นายธนา ชีรวินิจ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ เวลา 10.00 น. วันที่ 18 พ.ย. 61 โดยอ้างถึงคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 16/2561 ให้ขยายเวลาแบ่งเขตเลือกตั้ง และชี้ว่า การกระทำดังกล่าวของ คสช. ถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของ กกต. องค์กรอิสระที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดว่า กกต. ไม่สามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปตามตารางเวลา ที่ กกต. กำหนดไว้ แต่ คสช. ก็ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 เข้าไปขยายเวลาให้กับ กกต. ถือเป็นการไม่เคารพขั้นตอนการทำงานขององค์กรอิสระที่มีขึ้นตามกฎหมาย ทำให้ กกต. ขาดความน่าเชื่อถือ เพราะถือว่ามีการเข้ามาแทรกแซง สั่งการกับ กกต.ได้ จึงมีความเป็นห่วงว่าอาจจะมีองค์กรอิสระอีกหลายองค์กรที่ถูกแทรกแซงในลักษณะเดียวกันนี้แต่ไม่ปรากฏเป็นข่าว
นายธนา กล่าวต่อว่า การออกคำสั่ง คสช.ดังกล่าว ทำให้การแบ่งเขตการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามกฎหมายที่ได้ออกมาแล้ว ทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หรือ ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งก็ดีเนื่องจากในกฎหมายดังกล่าวนั้น การที่จะมีการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ กกต. จะมีรูปแบบเสนอให้กับ ประชาชน และ พรรคการเมือง 3 รูปแบบ เพื่อให้แสดงความคิดเห็นว่า 'เห็นด้วย' หรือ 'ไม่เห็นด้วย' ก็ตาม แต่คำสั่ง คสช. ที่ 16 / 2561 นั้นได้ระบุว่าเป็นความเดือดร้อนที่ประชาชนร้องมา แต่ท้ายที่สุดคำสั่งนี้กลับไปเพิ่มช่องทางในการที่ กกต. จะต้องรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากกฎหมายเดิม
"กฎหมายเดิมนั้น ให้รับฟังความคิดเห็นเฉพาะจากประชาชน และพรรคการเมือง แต่คำสั่ง คสช.16 /2561 กลับให้รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอ ของ คสช. และรัฐบาลด้วย เพราะฉะนั้นประเด็นปัญหานี้จะทำให้เราทราบดีว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมด ที่ กกต. ต้องดำเนินการนั้น อาจจะมีรูปแบบนอกเหนือจาก 3 รูปแบบที่ กกต. เสนอ และ เป็นรูปแบบที่เป็นไปตามกฎหมาย"
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า หากมีการแบ่งเขตเลือกตั้งจริงจาก กกต. ที่จะออกมาเร็วๆ นี้ เป็นรูปแบบอื่นที่ไม่ได้ปรากฏใน 3 รูปแบบที่ กกต. เคยเสนอให้ประชาชน และพรรคการเมืองแล้ว ตนขอถือว่า คสช.เข้ามาแทรกแซง และกำกับให้การเลือกตั้งเป็นไปตามที่ คสช. และรัฐบาลต้องการ สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏอย่างหนึ่ง คือ ขณะนี้มีพรรคการเมืองที่สนับสนุนแนวนโยบายของ คสช. และสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง นอกจากข้อเสนอที่เสนอให้กับนักการเมืองพรรคต่างๆ ให้เข้ามาอยู่กับพรรคการเมืองที่มีแนวความคิดเดียวกันกับรัฐบาล อีกข้อเสนอหนึ่งที่พวกเราทราบดีจากการที่มีนักการเมืองมาติดต่อก็คือเงื่อนไขของการแบ่งเขตเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่ผู้สมัครคนนั้นต้องการ
เพราะฉะนั้นหากมีการแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จสิ้น พรรคประชาธิปัตย์จะตรวจสอบการแบ่งเขตเลือกตั้งว่า เป็นไปตาม 3 แบบที่ กกต. เสนอตั้งแต่แรกหรือไม่ หากไม่ได้เป็นไปตามนั้นแสดงว่า กกต. ถูกแทรกแซงจาก คสช. ในขั้นตอนการแบ่งเขตเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว
นายธนา กล่าวอีกว่า ขณะนี้ กกต. ได้ขยายเวลาในการรับสมัครผู้อำนวยการ และ กรรมการประจำเขตเลือกตั้ง จากเดิมกำหนดไว้ว่า วันที่ 19 ถึง 23 พฤศจิกายน 2561 แต่ว่าเนื่องจากมีการขยายเวลาแบ่งเขตเลือกตั้ง จึงต้องขยายเวลาสำหรับการรับสมัครกับบุคคล ดังกล่าวด้วย
หากการดำเนินการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ตามที่ คสช. และ กกต. ได้ยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าสามารถจัดการเลือกตั้งได้ แสดงให้เห็นว่าคำสั่ง คสช. ที่ 16 / 2561 นั้น เป็นคำสั่งที่จะทำให้การเลือกตั้งนั้นขยายเวลาออกไป
ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ คำสั่ง คสช. 16 / 2561 ตามมาตรา 44 เป็นคำสั่งสุดท้ายในรัฐบาลนี้ เพราะขบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการดำเนินการเลือกตั้งนั้น คสช. เป็นผู้กำหนดเองทั้งสิ้น ผ่านแม่น้ำ 5 สายไม่ว่าจะเป็น คสช. รัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ จึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่โรดแม็ปไม่สามารถเดินหน้าได้ เพราะทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุม คสช.
เพราะฉะนั้นหาก คสช. ยังดำเนินการในลักษณะเหมือนที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนมีความหวาดระแวงว่า คสช. ก็ไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลเดิมๆ ที่ถูกคณะรัฐประหารยึดอำนาจมา เนื่องจากในรัฐบาลที่ผ่านมานั้นคำนึงถึงประโยชน์ของตัวเอง และ พวกพ้องมากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ หาก คสช. ยังมีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจะส่อให้เห็นถึงความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน และท้ายที่สุด ตนเชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจถึงการดำเนินการของ คสช. ที่ผ่านมาทั้งหมด เพราะฉะนั้นขอเรียกร้องว่าคำสั่ง คสช. ที่ 16 / 2561 ขอให้เป็นคำสั่งสุดท้ายในรัฐบาลนี้
“พรรคประชาธิปัตย์ขอเรียกร้องให้ กกต. ยืนหยัดต่อสู้กับอำนาจที่จะเข้ามาแทรกแซงกระบวนการการเลือกตั้ง นับตั้งแต่บัดนี้ไปจนประกาศผลเลือกตั้งได้ เพราะถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุด หาก กกต. ไม่สามารถเป็นที่ยอมรับให้กับประชาชนได้ ท้ายที่สุดการเลือกตั้งครั้งนี้ก็จะสูญเปล่า และอาจทำให้ประเทศกลับสู่วงจรของความขัดแย้งอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นห่วงมาก วันนี้จึงขอสื่อสารปัญหาเหล่านี้ให้ไปถึง คสช. และ กกต. เพราะมิฉะนั้นแล้วความขัดแย้งก็จะกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งหนึ่ง แม้จะมีการเลือกตั้งก็ตาม” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวย้ำ
'พลภูมิ' จี้ กกต.อย่ายอมให้ใครมาครอบงำ
นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีต สส. กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี คสช. ออกคำสั่งขยายเวลาแบ่งเขตเลือกตั้งเช่นเดียวกัน โดยระบุว่า การออกคำสั่งดังกล่าวไม่มีความจำเป็น เพราะการแบ่งเขตของ กกต.มีการส่งรูปแบบการแบ่งเขตแต่ละจังหวัด ได้เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นแล้ว มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และทราบว่ากกต.เตรียมส่งเรื่องการแบ่งเขตให้รัฐบาลประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
แต่การใช้ ม.44 ของ คสช.ทำให้งานของ กกต.สะดุดหยุดลง ต้องดึงการแบ่งเขตเลือกตั้งมาพิจารณาใหม่ แบบนี้ส่อนัยบางอย่างว่าอาจมีการเข้ามาแทรกแซงการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. และการให้ กกต.มีอำนาจในการตัดสินใจ ถือเป็นเรื่องน่าห่วงว่าจะมีใครมาครอบงำ กกต.หรือไม่ จึงต้องตั้งข้อสังเกตว่า ใครกันแน่ที่ไม่พร้อมกับการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ กกต.ทำไว้
"การทำเช่นนี้ต้องการให้ กกต.เคาะเพื่อให้ใครพร้อมที่สุดหรือไม่ สัญญาณของการเข้ามาควบคุมจัดการเลือกตั้ง ของคสช.ที่บอกว่าตัวเองเป็นคนกลาง แต่กลับมีคนในมือเป็นผู้เล่นด้วย ดูจะไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับการเลือกตั้งที่เป็นธรรมได้เลย จึงขอเรียกร้องไปยัง กกต. ขอให้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาเที่ยงธรรม อย่ายอมให้อำนาจ หรือกลุ่มใดเข้ามาครอบงำขอให้ กกต.จัดการเลือกตั้งครั้งนี้ให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมเพื่อให้เกิดการยอมรับจากทุกๆ ฝ่ายด้วยดี"
เครือข่ายประชาชนเรียกร้อง 'กกต' แสดงความกล้าหาญ
มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ออกแถลงการณ์สนับสนุนให้ กกต.มีความกล้าหาญที่จะ ทำงานด้วยความเที่ยงตรงเป็นธรรม พร้อมย้ำว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งต้องกระทำโดยอิสระและปราศจากการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจรัฐ เนื่องจากการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 'จุดเริ่มต้น' ของกระบวนการเลือกตั้งที่นำไปสู่การเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม โดยพื้นฐานของการดำเนินการคือ เพื่อให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทราบถึงพื้นที่ที่ตนจะสมัครเป็นตัวแทนของประชาชนจะได้มีการเตรียมการแนะนำตัวหาเสียงได้ตรงกับพื้นที่
การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ตรงไปตรงมา จึงไม่มีหลักการใดที่ซับซ้อน คือ การยึดหลักตัวเลขประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ใกล้เคียงกัน การไม่แบ่งพื้นที่เขตปกครองหากไม่จำเป็น การคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางไปใช้สิทธิ์ และการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว
เนื้อหาในแถลงการณ์ของพีเน็ตระบุว่า จากประสบการณ์การจัดการเลือกตั้งมามากกว่า 20 ปีของเจ้าหน้าที่ กกต. กอปรกับความเป็นมืออาชีพที่ดำเนินการด้วยความเป็นกลาง และการสั่งการให้มีการเตรียมการในเรื่องดังกล่าวมาเป็นปี ย่อมทำให้การแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. เป็นการแบ่งเขตที่ดีและก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย การที่ คสช.ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/1561 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 ให้ กกต.ทบทวนการแบ่งเขตใหม่หากได้รับการร้องเรียนของประชาชนหรือพรรคการเมืองผ่าน ครม.หรือ คสช. ในจังหวะเวลาที่ กกต.มีการแบ่งเขตเป็นไปตามกฎระเบียบเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น "ถือเป็นการใช้อำนาจรัฐแทรกแซงองค์กรอิสระ"
การกำหนดให้การแบ่งเขตใหม่สามารถทำได้โดยอิสระ ไม่จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ถือเป็นคำสั่งที่สุ่มเสี่ยงกับการแบ่งเขตที่ไม่เป็นธรรม นำไปสู่ความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมือง มีแนวโน้มที่พรรคที่สนับสนุนรัฐบาลทหารอาจมีความได้เปรียบจากการดำเนินการดังกล่าว และนำไปสู่ผลการเลือกตั้งที่ไม่สามารถสร้างการยอมรับของคนในสังคม
เครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง (พีเน็ต) มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ขอประกาศสนับสนุนการแบ่งเขตของ กกต.อย่างเป็นอิสระ ต้องไม่ปฏิเสธการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการสั่งการของผู้มีอำนาจรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อมในทุกกรณี และพร้อมที่จะเป็นจุดรวมในการรับข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลต่อสังคมหากมีการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: