11 ธ.ค.2565 องอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส. และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประกาศนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทว่า การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ประกาศโดยพรรคการเมืองต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแต่ละครั้งส่งผลทั้งด้านบวก-ลบหลายมิติ
ปกติการขึ้นค่าแรงย่อมเป็นสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานต้องการเป็นพื้นฐาน ขณะที่ผู้ประกอบการมักจะมีความเห็นไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้แรงงาน
โดยทั่วไป ค่าแรงขั้นต่ำ กำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างที่มี 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง การคิดค่าจ้างขั้นต่ำจะดูจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก โดยพิจารณาเพิ่มเติมด้วยอัตราสมทบของแรงงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี
หลักคิดของการขึ้นค่าแรงควรจะพิจารณาจากรายได้ที่เพียงพอต่อการดูแลครอบครัวคือรวมคู่สมรสและบุตรอีก 1-2 คน จึงจะถือว่าคำนึงถึงการมีชีวิตที่พออยู่ได้ของแรงงานอันเป็นเป้าหมายหลักของหลักคิด 'ค่าจ้างเพื่อชีวิต'
อย่างไรก็ดี การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรอยู่บนพื้นฐาน 3 ประการคือ
1. ต้องบริหารราชการให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ มีอัตราการเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2. ต้องพัฒนาศักยภาพของผู้ใช้แรงงานทุกระดับอย่างจริงจัง โดยเน้นพัฒนาทักษะที่ผู้ประกอบการต้องการโดยเฉพาะการทำหน้าที่ที่ใช้ฝีมือ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยทุกประเภท
3. ต้องขจัดการทุจริต คอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง เพื่อทำให้นักธุรกิจ ผู้ประกอบการเอกชน ไม่ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ จ่ายค่าหัวคิว หักเปอร์เซ็นต์ จะได้นำเงินจากการจ่ายใต้โต๊ะมาจ่ายเป็นค่าแรงงานเพิ่มขึ้นได้
การดำเนินการบนพื้นฐาน 3 ประการนี้ หากทำให้เกิดผลสำเร็จได้เท่าไรก็จะทำให้เราสามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ผู้ใช้แรงงานได้เพิ่มมากขึ้น อันเป็นเป้าหมายของทุกพรรคการเมืองที่อยากเห็นแรงงานไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น