ไม่พบผลการค้นหา
รมว.อุตสาหกรรมของไทยร่วมประชุมนานาชาติที่ญี่ปุ่น ย้ำไทยพร้อมเปิดรับทุนต่างชาติ รวมถึงจีน แต่ยังต้องระวังโครงการขนาดใหญ่ ไม่ให้ติดกับดักหนี้เหมือนประเทศอื่นๆ พร้อมปรับปรุงระบบการศึกษา สร้างบุคลากรคุณภาพ หนุนสถาบันเอเชียสู้ตะวันตก

นิกเกอิ เอเชียน รีวิว สื่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่น รายงานว่า นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมกล่าวปาฐกถาในการประชุมนานาชาติ เรื่อง 'อนาคตแห่งเอเชีย 2018' ซึ่งจัดที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 11-12 มิ.ย. โดยนายอุตตม ระบุว่า ไทยเปิดกว้างพร้อมเจรจากับกลุ่มทุนเอกชนต่างชาติ รวมถึงจีน ทั้งยังเปรียบเทียบว่าจีนคล้ายญี่ปุ่นตรงที่เป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยี และไทยจะสามารถเรียนรู้ในหลายด้านจากทั้งสองประเทศได้

นายอุตตมได้ยกตัวอย่างความร่วมมือไทย-จีน ที่จะผลักดันให้เกิดเมืองอัจฉริยะในโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมไฮเทค เช่น ชีวเคมี ปิโตรเคมี เครื่องจักรกล หุ่นยนต์ รวมถึงอากาศยาน ทั้งยังมีแผนที่จะเชื่อมต่อระบบโครงสร้างคมนาคมพื้นฐานระหว่างไทย-จีน ไปถึงประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม

นิกเกอิฯ รายงานว่านายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมถึงการพัฒนาภายใต้แผนอีอีซี จะช่วยเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนจากจีนและญี่ปุ่นสามารถร่วมงานกันได้ โดยมีไทยเป็นตัวกลาง แต่สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นให้ได้ คือ การปรับปรุงระบบการศึกษาที่จะพัฒนาบุคลากรมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเหล่านี้ โดยคาดหวังว่าหากในอนาคต สถาบันการศึกษาในเอเชียได้รับการพัฒนาทัดเทียมโลกตะวันตก จะช่วยให้นักศึกษาในเอเชียไม่ต้องเดินทางไปถึงยุโรปหรือสหรัฐฯ และนักเรียนจากที่อื่นๆ ทั่วโลก จะหันมาศึกษาต่อที่เอเชียกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายอุตตมยอมรับว่า การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องการเงินจากจีน เพื่อป้องกันไม่ให้ไทย 'ติดกับดักหนี้' ซึ่งเขายกตัวอย่างด้วยว่า ไทยจะต้องไม่เป็นอย่าง 'ปากีสถาน'

กี่ประเทศเสี่ยงติดกับดักหนี้จีน?

ก่อนหน้านี้ วอยซ์ออฟอเมริกา หรือ VOA เคยรายงานว่าจีนกำลังให้เงินทุนและความช่วยเหลือด้านการก่อสร้างแก่รัฐบาลปากีสถานในโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน หรือ CPEC ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างสาธารณูปโภคและโครงสร้างเส้นทางเชื่อมโยงต่างๆ รวมเป็นะเวลา 15 ปี โดยหนึ่งโครงการที่สำคัญ คือ โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกกวาดาร์ ซึ่งอยู่ในเมืองกวาดาร์ เมืองท่าในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถาน ติดกับทะเลอาหรับ

พาณิชย์มั่นใจ One Belt One Road ไทยไม่เสียเปรียบ 

หากโครงการท่าเรือกวาดาร์สำเร็จลุล่วง เมืองท่าดังกล่าวจะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทะเลที่สำคัญของปากีสถาน โดยสามารถเชื่อมต่อระหว่างสามภูมิภาคที่สำคัญของโลก คือ ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และเอเชียใต้ และคาดว่าจะสามารถรองรับสินค้าได้มากกว่าหนึ่งล้านตันในแต่ละปี

อย่างไรก็ตาม นิกเกอิฯ เคยประเมินว่า โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน มีประเด็นที่น่าสนใจและต้องเฝ้าระวังควบคู่กัน เพราะนอกเหนือจากการสร้างท่าเรือกวาดาร์ จีนยังมีแผนจะสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้า สนามบิน ทางรถไฟ และทางด่วน เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ของจีน ที่ต้องการจะเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ประเด็นที่นักวิเคราะห์มองว่าปากีสถานอาจจะเสียเปรียบก็คือ การลงทุนก่อสร้างสาธารณูปโภคและระบบโครงสร้างพื้นฐานในกวาดาร์ มีเป้าหมายเพื่อรองรับประชากรราว 1,000 คน ซึ่งมากกว่าครึ่งจะเป็นชาวจีนที่มาทำงานในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนโครงการท่าเรือน้ำลึกกวาดาร์ก็มีประโยชน์ทางภูมิศาสตร์กับจีนมากกว่าปากีสถาน เพราะจะช่วยให้จีนนำเรือขนส่งน้ำมันหรือสินค้าอื่นๆ จากอ่าวเปอร์เซียมาเทียบยังท่าเรือดังกล่าว ก่อนจะขนส่งสินค้าทางบกเชื่อมไปยังภาคตะวันตกของจีน ช่วยประหยัดเวลาและย่นระยะทางการเดินเรือ ไม่ต้องเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา

ส่วนประเทศอื่นๆ ที่เปิดให้ภาคเอกชนและภาครัฐของจีนเข้าไปลงทุนและร่วมมือในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น ลาว อินโดนีเซีย ศรีลังกา หรือเมียนมา ก็ประสบปัญหาต่างๆ ระหว่างดำเนินการ เพราะมีกรณีพิพาทหรือข้อขัดแย้งต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น การสำรวจและประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดำเนินโครงการไม่โปร่งใส ไม่เปิดให้ประชากรในท้องถิ่นมีส่วนร่วมรับรู้หรือตัดสินใจ การชดเชยเยียวยาไม่เป็นธรรม และเมื่อการดำเนินการล่าช้าก็จะส่งผลกระทบต่อดอกเบี้ยและภาระหนี้ของแต่ละประเทศที่จะเพิ่มสูงขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: