ไม่พบผลการค้นหา
บริษัทดัตช์-ฝรั่งเศส ชนะประมูลพิมพ์พาสปอร์ตอังกฤษฉบับใหม่ เตรียมรับกระบวนการถอนตัวของอังกฤษออกจากอียู แต่คนงานในโรงพิมพ์อังกฤษเสี่ยงตกงานเพียบ

กระทรวงมหาดไทยของอังกฤษแถลงผลประมูลการพิมพ์พาสปอร์ตของอังกฤษฉบับใหม่ ซึ่งจะนำมาใช้หลังจากที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2562 โดยบริษัท 'เจมาลโต' สัญชาติดัตช์-ฝรั่งเศส เป็นผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้

เจมาลโตเฉือนเอาชนะคู่แข่งสัญชาติอังกฤษอย่างบริษัท 'เดอลารู' ไปได้ เนื่องจากเสนอราคาไว้ที่ 490 ล้านปอนด์ (ราว 21,560 ล้านบาท) ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลอังกฤษประหยัดงบประมาณไปได้ 100-120 ล้านปอนด์ (ราว 4,400-5,280 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม มาร์ติน ซัทเธอร์แลนด์ ประธานบริหารบริษัทเดอลารู ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี โดยระบุว่า ช่วงก่อนจะประกาศผลการประมูล รัฐบาลอังกฤษระบุว่าพาสปอร์ตที่จะจัดพิมพ์ขึ้นใหม่จะเป็นสัญลักษณ์ของ 'ชาวบริติช' ซึ่งมีความหมายรวมถึงคนทั้งประเทศ เพราะจะเป็นการนำปกพาสปอร์ตสีน้ำเงินแบบดั้งเดิมซึ่งมีข้อความระบุถึง 'สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ' กลับมาใช้แทนพาสปอร์ตปกสีแดงเลือดนกที่มีชื่อ 'สหภาพยุโรป' รวมอยู่ด้วย และเป็นพาสปอร์ตที่ใช้กันอยู่ตั้งแต่ปี 2531 จนถึงปัจจุบัน

"พาสปอร์ตสัญลักษณ์ของชาวบริติช จะต้องไปผลิตที่ฝรั่งเศสเสียแล้ว" ซัทเธอร์แลนด์กล่าว

นอกจากนี้ การเปลี่ยนไปจัดพิมพ์พาสปอร์ตโดยบริษัทฝรั่งเศส จะส่งผลกระทบต่อพนักงานในโรงงานเดอลารูอีกกว่า 600 คน เนื่องจากเดอลารูเป็นผู้พิมพ์พาสปอร์ตปกสีแดงมาตั้งแต่ปี 2552

ขณะที่ เดอะการ์เดียน รายงานว่า ส.ส.พรรคฝ่ายค้านหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่ต่อต้านการลงประชามติให้อังกฤษแยกตัวจากอียูตั้งแต่ต้น ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์พรรครัฐบาลอนุรักษนิยม ซึ่งรวมถึงนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ว่าเป็นพวกไม่อยู่กับร่องกับรอย เพราะต่อต้านการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีและข้อตกลงการค้าอียู โดยระบุว่าอังกฤษเสียเปรียบ แต่พอจะดำเนินการในเรื่องที่เป็นผลพวงจากการลงประชามติ กลับทำให้พลเมืองชาวอังกฤษได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงกลาโหมรายหนึ่งซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ยืนยันว่าการประหยัดงบประมาณจะส่งผลดีต่อรัฐบาลเช่นกัน และบริษัทเจมาลโตก็มีโรงงานขนาดเล็กในอังกฤษซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างงานเพิ่มได้อีก 70 ตำแหน่ง อีกทั้งช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หน้ากระดาษเปล่าในพาสปอร์ตก็ถูกกระจายไปผลิตในโรงงานต่างประเทศอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก ทั้งในแง่เศรษฐกิจและความปลอดภัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: