นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่าจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ขยายตัวไปในวงกว้าง ต้องยอมรับว่าหนึ่งในกลุ่มของผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีวิตมากที่สุด ก็คือ กลุ่มแรงงานนอกระบบประกันสังคม ซึ่งประกอบไปด้วย แรงงานรับจ้างทั่วไป ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานรายวัน พ่อค้าแม่ขาย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เพราะประชาชนเหล่านี้ เมื่อไม่มีงาน ซึ่งเป็นผลกระทบจากการปิดห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง และสถานประกอบการบางแห่ง คนในกลุ่มนี้ก็จะขาดรายได้ ในการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง พรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับมาตรการของรัฐฐบาลในการเยียวยาแรงงานนอกระบบรายละ 5,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือน จำนวน 3 ล้านคนในวงเงิน 45,000 ล้านบาท
นายวิโรจน์ ระบุว่า ประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตคือ วงเงินงบประมาณ 45,000 ล้านบาทนั้นอาจจะไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มแรงงานนอกระบบได้อย่างเพียงพอ หากพิจารณาจากข้อมูลจำนวนแรงงานทั้งหมดในปัจจุบันที่มีอยู่ 38.4 ล้านคน มีแรงงานอกระบบอยู่ทั้งสิ้น 18.7 ล้านคน โดยแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากโควิด-19 ก็คือ แรงงานนอกระบบในภาคบริการ และภาคการผลิต ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 9.5 ล้านคน และเมื่อรวมกับแรงงานในระบบประกันสังคม ที่ทำประกันตนเองตามมาตรา 39 และมาตรา 40 รวมถึงแรงงานในระบบประกันสังคมในมาตรา 33 ที่ยังส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ซึ่งยังไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองการว่างงาน อีกประมาณ 5 ล้านคนเศษ ทำให้ประชาชนที่ต้องการเยียวยาจะมีทั้งสิ้นประมาณ 14.5 ล้านคน ดังนั้น วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาทที่ใช้เยียวยาประชาชนจำนวน 3 ล้านคนจะเยียวยาประชาชนได้ร้อยละ 20.7 ยังเหลือประชาชนอีก 11.5 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา
โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่า พรรคก้าวไกล ขอเสนอรัฐบาลพิจารณา พ.ร.ก.โอนงบประมาณ จากงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยให้พิจารณาจากทุกๆ รายการที่ไม่ใช่รายจ่ายประจำ เพื่อตัดงบประมาณจากโครงการเหล่านั้นออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ การเกณฑ์ทหาร การจัดอบรมสัมมนาและการจัดงานอีเว้นต์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นสถานที่หนึ่งที่ใช้ในการต่อเรือดำน้ำ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่สามารถส่งมอบเรือดำน้ำได้ทันกำหนดได้ แม้แต่ขบวนการก่อการร้าย ISIS ก็ยังประกาศยุติการก่อการร้าย ดังนั้น งบประมาณการจัดซื้อเรือดำน้ำ ยานเกราะสไตรเกอร์ ปืนใหญ่ เครื่องบินรบ อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณาตัด และโอนย้ายมาใช้ในกิจการสาธารณสุข และใช้เยียวยาแก่ประชาชนก่อน ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่า หากรัฐบาลหารือกับสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางอย่างละเอียด น่าจะสามารถโอนงบประมาณได้ไม่น้อยกว่า 80,000 ล้านบาท
แม้จะโอนงบฯ ดังกล่าวมาได้ก็ยังไม่เพียงพอต่อการรับมือสถานการณ์ พรรคก้าวไกล จึงเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาออก พ.ร.ก.เงินกู้จำนวนทั้งสิ้น 2 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่จะเตรียมความพร้อมด้านการสาธารณสุขได้อย่างเต็มที่ และจัดสรรเงินเยียวยาให้กับประชาชนได้อย่างครอบคลุม เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดจำนวน 14.5 ล้านคน ได้รับความช่วยเหลืออย่างถ้วนหน้า และเป็นธรรม และยังมีเงินเหลือไว้สำหรับการฟื้นฟูเรียกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ในเวลาต่อมา หลังจากรัฐบาลออก พ.ร.ก.เงินกู้ 2แสนล้านบาทแล้ว พรรคก้าวไกลขอเสนอให้รัฐบาลเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อรัฐสภาอนุมัติ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เพื่อจัดสรรงบประมาณในการรับมือกับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ เล็งเห็นผล ที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะมาตรการในการเตรียมความพร้อมด้านการสาธารณสุข และการเยียวยาทางตรงกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ
"การเปิดสมัยประชุมวิสามัญ พรรคก้าวไกล ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เพื่อหารือในการจัดสรรผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อให้มีองค์ประชุมเพียงพอที่จะดำเนินการประชุมได้ โดยที่ไม่หนาแน่นเกินไป จนมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในระหว่างการประชุม พรรคก้าวไกล จึงขอส่งข้อเสนอแนะเชิงสนับสนุน ให้กับรัฐบาลได้พิจารณา และเข้าใจถึงความปรารถนาดีของพรรคก้าวไกล ที่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เพื่อช่วยกันนำพาให้ประชาชนได้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ ไปได้ร่วมกัน" นายวิโรจน์ ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง