ไม่พบผลการค้นหา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หารือผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ 5 บริษัท หามาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางตามที่นายกฯ สั่งการ เตรียมเสนอแนวทางให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังหารือร่วมกับ 5 บริษัทเอกชนผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของประเทศ ได้แก่ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด(มหาชน), บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด, บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน), บริษัท ยางไทยปักษ์ใต้, และบริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด ว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาราคายางพารา ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หามาตรการแก้ไขยางพาราตกต่ำโดยเร่งด่วนภายใน 7 วัน โดยที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันในมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง ดังนี้ 

1. โครงการเสริมความเข้มแข็งของเกษตรกรชาวสวนยาง โดยให้ กยท.ไปพิจารณาจำนวนเงินสนับสนุน โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้กับ กยท. เบื้องต้นไม่ต่ำกว่าเดิมคือ 15 ไร่ ไร่ละ 1,500 บาทเพื่อพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้ให้ชาวสวนยาง 

2. โครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง โดย กยท.กำหนดราคายางขั้นต่ำ 3 ชนิด ได้แก่ น้ำยางสด ไม่ต่ำกว่า กก. ละ 37 บาท ยางก้อนถ้วยไม่ต่ำกว่า กก. ละ 35 บาท และยางแผ่นรมควัน ไม่ต่ำกกว่า กก.ละ 40 บาท หากขายให้สถาบันเกษตรกรแล้วได้ราคาต่ำกว่าที่ประกาศไว้ ให้ใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์สวนยางช่วยเหลือรายบุคคล กก.ละ 2-3 บาท นอกจากนี้ บริษัทผู้ส่งออกได้แสดงความจำนงให้ความร่วมมือ โดยช่วงระหว่างรอ ครม.พิจารณาโครงการฯ จะช่วยรับซื้อยางเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางไม่ให้ต่ำกว่าราคาที่กำหนดโดยจะเริ่มตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป 

3. ทบทวนข้อกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างในการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ เพื่อทำถนน เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบราคากันกับแอสฟัลท์ติกแล้วยางพารามีราคาสูงกว่า แต่คงทน


“กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีให้เห็นชอบอีกแนวทางคือ ให้กยท.เป็นผู้ดูแลการผลิตเครื่องอุปกรณ์ให้กับส่วนราชการ อาทิ โรงพยาบาล โรงเรียน ซึ่งขณะนี้กำลังสำรวจจำนวนความต้องการจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงกลาโหม จากนั้นมอบหมาย กยท. ติดต่อซื้อน้ำยางสดมาผลิตแจกจ่ายให้ทั้ง 4 หน่วยงาน เพื่อช่วยดูดซับปริมาณยางในประเทศได้” รมว.เกษตรฯ กล่าว


ทั้งนี้ ประเทศไทยผลิตยางพาราได้ปีละ 4.5 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้ใช้ในประเทศ 5 แสนตัน และส่งออก 4 ล้านตัน ประกอบกับปัจจุบันกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจ บางประเทศมีปัญหาการค้า ทำให้การส่งออกยางพาราไม่สามารถส่งออกได้มาก ดังนั้นต้องขยายฐานการแปรรูปการใช้ยางพาราในประเทศ จึงได้เชิญบริษัทผู้ประกอบการยางเข้ามาเจรจา ขอให้ขยายฐานการผลิตและแปรรูปน้ำยางในไทยโดยตรง ตลอดจนขอความร่วมมือกับเกษตรกรให้ลดปริมาณการปลูกยางไปปลูกพืชตัวอื่นอีกด้วย