ไม่พบผลการค้นหา
อธิบดีกรมการจัดหางานเผยรัฐบาลจะไม่ขยายเวลาขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวออกไป แนะนายจ้างเร่งพาแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติไปจัดทำทะเบียนประวัติและพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นเดือนนี้ (มิ.ย. 2561) หากพ้นกำหนดจะมีความผิดทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าว

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำและปรับปรุงทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าวกัมพูชา ลาว เมียนมา ระยะที่ 2 ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ One Stop Service และการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งเหลือเวลาไม่ถึง 1 เดือน ก่อนจะครบกำหนดปิดศูนย์ภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่ต้องจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติระยะที่ 2 ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ One Stop Service จำนวน 360,022 คน ดำเนินการแล้ว 246,248 คน คงเหลือที่ต้องดำเนินการ 113,974 คน

ส่วนการพิสูจน์แรงงานต่างด้าวคงเหลือที่ต้องดำเนินการประมาณ 42,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานกัมพูชาประมาณ 30,000 คน ซึ่งทางการกัมพูชาเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติในประเทศไทย 3 ศูนย์ และมีรถโมบายเคลื่อนที่ให้บริการจำนวน 7 คัน สำหรับการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวเมียนมาสามารถดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยปัจจุบันทางการเมียนมาได้ปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติในประเทศไทยทุกศูนย์แล้ว เหลือเพียงรถโมบายเคลื่อนที่ที่ยังให้บริการอยู่

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดประสานไปยังนายจ้างเพื่อเร่งนำแรงงานต่างด้าวมาดำเนินการ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาขึ้นทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าวถึงสิ้นเดือนนี้เท่านั้น จึงขอความร่วมมือนายจ้างเร่งพาลูกจ้างต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติ ไปดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติ พิสูจน์สัญชาติ และขออนุญาตทำงานที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ One Stop Service ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 และขอย้ำว่ารัฐบาลจะไม่มีการขยายเวลาดำเนินการออกไปอีก

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวต่อไปว่า หากนายจ้างไม่นำแรงงานต่างด้าวมาดำเนินการตามเวลาที่กำหนด แรงงานต่างด้าวจะไม่สามารถอยู่และทำงานต่อไปได้ โดยทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าวจะมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อแรงงานต่างด้าวหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี ขณะที่คนต่างด้าวทำงานจะมีความผิดมีโทษ 5,000 – 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร