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550"
คำนูณ ระบุว่า สองร่างของฝ่ายค้านและรัฐบาล เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าการแก้ไขหมวด1-2 จะแก้ไขไม่ได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังเป็นการให้กุญแจ ไม่ได้ให้กุญแจผู้ใด แต่ให้กุญแจกับเจ้าของบ้านว่าจะตัดสินใจจะเปิดเข้ามาในบ้าน ถึงกิจการบ้านเมืองที่สำคัญ หรือจะเห็นว่ายังไม่ต้องหารือ ให้เป็นอย่างนี้ไปก่อน นี่คือสาเหตุที่ตนจะตัดสินใจโหวตรับร่างแก้ไขมาตรา 256 และให้มีการตั้ง ส.ส.ร. เวลามีอยู่ ส่วนมาตรา 272 ในร่างญัตติที่ 4 เป็นเรื่องที่สามารถจะแก้ไขได้ เพราะถึงแม้ ส.ว.จะมีสิทธิร่วมเลือกนายกฯ แต่นายกฯ คนใดไม่ได้เสียงข้างมากในสภาฯ ก็บริหารไม่ได้ และ ส.ว.หลายท่านก็ได้กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะโหวตนายกฯ ที่มีเสียงข้างน้อยในสภาฯ เมื่อทุกฝ่ายเห็นตรงกันทำไมจะเอามาตรา 272 ออกไม่ได้
‘ญาณธิชา’ เสนอยกเลิก ม.272 ตัดมือ ส.ว.
ญาณธิชา บัวเผื่อน ส.ส. เขต 3 จังหวัดจันทบุรี พรรคก้าวไกล อภิปรายญัติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 272 สาระสำคัญคือการตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี โดนระบุว่า จากคำพูดของนักการเมืองท่านหนึ่งที่บอกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา” เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2561 ตนขอตั้งข้อสังเกต คำว่า “พวกเรา” หมายถึงใครบ้าง แต่ที่แน่ๆ ไม่น่าจะนับประชาชนรวมอยู่ด้วย
“มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 60 ที่ร่างขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอยู่กลุ่มหนึ่ง ได้เสียงในสภามาก่อนการเลือกตั้งมากถึง 250 เสียง เพื่อรอโหวตนายกรัฐมนตรี นั่นก็คือ ส.ว. ซึ่งหมดล้วนมาจากกรรมการสรรหาที่ถูกแต่งตั้งขึ้นโดย คสช. แถมสรรหาไปสรรหามา ก็ดันสรรหาตัวเองเข้าไปเป็น ส.ว. ด้วย เป็นการนำเอาคนของเผด็จการ 250 คน เข้ามายึดที่นั่งในรัฐสภาไว้ล่วงหน้า เป็นการลดทอนคุณค่าเสียงของประชาชนในการเลือกผู้แทนของตนเอง ลดทอนโอกาสที่ประเทศจะได้รัฐบาลที่มาจากเจตจำนงค์ที่แท้จริงของประชาชน โดยในช่วงก่อนที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีการกล่าวว่า ส.ว. แต่ละท่านมีวิจารณญาณของตนเอง ไม่ได้อยู่ใต้อาณัติของเผด็จการที่ชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีทางที่ 250 เสียง จะโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ ให้สืบทอดอำนาจโดยพร้อมเพรียงกันได้ มีวัยวุฒิและวุฒิภาวะ ผ่านร้อนผ่านหนาวรู้ดีรู้ชั่ว อย่างน้อยก็ต้องมีงดออกเสียงอยู่จำนวนหนึ่ง แต่แล้วผลการโหวตเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.62 ก็ประจักษ์ชัดเจน ว่า ส.ว. ทั้งสิ้น 249 คน โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมตรี เพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการ โดยไม่แตกแถว สมฉายา ‘สภาทหารเกณฑ์ที่ซื่อสัตย์ต่อมูลนาย’ ส่วน 1 เสียงที่งดออกเสียง เป็นเพราะ ต้องทำตามมารยาทในหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมเท่านั้นเอง เหตุการณ์นี้จึงยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า ส.ว. ทั้ง 250 คน ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน แต่เป็นเพียงไพร่พล ที่คอยรับใช้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น”
ญาณธิชา กล่าวต่อไปว่า วาทกรรม ‘เผด็จการรัฐสภา’ ที่เคยใช้กันยืนยันว่าเป็นของปลอม เพราะคือเสียงข้างมากในสภาที่ประชาชนเลือกมา แต่เหตุการณ์วันที่ 5 มิ.ย. 62 คือ เผด็จการรัฐสภาของจริง อันสืบเนื่องมาจาก มาตรา 272 ที่ทำให้ ส.ว. 250 คน ยกมือเป็นนั่งร้านให้การสืบทอดอำนาจเผด็จการอย่างพร้อมเพรียงกัน และถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความหายนะ ประชาชนที่อยู่อาศัยในประเทศต้องตกอยู่ในสถานะเหมือนกับคนเช่าประเทศอยู่ เศรษฐกิจ ปากท้อง นับวัน มีแต่จะพังพินาศ ราคาผลผลิตตกต่ำ แรงงานชอกช้ำนับวันรอถูกเลิกจ้าง ยานยนต์ ส่งออก ท่องเที่ยว SMEs ตกต่ำถึงขีดสุด โดยรัฐบาลก็ไม่คิดจะดูแล ทำงานแบบขอไปทีไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่สนใจว่าชีวิตของประชาชนจะเป็นอย่างไร
“แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด 19 ได้วงเงินงบประมาณ 4 แสนล้าน กลับอนุมัติได้เพียง 4 หมื่นกว่าล้าน เบิกจ่ายได้แค่ 400 กว่าล้าน วงเงิน Soft Loan ตั้งไว้ 5 แสนล้าน อนุมัติช่วย SMEs ได้แค่แสนหนึ่งหมื่นกว่าล้านบาท ช่วยได้แค่ 7 หมื่นราย จากที่ตกค้าง 7 แสนกว่าราย รวมไปถึงงบประมาณปี 64 ที่ล่าช้า เพราะความด้อยประสิทธิภาพของรัฐบาล”
นอกจากนี้ ญาณธิชา ยังได้ถามว่าจากผลที่เกิดขึ้น ส.ว.คิดจะรับผิดชอบอย่างไรหรือไม่ และหากเกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนสามารถไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกไปได้สำเร็จ จะยังกล้าที่จะใช้มาตรา 272 โหวตเลือกคนๆ นี้กลับมาเป็นนายกฯ อีกหรือไม่
“มาตรา 272 ยังมีกลไกชั่วร้ายซ่อนอยู่อีก นั่นก็คือ การเปิดทางให้คนนอกที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเข้ามาเป็นนายกฯ โดยถ้าสมาชิกไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา หรือ แค่ 375 เสียง ก็สามารถยื่นขอเสนอนายกคนนอกต่อรัฐสภาได้ แล้วก็ขอแค่ 500 เสียง ก็สามารถเปิดทางให้คนนอก มาเป็น ‘นายกห้าร้อย’ ได้ทันที นี่คืออีกกลไกสามานย์ ที่มาตรา 272 ทิ้งพิษร้ายเอาไว้ ให้กับประชาชน”
ญาณธิชา ยังได้กล่าวอภิปรายทิ้งท้ายว่า ขอเรียกร้องให้เหล่าวุฒิสภาที่เคยเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และบริหารประเทศจนประชาชนคนไทยในวันนี้ ไร้อนาคต หมดสิ้นซึ่งความหวัง และใช้กฎหมายปิดปากประชาชนเมื่อเห็นต่างจากรัฐบาล จงคิดไตร่ตรองตามวุฒิภาวะที่มี ฟังเสียงประชาชนเเละนักศึกษาต่อข้อเรียกร้องนอกรัฐสภา ในการร่วมลงมติตัดอำนาจของตัวพวกท่านเอง ด้วยการยกเลิกมาตรา 272 เพราะเป็นโอกาสสุดท้ายที่ประชาชนจะให้หรือ อโหสิกรรม เพื่อไม่ให้การตัดสินใจครั้งนี้ เป็นเงาดำตราบาปติดตัวไปชั่วชีวิต
จากนั้นเวลา 00.30 น. วันที่ 24 ก.ย. ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาในฐานะประธานที่ประชุมได้สั่งพักการประชุม และนัดประชุมต่อในเวลา 09.30 น. วันที่ 24 ก.ย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง