ส่วนสำคัญของเทคโนโลยีสำหรับผู้พิการคือ การทำให้สามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือของผู้อื่น เพราะนั่นคือการคืนอิสรภาพให้กับผู้ใช้งานอีกครั้ง
ปัจจุบัน เทคโนโลยีที่เข้ามาสนับสนุนผู้พิการในลักษณะต่างๆ มีการพัฒนามากขึ้น Voice On Being จึงอยากจะชวนไปสำรวจเทรนด์เทคโนโลยีหลากประเภทที่อาจเป็นโอกาสสำหรับผู้พิการในอนาคต
คาเฟ่ดอว์น เวอร์ชันเบตา (Dawn ver.β) ณ แขวงมินาโตะ กรุงโตเกียว มีการให้ผู้ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงใช้หุ่นยนต์โอริฮิเมะ-ดี (OriHime-D) ทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟจากที่บ้านได้ โดยหุ่นยนต์สูง 1.2 เมตร จำนวนห้าตัวนี้ จะรับภาพและเสียงแล้วส่งสัญญาณผ่านอินเทอร์เน็ตไปยังผู้ควบคุม ทำให้ผู้ป่วยที่ไม่สามารถขยับร่างกายได้ด้วยตัวเอง สามารถทำงานได้ด้วยร่างของหุ่นยนต์ โดยคาเฟ่แห่งนี้ได้มีการทดลองให้บริการในวันจันทร์ที่ผ่านมา และจะเปิดทำการจริงในวันที่ 7 ธันวาคม 2561
นอกจากนี้ กวิตา กฤษณะสวามี (Kavita Krishnaswamy) นักศึกษามหาวิทยาลัยแมริแลนด์ วัย 35 ปี พิการเป็นโรคกล้ามเนื้อฝ่อจากไขสันหลัง ทำให้ขยับร่างกายได้เพียงกล้ามเนื้อบริเวณมือขวาเล็กน้อย แต่หุ่นบีม (Beam) ทำให้เธอสามารถเข้าเรียนและนำเสนอวิทยานิพนธ์จากบ้านได้ โดยหุ่นเธอบังคับหุ่นบีมให้เคลื่อนที่ด้วยการใช้มือขวาบังคับเมาส์ลูกกลิ้ง และสื่อสารกับผู้อื่นผ่านกล้องสองทางคล้ายการคอลวิดีโอกันจากระยะไกล
อวัยวะทดแทนอย่างแขนหุ่นยนต์มักจะใช้สำหรับผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาตบางส่วน หรือไม่สามารถใช้อวัยวะของตัวเองได้อย่างที่ควรด้วยเหตุผลอื่นๆ ก็จะมีเครื่องมืออย่าง จาโค (JACO) วีลแชร์อิเล็กทรอนิกพร้อมแขนหุ่นยนต์เอนกประสงค์ที่ช่วยในการหยิบ จับ ถือสิ่งของ
นอกจากนี้ยังมีอวัยวะทดแทนที่ทำหน้าที่จำเพาะอย่างอย่างโอบิ (Obi) หุ่นยนต์ตั้งโต๊ะซึ่งทำหน้าที่ตักอาหารจากถาดหลุมทั้งสี่มาให้ผู้ใช้งาน โดยสามารถควบคุมได้ด้วยปุ่มสองปุ่ม ปุ่มหนึ่งใช้เปลี่ยนไปตักอาหารในหลุมอื่น ส่วนอีกปุ่มจะนำอาหารเข้ามาป้อน สามารถบังคับได้ง่ายโดยการกดปุ่มด้วยมือหรือเท้า ทำให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องมีคนป้อน
นอกจากแขนเทียมหรือขาเทียมแบบที่เราคุ้นเคยกันตามปกติ เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทก็ทำให้อวัยวะเทียมสามารถขยับได้หรือใช้งานได้ง่ายมากขึ้น โดยมีทั้งลักษณะที่ควบคุมด้วยแอปพลิเคชันอย่างทัช ไบโอนิกส์ (Touch Bionics) แขนกลที่ปรับท่าทางการขยับสำหรับการใช้งานที่ต่างกันด้วยการป้อนคำสั่งลงในแอปฯ
ไปจนถึงแขนเทียมบีไบโอนิก (bebionic) ที่อาศัยการอ่านสัญญาณไฟฟ้าในกล้ามเนื้อจากผิวกล้ามเนื้อที่เหลืออยู่ ทำให้ดูเหมือนแขนที่ขยับตามความคิดของผู้ใช้ได้
สำหรับผู้ที่ขาพิการนั้น นอกจากจะมีขาเทียมที่ใช้เทคโนโลยีในลักษณะเดียวกับแขนเทียมแล้ว อีกแนวทางหนึ่งที่พบมากคือโครงกระดูกภายนอก (Exoskeleton) อย่างรีวอล์ก (ReWalk) ที่ช่วยพยุงร่างกายของผู้ที่ขาพิการไว้และช่วยให้เดินได้ด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้าให้กลไกที่พยุงขานั้นเคลื่อนที่
ผู้บกพร่องทางการมองเห็นบางรายนั้น ไม่ได้สูญเสียความสามารถในการรับรู้ไปทั้งหมด มีการประมาณการว่าราว 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้พิการทางสายตายังคงสามารถรับรู้ด้วยตาได้ โดยอาจจะเป็นแสงหรือเงา แว่นปริซึมอ๊อกไซต์ (OxSight) ใช้เทคโนโลยีการสร้างภาพเสมือน (AR) จะไฮไลท์เส้นขอบของวัตถุ และแยกวัตถุที่อยู่ใกล้ออกจากวัตถุที่อยู่ไกล ทำให้ผู้ที่สูญเสียสายตาไปสามารถมองเห็นโครงร่างของสิ่งต่างๆ ได้ รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน โดยสามารถปรับได้ว่าจะให้แว่นเน้นการแสดงผลอะไร อย่างการแสดงสีหรือเร่งระดับความต่างของแสงเงาให้เห็นรูปร่างของวัตถุชัดขึ้น
สำหรับรายที่ตาบอดสนิทนั้นก็มีแว่นตาส่งเสียงอย่างออร์แคม มายอาย (OrCam MyEye) ที่เป็นเหมือนแว่นสายตาที่มีกล้องขนาดเล็กติดอยู่ เมื่อผู้สวมชี้นิ้วไปยังวัตถุชิ้นไหน หรือคำๆ ใดบนกระดาษหรือป้าย แว่นที่ประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ก็จะอ่านออกเสียงมา โดยแว่นสามารถจดจำวัตถุ ตัวอักษร รวมถึงหน้าบุคคลได้ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันอย่าง ไอโพลีวิชชัน (Aipoly Vision) ที่สามารถสส่องกล้องไปยังวัตถุให้แอปฯ อ่านออกเสียงบอกว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคืออะไร แม้จะยังไม่สมบูรณ์ดีนักก็ตาม
สำหรับผู้พิการทางการได้ยินเองก็มีอุปกรณ์อย่างยูนิ (UNI) เครื่องแปลภาษามือให้กลายเป็นข้อความบนแท็บเล็ตพิเศษ ทำให้สื่อสารได้อย่างรวดเร็ว พร้อมสามารถจับเสียงของคู่สนทนาแล้วแปรเป็นข้อความให้ผู้พิการทางการได้ยินอ่านได้ ผู้ใช้ภาษามือและภาษาพูดจึงสามารถสื่อสารกันได้ทันที
ที่มา: