ไม่พบผลการค้นหา
ผศ.ธนวรรธน์ เผย ทุกจีดีพีที่ติดลบ 1% คนไทยจะตกงานราว 5 แสนคน ย้ำ หากยังไม่มีการช่วยเหลือเอกชน โควิดยังไม่คลี่หลาย จีดีพีไทยมีสิทธิติดลบ 9.4% คนว่างงานเฉียด 10 ล้านคน

ในภาพใหญ่ ศัพท์เศรษฐกิจอย่างคำว่า ‘จีดีพี’ หรือ ‘อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ’ หรือ ‘ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ’ มักถูกหยิบขึ้นมาเป็นเครื่องวัดความสามารถว่าเศรษฐกิจประเทศนั้นๆ ในปีนั้นๆ เดินไปข้างหน้าหรือก้าวถอยหลังลงมา

อย่างไรก็ตาม ศัพท์เศรษฐศาสตร์ก็ไม่เคยสามารถเข้าถึงความเข้าใจของประชาชนทั่วไปได้มากเท่าที่ควรจะเป็น

ตัวเลขที่ออกมาจากภาครัฐ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ส่งเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มาแถลงคาดการณ์จีดีพีทั้งปีไว้ที่ระดับลบ 8.1% หรือ ฝั่งกระทรวงการคลังที่ประเมินรุนแรงกว่าเล็กน้อย คือติดลบ 8.5% ไม่อาจสร้างความเข้าใจที่แท้จริงให้กับประชาชนได้มากเท่าที่ควร ว่านอกจาก ‘ความสิ้นหวัง’ แล้ว ผลอย่างเป็นรูปธรรมที่พวกเขาต้องเผชิญคืออะไรกันแน่

ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ฉายภาพความเชื่อมโยงของความสิ้นหวังในการลืมตาอ้าปากเข้ากับสิ่งที่ประชาชนจะเข้าใจได้ง่ายที่สุดอย่าง ‘การจ้างงาน’ ด้วยบัญญัติไตรยางค์พื้นฐานว่า ทุกจีดีพีที่ติดลบลง 1% แปลว่าจะมีประชาชนตกงานราว 5 แสนคน

หอการค้าประเมิน GDP เศรษฐกิจไทย
  • ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
จีดีพี VS อัตราการว่างงาน 

เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจกับตัวเลขการว่างงาน ผศ.ธนวรรธน์ เลือกที่จะเริ่มอธิบายความหมายที่แท้จริงของจีดีพีอย่างง่ายว่าเสมือนเป็นรายได้ของคนทั้งครอบครัวในปีนั้นๆ เพียงแต่ครอบครัวไทยมีสมาชิกทั้งหมด 65 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 20 ล้านครัวเรือน

ปีไหนที่ตัวเลขออกมาเป็นบวกซึ่งอยู่ที่ว่าจะเทียบกับตัวเลขรายรับในปีก่อนหน้าทั้งปีหรือเทียบกับรายรับในไตรมาสก่อนหน้า (1 ไตรมาส มีระยะเวลา 3 เดือน) แปลว่าครอบครัวมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัญหาในสภาวะปัจจุบันคือผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายทั้งในและนอกประเทศออกมาประเมินว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะติดลบ หรือแปลว่าประเทศไทยจะมีรายได้ลดลง กรณีของหอการค้าไทยคือลบ 9.4% และอาจหมายถึงตัวเลขการว่างงานระหว่าง 9-10 ล้านคน

“คำว่าเศรษฐกิจโตลบ 9% ง่ายๆ คือมีเงินทองในการซื้อของเป็นจำนวนชิ้นได้น้อยลง 9% สมมติปีที่แล้วเคยซื้อของได้ 100 ชิ้น ปีนี้เศรษฐกิจโตลบ 9% เราซื้อของได้เพียงแค่ 91 ชิ้น”


วังวน-ผู้คน-ทุกข์(ก็ต้อง)ทน
ประกันสังคม ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ แรงงาน โควิด เลิกจ้าง

เชื่อมโยงต่อว่าการที่ประชาชนมีกำลังซื้อน้อยลง เกี่ยวข้องอย่างไรกับอัตราการว่างงาน อธิการบดีฯ ผู้มีความเชี่ยวชาญในการประเด็นกำลังซื้อ ฉายภาพความเชื่อมโยงดังราวกับเป็นวังวนที่ส่งผลกระทบถึงทุกภาคส่วน

ณ จุดเริ่มต้น เมื่อประชาชนมีกำลังซื้อที่น้อยลงจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่กลายร่างมาเป็นวิกฤตเศรษฐกิจอันเนื่องมาจาก ช่วงแรกของการควบคุมโรค รัฐบาลประกาศใช้แนวนโยบายเข้มข้นในการยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสจนเศรษฐกิจประเทศกลายเป็นอัมพาตเกือบ 3 เดือน และหมายถึงรายได้ที่สูญไปถึง 1.5 ล้านล้านบาท 

การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจตรงนั้น ทำให้ประชาชนซึ่งหมายถึงทุกคนในประเทศ มนุษย์เงินเดือน ผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ ไปจนถึงเกษตรกรมีรายได้ลดลง ฝั่งผู้ประกอบการต้องปิดกิจการจึงไม่มีรายรับเข้ามา เมื่อบริษัทไม่มีรายรับพนักงานบางส่วนก็โดนปลดอีกส่วนก็อาจจะโดนลดเงินเดือน

ยังไม่ได้ต้องนับถึงแรงงานอิสระที่แทบไม่มีนายจ้าง กลุ่มคนเหล่านี้ที่ก่อนหน้าก็อาจมีรายได้ใช้เดือนชนเดือนอยู่แล้วจึงยิ่งต้องประหยัดในการใช้เงินมากขึ้น ก็เป็นผลกระทบแบบโดมิโนลามไปถึงผู้ขายสินค้าเกษตรที่นอกจากจะต้องแก้ปัญหาภัยแล้งแล้ว ผลผลิตที่ออกมายังไม่มีใครซื้อ 

เมื่อฝั่งประชาชนก็บอบช้ำกันทุกภาคส่วน เศรษฐกิจโดยรวมในประเทศจึงเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือภาวะที่เศรษฐกิจหดตัวติดลบต่อเนื่องกันเป็นเวลา 2 ไตรมาส และแม้จะมีหลายนโยบายจากรัฐบาลที่ต้องการเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ สินเชื่อซอฟต์โลนหรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจาก ธปท.ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการขนาดย่อม แต่จากวงเงิน 5 แสนล้านบาท จึงถึงวันนี้กลับปล่อยสินเชื่อออกไปได้จริงแค่ราว 1 แสนล้านบาท เท่านั้น 

ขอเสียงหน่อยก่อนวันเปิดศูนย์ทบทวนสิทธิ

ขณะที่เม็ดเงินช่วยเหลือโดยตรงที่รัฐบาลมอบให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือเกษตรกรจำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ก็เห็นชัดจากเสียงสะท้อนทั้งในโลกออนไลน์และโลกความเป็นจริงซึ่ง ‘วอยซ์ออนไลน์’ เคยไม่สัมภาษณ์ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาแล้วว่า ‘ไม่เพียงพอ’

ผศ.ธนวรรธน์ สรุปความเชื่อมโยงว่าผ่านการจ้างงานภายในบ้านว่า “สมมติเศรษฐกิจแย่มากๆ เราเคยมีลูกจ้างอยู่ที่บ้าน พอเงินหายไปจากบ้านเรา เราก็จำเป็นที่จะต้องประหยัดมากขึ้น ถ้าสมมติมีสมาชิกในครอบครัวตกงานอีก ค่าใช้จ่ายเท่าเดิมแต่รายรับหายไป เราคงจะต้องคิดว่าเราคงจะต้องกวาดบ้านถูบ้านเอง ลูกจ้างก็ออกไปทำที่อื่นดีไหมเพราะเราไม่มีเงินเลี้ยงดูเขา”

ระบบการปลดคนงานในบ้านข้างต้นไม่ได้ต่างจากระบบการปลดคนงานในเชิงธุรกิจแม้แต่น้อย เพราะเมื่อมาถึงจุดที่บริษัทไม่สามารถแบกภาระค่าใช้จ่ายได้อีกต่อไปแล้ว เพราะไม่มีลูกค้ามาซื้อสินค้า และในภาวะปัจจุบัน ‘ลูกค้า’ ของธุรกิจยังมาอ่อนแอพร้อมกันทั้งลูกค้าภายในและภายนอกประเทศเนื่องจากโควิด-19 ครั้งนี้ส่งผลกระทบแทบจะทุกประเทศทั่วโลกแล้ว 

อย่างไรก็ดี อธิการบดี หอการค้าไทยฯ เสริมว่า สำหรับผู้ที่เป็นลูกจ้างหรือแรงงานที่ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจกับการคงอยู่ของตำแหน่งงานตัวเองสิ่งที่สามารถทำได้คือการประเมินความเสี่ยง ว่าตนเองกำลัวทำงานอยู่ในกลุ่มธุรกิจไหนหรือรูปแบบงานประเภทใด 

“ถ้าเราทำงานเป็นข้าราชการ ไม่กระทบกับเราแน่เพราะราชการจะไม่มีการลดเงินเดือนและก็จะไม่ปลด ถ้าเราเป็นลูกจ้างชั่วคราวของบริษัท ต้องดูว่าบริษัทไหน ถ้าเป็นบริษัทเกี่ยวกับทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ เกี่ยวกับดิจิทัล งานการเข้ามาคึกคัก ทุกคนทำงานหัวหมุนทุกวัน ไม่ต้องห่วง แต่ถ้าทำงานอยู่ในธุรกิจที่ปีที่แล้ว โอ้โห ทำงานคึกคัก แต่ปีนี้เงียบเหงานั่งตบยุงกันทำงาน อันนี้เรามีความเสี่ยง”

พร้อมกันนี้ ก็ยังต้องกลับมาดูความสามารถและศักยภาพของตนเองด้วย เนื่องจากหากไม่ได้อยู่ในสภาวะที่บริษัทจะปิดตัวลงอย่างถาวะ เจ้าของจะเลือกเก็บลูกจ้างที่มีความสามารถสูงและเป็นประโยชน์ต่อองค์กรเอาไว้


ทว่าหากพนักงานคนใดมีความสามารถ “แต่ไม่ได้สูงขนาดนั้น” บริษัทก็จำเป็นต้องปลดคนงานออกอยู่ดี

“ถ้าเศรษฐกิจลบหนักขึ้น ก็คงจะต้องตอบด้วยตรรกะง่ายๆ คือ คนก็ตกงานมากขึ้นไง” ผศ.ธนวรรธน์ กล่าว
ความหวังหน่ะมีไหม?

วิกฤตครั้งนี้ถูกนิยามว่ารุนแรงที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยเคยเผชิญมา คือเลวร้ายกว่าครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งที่จีดีพีประเทศติดลบเพียง 7.5% ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ผศ.ธนวรรธน์ ใช้คำว่า ประเทศไทยอยู่ในสภาวะ “เศรษฐกิจล้มละลาย” คือไทยเป็นหนี้สูงถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่มีเงินสำรองเหลือเพียง 2,000-3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น จนรัฐบาลต้องไปเร่งของความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)  

โดยช่วงปี 2540 แรงงานไทยตกงานราวๆ 4%-5% ของแรงงานในระบบทั้งหมด หรือคิดเป็นตัวเลขประมาณ 1.5-2 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขผู้ว่างงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระหว่าง เดือน ต.ค. 2562 - ก.ค. 2563 ทะลุไปถึง 3.3 ล้านคน และสถาบันวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายแห่งยังประเมินไว้ในหลัก 7-8 ล้านคน ด้วย 

การท่องเที่ยวคือความหวังที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศและป้องกันไม่ให้ไทยเดินหน้าเข้าสู่วังวนการปลดคนงาน ที่อาจเกิดขึ้นได้ภายในระยะ 6 เดือนต่อจากนี้ ซึ่งอ้างอิงมาจากผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่มองว่าช่วงระยะเวลาครึ่งปีต่อจากนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าเศรษฐกิจจะไปต่อไหวไหมและต้องมีการปลดคนงานเพื่อเอาตัวรอด “แม้จะไม่รู้ว่าจะรอดจริงๆ ไหม” หรือไม่ 

ผศ.ธนวรรธน์ ชี้แจงว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพาอุปสงค์ต่างประเทศ หรือกล่าวง่ายๆ ว่าพึ่งพากำลังซื้อของชาวต่างชาติเป็นหลัก รายได้ต่อเดือนจากการท่องเที่ยวและการส่งออกอยู่ที่ราว 3 แสนล้านบาท และเงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้เข้ากระเป๋าคนไทยมาเป็นเวลาสักระยะแล้ว หากยังเป็นอย่างนี้ต่อไปเศรษฐกิจจะซึมลงเรื่อยๆ 

เนื่องจากวิกฤตที่เกิดขึ้นไม่สามารถพึ่งแค่การดูแลการแพร่ระบาดภายในประเทศได้เท่านั้น แต่ยังต้องฝากความหวังว่าสถานการณ์ระดับโลกจะดีขึ้นเพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบาย Travel Bubble กับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำได้ รวมทั้งยังเป็นการเอื้อให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศทยอยฟื้นขึ้นมา 

“ตราบใดที่โควิดยังไม่ลดลงในระดับโลก เราก็เจอสถานการณ์ที่เหนื่อย เราเพียงแต่หวังว่าวัคซีนเกิดเร็ว”

AFP-ห้องทดลอง แล็บ นักวิทยาศาสตร์ สว็อบ ดีเอ็นเอ DNA swab โควิด-19 ติดเชื้อ.jpg

ทั้งนี้ นอกจากจะตั้งตารอให้โควิด-19 ในระดับโลกฟื้นตัวดีขึ้น อธิการบดี หอการค้าไทยฯ เสริมว่ารัฐบาลต้งเริ่มเสริมนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยด่วน ทั้งการอัดฉีดเงินเข้าระบบ แม้จะเติมได้ไม่เต็มกับเงินที่หายไปแต่อย่างน้อยก็ต้องช่วยให้ได้สัก 1 แสนล้านบาท/เดือน รวมไปถึงการส่งสัญญาณให้แบงก์ชาติเร่งหาวิธีสนับสนุนให้สถาบันการเงินเอกชนปล่อนสินเชื่อซอฟต์โลนให้กับเอสเอ็มอีเพิ่มมากขึ้น และอาจมีการพิจารณายืดระยะเวลาการพักหนี้ออกไปอีก 6 เดือน 

นอกจากนี้ ฝั่งเอกชนยังนำเสนอให้มีการปรับแก้กฎกมายการจ้างงาน ให้อนุญาตให้มีการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงแทน เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจไม่ได้มีคำสั่งซื้อมากเพียงพอที่จะต้องจากพนักงานด้วยชั่วโมงการทำงานเท่าเดิมตามกฎหมาย การปรับเปลี่ยนเกณฑ์การจ้างงานเป็นรายชั่วโมงจึงเป็นการช่วยให้บริษัทไม่ต้องปลดคนงาน แต่จะใช้วิธีแบ่งชั่วโมงการทำงานระหว่างพนักงานแทน 

ผศ.ธนวรรธน์ เสริมว่า เนื่องจากเศรษฐกิจจำเป็นต้องเกิดการหมุนเวียนเงินในระบบ จึงแนะให้ภาครัฐออกนโยบายจูงใจให้ประชาชนที่ยังมีเงินอยู่อยากที่จะออกไปจับจ่ายใช้สอยหรือไปเที่ยวภายในประเทศเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ การลดภาษีผ่านมาตรการชิมช้อปใช้เป็นต้น 

โดยสรุปแล้ว ผศ.ธนวรรธน์ ปิดท้ายว่า เนื่องจากแท้จริงแล้วเศรษฐกิจประเทศเปรียบเสมือรายได้ของประชาชน หากบอกว่าเศรษฐกิจจะหดตัวจึงแปลได้ว่ารายได้หรือเงินในกระเป๋าของคนในชาติจะลดลงตาม และสิ่งเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานซึ่งนับว่าเป็นความมั่นคงในชีวิตของแรงงานอย่างแน่นอน