เลขาธิการของคณะกรรมการรางวัลโนเบลให้เหตุผลที่ไม่สามารถยึดรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพคืนจากอองซานซูจี มุขมนตรีแห่งเมียนมาได้ เนื่องจากการมอบรางวัลโนเบล ไม่ว่าจะเป็นในสาขาวิทยาศาสตร์ วรรณกรรม หรือ สันติภาพ เป็นการให้รางวัลต่อผลของความพยายามในอดีต ซึ่งการที่อองซานซูจีได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี 1991 ก็เป็นผลมาจาการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพในเมียนมาก่อนหน้านั้น นอกจากนี้แล้ว คณะกรรมการรางวัลโนเบล ก็ไม่มีกฎระเบียบที่จะยึดรางวัลคืนกลับมาจากผู้ที่เคยได้รับรางวัล
เมื่อปีที่แล้ว ประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบล ก็เคยออกมายืนยันว่าจะไม่ยึดรางวัลโนเบลคืนจากอองซานซูจี ต่อกรณีการกวาดล้างชาวโรฮิงญาในเมียนมา โดยให้เหตุผลว่า ไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการรางวัลโนเบล ที่จะไปตรวจสอบหรือควบคุมการกระทำของผู้อื่นหลังจากที่เขาได้รับรางวัลโนเบลไปแล้ว มันเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ที่ได้รับรางวัลที่จะต้องปกป้องเกียรติและชื่อเสียงของตัวเองหลังจากที่ได้รางวัลไปแล้ว
อองซานซูจี ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเธอเพิกเฉยต่อสถานการณ์กวาดล้างชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่ของเมียนมา จนชาวโรฮิงญาหลายแสนคนต้องลี้ภัยเข้าไปอยู่ในบังกลาเทศ ซึ่งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส สวีเดน เรียกร้องให้เอาผิดผู้นำทหารของเมียนมา โดยขอให้ส่งกรณีเมียนมาเข้าสู่การไต่สวนของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือคณะตุลาการเฉพาะกิจ เนื่องจากมีการระบุว่า กองทัพเมียนมา ภายใต้การนำของผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย และนายทหารอีกหลายนาย ปฏิบัติโหดร้ายทารุณต่อชาวโรฮิงยา เช่น สังหารหมู่ ข่มขืน ส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยมุสลิมเหล่านี้หลบหนีไปยังบังกลาเทศกว่า 700,000 คนเมื่อปีที่แล้ว
ภาพ: AFP