นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ นางคริสตาลีนา กอร์เกียว่า กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอ็ม ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนระหว่างการเดินทางมาประเทศไทย โดยก่อนหน้าวันนี้ (5 พ.ย. 2562) กรรมการผู้จัดการ ไอเอ็มเอฟ ได้เข้าพบนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง มาก่อนหน้าแล้ว
นางคริสตาลีนา กอร์เกียว่า กล่าวว่า ไอเอ็มเอฟมองการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนปีนี้ มีอัตราที่ร้อยละ 10 ของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เทียบเท่ากับสหรัฐอเมริกา ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปคิดเป็นร้อยละ 11 ของการเติบโตของโลก ดังนั้น จึงนับได้ว่าอาเซียนมีส่วนสำคัญที่จะช่วยการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
สำหรับการมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ หลังจากไม่ได้มาหลายปี มาครั้งนี้รู้สึกประทับใจในความก้าวหน้าในสำเร็จของประเทศไทย ซึ่งจะเห็นว่าประเทศไทยมีระดับรายได้ของประชากรสูงขึ้น และสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ดี โดยตั้งแต่ปี 2540 พบว่าระดับความยากจนของไทยลดลงจากร้อยละ 67 มาอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 10 และนั่นไม่ได้เป็นเพียงความสำเร็จของคนไทย แต่เป็นความสำเร็จของผู้จัดทำนโยบาย
อีกทั้ง ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ คนไทยมีชีวิตชีวา มีความหลากหลาย แทบไม่ต้องอธิบายถึงความโอบอ้อมอารีของคนไทยเลย
ส่วนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ผ่านมาประเทศอาเซียนถือว่าทำได้ดีมากในความพยายามที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs :Sustainable Development Goals ตามเป้าหมายองค์การสหประชาชาติ (UN) ในการลดความยากจน พัฒนาความเท่าเทียมทางเพศ ส่งเสริมการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพิ่มความแข็งแกร่งด้านการศึกษาและสาธารณสุข
แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง เศรษฐกิจอาเซียนจึงชะลอตัวลงเช่นกัน ดังนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงต้องใช้เครื่องมือด้านนโยบายที่มีในการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ที่สำคัญคือประเทศอาเซียนต้องร่วมมือกันและกระตุ้นการค้าขายระหว่างกัน เพราะเศรษฐกิจของอาเซียนต้องพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งจะเห็นว่าในการประชุม ASEAN Summit 2019 ได้สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือ ซึ่งไม่เพียงแค่ประเทศอาเซียน แต่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียด้วย
อีกทั้ง เป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีสภาวะแวดล้อมที่ดีและให้ความสำคัญกับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน ซึ่งในการประชุม ASEAN Summit 2019 ได้มีการพูดถึงความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) ปัญหาพลาสติก เรื่องขยะในมหาสมุทร และการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน และขอแสดงความยินดีกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่เป็นหนึ่งในธนาคารกลางที่ตอบรับนโยบายเพื่อต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน (Climate change)
พร้อมกันนี้ ยังตอบคำถามของสื่อมวลชนที่ว่า ในสภาวะที่เกิดความไม่แน่นอนขึ้นในโลก บทบาทของไอเอ็มเอฟจะช่วยรักษาเสถียรภาพของอาเซียนและไทยได้อย่างไร นางคริสตาลีนา กล่าวว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกที่เกิดจากความไม่แน่นอน ไม่ได้มีสาเหตุหลักเพียงเรื่องความตึงเครียดด้านสงครามการค้า แต่ยังรวมไปถึงความตึงเครียดจากภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Tension) รวมถึง เบร็กซิต (Brexit) และปัญหาหนี้ที่อยู่ในระดับสูง จนนำไปสู่การชะลอตัวของการลงทุน ส่งผลต่อทำให้เศรษฐกิจชะลอลง
ดังนั้น เพื่อรับมือกับปัญหานี้ ไอเอ็มเอฟแนะนำให้มีการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเวที ASEAN Summit 2019 เป็นตัวอย่างที่ดีของการรวมตัวของผู้นำเข้าด้วยกัน
นอกจากนี้ เรายังแนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังอย่างรอบคอบ และมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เพราะในขณะที่โลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องมีการสร้างความแข็งแรงต่อกัน เพื่อเป็นกันชนรองรับความผันผวน เช่น ธปท. มีเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและผู้มีทักษะทางดิจิทัล ซึ่งจะเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
ด้านนายวิรไท สันติประภพ กล่าวว่า จากมุมมองของสมาชิกประเทศที่ได้รับประโยชน์จากงานของไอเอ็มเอฟมี 2 เรื่อง ได้แก่ หนึ่ง การที่กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟกล่าวถึงหลายครั้งเรื่องการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง จึงขอชื่นชมไอเอ็มเอฟสำหรับคำแนะนำเรื่องการปรับโครงสร้างที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ สอง แน่นอนเราไม่อยากมีวิกฤติใด ๆ ขึ้น แต่เราอาจจะห้ามไม่ให้เกิดได้ ดังนั้นการที่ประเทศไทยมี Social Safety Net (ระบบเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม) ที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ
อีกทั้ง ไอเอ็มเอฟได้ช่วยในการทำงานร่วมกับภูมิภาคอาเซียนให้เกิดขึ้น เช่น ข้อริเริ่มเชียงใหม่ หรือ CMI : Chiang Mai Initiative ซึ่งได้มีการรวมเอาความสามารถด้านการเงินของไอเอ็มเอฟและ Safety Net ของภูมิภาคอาเซียนเข้าด้วยกัน ซึ่งสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้อาเซียนต่อการรองรับความไม่แน่นอนที่จะเข้ามาในอนาคตได้
ขณะที่ นางคริสตาลีนา กล่าวเสริมว่าการช่วยเหลืออีกด้านของไอเอ็มเอฟที่สำคัญอีกอันหนึ่ง คือ การประมาณการความเสี่ยงและทำให้ผู้ออกนโยบายเข้าใจ เพื่อให้สามารถรับมือความเสี่ยงได้อย่างดีที่สุด เช่น ความเสี่ยงจากความตึงเครียดทางการค้า ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะบอกว่ามีความเสี่ยง แต่ที่สำคัญกว่าคือ การประเมินขนาดของความเสี่ยง และนี่คือสิ่งที่ไอเอ็มเอฟได้คำนวณความเสียหายจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ปี 2562 ที่ร้อยละ 3 และปี 2563 ร้อยละ 3.4 ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจอาเซียนจะเติบโตที่ร้อยละ 4.6 และร้อยละ 4.8 ตามลำดับ ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 2.9 และร้อยละ 3 ตามลำดับ