ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากเกิดกรณีสถานีโทรทัศน์ช่อง 28 SD สั่งพักงานแชมป์ - พีรพล พิธีกรรายการกีฬาอย่างไม่มีกำหนดเหตุพูดวิจารณ์ผู้นำประเทศตุรกี ทำให้โลกโซเชียลเสียงแตกบอกว่าการวิจารณ์ผู้นำตุรกีทำได้ เพราะเป็นบุคคลสาธารณะ ส่วนอีกฝั่งยกจรรยาบรรณสื่อสากล 23 ข้อมาโพสต์ไว้ใต้ข่าวในเพจช่อง 3

ตั้งแต่เกิดข่าวเรื่องที่กลุ่มชาวมุสลิมแสดงความไม่พอใจที่นายพีรพล เอื้ออารียกูล หรือ แชมป์ พิธีกรายการกีฬาทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 28 SD พูดวิจารณ์นายเรเจป ทายยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ว่าเป็นเผด็จการคนในประเทศไม่ชื่นชอบเท่าไหร่ ทำให้เกิดกระแสตีกลับในกลุ่มชาวมุสลิมที่เล่นโซเชียลว่านายพีรพลแสดงความไม่เหมาะสม ให้ข้อมูลที่ผิดกับผู้ชม และขอให้เกียรติผู้นำประเทศด้วย

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางตัวแทนสถานีโทรทัศน์ช่อง 28 SD และนายพีรพล เดินทางเข้าพบเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกี ประจำประเทศไทย เพื่อแสดงความเสียใจและขออภัยที่พาดพิงถึงผู้นำประเทศโดยใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม พร้อมลงโทษนายพีรพลด้วยการห้ามปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับรายการของทางสถานีอย่างไม่มีกำหนด

ด้านนายพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวตั้งคำถามว่า กรณี "ช่อง 3 ขอโทษ ปธน.ตุรกี กับ ถอด แชมป์ - พีรพล ทุกรายการ เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก freedom of expression และเสรีภาพของสื่อ press freedom หรือไม่ 

"และการตัดสินว่าสื่อทำหน้าที่ดีหรือไม่ ไม่ควรตัดสินจากการที่เขาพูดแล้วทำให้มีคนโกรธ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าเออร์โดกันนั้นเป็นพวกขี้โกรธและช่างฟ้อง เฉพาะในปี 2559 ปีเดียว กระทรวงยุติธรรมตุรกี แถลงว่า ได้ออกหมายจับบุคคลในข้อหาหมิ่นประมาท ปธน.มากถึงเกือบ 2,000 ราย (https://bit.ly/2v4oAoQ) เรียกว่าขยันฟ้องคนที่ด่าตัวเองมาก นี่ยังไม่นับกฎหมายอีกมากมายที่ปิดกั้นสื่อ การใช้อำนาจฝ่ายบริหารสั่งปิดสื่อเป็นร้อย ๆ แห่ง ฯลฯ

"การเป็น “public figure” แต่ไม่อดทนกับคำด่า + คำวิจารณ์นี่เอง ทำให้คนมองว่าเออร์โดกันเป็น “เผด็จการ” แบบที่แชมป์ว่า

ในเยอรมนี มีกรณีที่คล้ายคลึงกันคือ ยัน เบอเมอร์มัน (Jan Böhmermann) คอมเมเดียนที่ได้อ่านบทกวีล้อเลียนเสียดสีเออร์โดกันออกอากาศทางทีวีเยอรมัน เมื่อ มี.ค. 2559 รบ.ตุรกีกดดันให้ทางการเยอรมันสอบสวนเรื่องนี้ และแจ้งข้อหาอาญาต่อนายเบอเมอร์มัน ฐานหมิ่นประมาทประมุขต่างชาติ ใช้อำนาจตามกฎหมายโบราณตั้งแต่ปี พ.ศ. 2414 ต่อมารัฐบาลเยอรมันยอมให้อัยการสอบเรื่องนี้ (การฟ้องคดีอาญาต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเยอรมัน) ทำให้แมร์เกิลถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า ไม่ปกป้อง “press freedom”

"อย่างไรก็ดี สุดท้ายอัยการเยอรมันมีความเห็นไม่สั่งฟ้องอาญาต่อนายเบอเมอร์มัน โดยเห็นว่าเป็นการแสดงความเห็นเสียดสี แต่ไม่ถึงขั้นมีเจตนาในการดูหมิ่น แต่เออร์โดกันฟ้องเขาทางแพ่งด้วย แต่ศาลไม่ได้ลงโทษนายเบอเมอร์ เพียงแต่สั่งไม่ให้อ่านบทวีชิ้นนี้อีก (เฉพาะ 18 จาก 24 บรรทัด อ่านไม่ได้)" 

ประเด็นการวิจารณ์เออร์โดกัน ตัวนายพิภพเห็นว่าสามารถทำได้ เพราะเขาเป็นบุคคลสาธารณะ

"ผิดถูกอย่างไร ตัดสินกันตรงนั้น ไม่ใช่ตัดสินจากแค่ว่ามันทำให้คนที่ถูกวิจารณ์โกรธ ถ้าจะไม่ให้คนโกรธ แล้วจะวิจารณ์ทำไม จึงเป็นที่น่าเสียดายว่า ในบรรดาพี่น้องมุสลิมเท่าที่ผมเจอ แม้จะก้าวหน้าแค่ไหนก็เคารพเออร์โดกันราวกับ “เทวรูป” มันเป็น “idolatry” ซึ่งความจริงขัดกับหลักศาสนาของตัวเองแท้ ๆ เห็นว่า “แชมป์” โดนพวกมุสลิมทุกระดับวิจารณ์ยับ นับว่าน่าเสียดายว่า ความคิดของอิสลามกับโลกประชาธิปไตยสมัยใหม่ มีช่องว่างมากมายจริง ๆ"

ส่วนอีกด้านที่แสดงความคิดเห็น มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งนำจรรยาบรรณสื่อสากล 23 ข้อ ไปโพสต์ไว้ใต้ข่าวในเพจ Ch3Thailand มีดังนี้

1. ต้องกระทำตนให้อยู่ในขอบเขตของความเหมาะสมมีกริยาดี (The bounds of decency)

2. ไม่สร้างข่าวขึ้นเอง (Do not attempt to make news)

3. ต้องเสนอข้อเท็จจริงทั้งหมดแก่ผู้รับสาร (The truth and the whole truth)

4. ไม่ก้าวก่ายสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น (Do not to invade the private rights)

5. ไม่บังคับบุคคลให้พูด (Do not to force individuals to speak)

6. ซื่อสัตย์ต่อบุคคลที่ต่อสู้เพื่อสังคม (Play fair with a person against whom derogatory charges)

7. ซื่อสัตย์ต่อบุคคลที่นำมากล่าวถึงในคอลัมน์ (Play fair with persons quoted in its columns)

8. รักษาไว้ซึ่งความลับของแหล่งข่าว (Keep the confidence of its news sources)

9. ไม่ปิดบังอำพรางข่าวที่นำเสนอ (Do not suppress news)

10. ไม่ควรขายข่าว ขายคอลัมน์เพื่อเงิน หรือความพอใจส่วนตัว (Do not "sell" its news colums for money or courtesies)

11. ละเว้นจากการเข้าร่วมพรรคการเมือง (Refrain from allowing party politics)

12. ต้องบริการคนส่วนรวม มิใช่บริการคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (Serve the whole society, not just one "class")

13. ช่วยต่อสู้และปราบปรามอาชญากร (Fight and discourage crime)

14. ต้องเคารพ และช่วยผดุงกฏหมายบ้านเมือง (Must respect and aid the law and the courts)

15. สร้างความสัมพันธ์อันดีแก่ชุมชน (Seek to build its community)

16. ไม่ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างญาติและเพื่อนของผู้อื่น (Not injure the relatives and friends)

17. คำนึงว่าการหย่าร้าง การฆ่าตัวตายนั้น เป็นปัญหาสังคมสิ่งหนึ่งไม่ควรเสนอข่าวไปในเชิงไม่สุภาพ

(To recognize divorce, suicide as an unfortunate social problem)

18. อย่ากล่าวโจมตีคู่แข่ง (Do not attack on competitive)

19. อย่าหัวเราะเยาะความวิกลจริต จิตทราม หรือพลาดโอกาสของบุคคล (Do not ridicule the insane or the feebleminded or misfortunes)

20. เคารพนับถือวัด โบสถ์ เชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ของบุคคล (Respect churches, nationalities and races)

21. หน้ากีฬาควรเขียนถึงทุกๆ คน (Sports page is written for everybody)

22. แก้ไขข้อผิดพลาดที่พบในทันที (Be prompt in correcting errors)

23. จำไว้ว่าข่าวที่นำเสนอนั้น มีเยาวชนชายหญิงอ่านด้วย (Remember that the new is read by young boys and girls)

และมีบางส่วนที่แสดงความเห็นว่า บางที่การเป็นผู้สื่อข่าวอาจต้องพิจารณาหลายๆ อย่างก่อนที่จะนำเสนอเนื้อหาไม่ใช่พูดเอาสนุกเท่านั้น อีกทั้งความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารที่จะนำเสนออกไปก็เป็นเรื่องสำคัญในยุคนี้เช่นกัน

บรรยากาศเสรีภาพในตุรกี นักข่าวถูกคุมขังมากที่สุดในโลก

Committee for Protection of Journalists หรือซีพีเจ ที่ได้ออกรายงานว่าสถิติในปี 2017 ตุรกีมีนักข่าวที่ถูกคุมขังมากที่สุดในโลกคือ 73 คน ขณะที่จีนอันดับสองมี 40 คน

ด้านบรรยากาศการเมืองในตุรกีนั้น ในเดือนกรกฏาคมเดือนเดียวรัฐบาลตุรกีสั่งปลดเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 18,000 คน โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย ถือเป็นความพยายามปราบปรามคนเห็นต่างครั้งใหญ่ หลังปลดเจ้าหน้าที่ไปกว่าแสนคนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ตุรกีอยู่ภายในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2559 หลังมีความพยายามจะรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของนายเรเจป ทายยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้สั่งปลดพนักงานรัฐไปมากกว่า 100,000 คน รวมถึงมีการจับกุม คุมขังเจ้าหน้าที่จำนวนมาก

การสั่งปลดเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากทำให้นายเออร์โดกันถูกวิจารณ์ว่า ฉวยโอกาสจากการรัฐประหารที่ล้มเหลว เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองของตัวเอง โดยมุ่งเป้าปราบปรามผู้สนับสนุนนายโมฮัมเหม็ด เฟธุลลาห์ ยูเลน ผู้ลี้ภัยชาวตุรกีในสหรัฐฯ แม้นายยูเลนจะปฏิเสธว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารครั้งนั้นที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 230 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง