'สมบัติ บุญงามอนงค์' หรือ บก.ลายจุด และอดีตแกนนอนกลุ่มคนวันอาทิตย์สีแดง ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ 'วอยซ์ทีวี - วอยซ์ ออนไลน์'ถึงแนวคิดริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยใช้ชื่อ 'พรรคเกรียน'
จุดเริ่มต้นของการริเริ่มจัดตั้งพรรคเกรียน
มีการพูดคุยเรื่องการตั้งพรรคมาเกือบ 2 ปี ตั้งต้นจาก ปัญหาคุณภาพของพรรคการเมือง และนักการเมือง ที่ประชาชนไม่พอใจ และมักถูกนำไปเป็นข้ออ้างโจมตี เพื่อล้มล้างทำลาย ด้วยวิธีที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย และอีกประเด็น คือ อยากทำพรรคการเมืองที่สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป ด้วยการใช้เทคโนโลยีเอื้อต่อการฟังเสียงประชาชนมากขึ้น
ยืนยัน จะใช้ชื่อ 'พรรคเกรียน' เพราะ 'เกรียน' ไม่ใช่คำที่มีความหมายไม่ดี ตรงกันข้าม เกรียน หมายถึง ทำให้เรียบร้อย หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าใจความหมาย โดยไม่มุ่งแค่เรื่องตีความในแง่ลบ มั่นใจว่า กกต.จะให้จดชื่อนี้ได้ พร้อมยกตัวอย่าง ต่างประเทศ ก็มีพรรค Prirates หรือ พรรคโจรสลัด เทียบกับชื่อในไทย ก็จะเป็นทำนอง พรรคมหาโจร แต่จุดมุ่งหมายของพรรคโจรสลัด คือ ประชาชนต้องมีเสรีภาพในการใช้และเข้าถึงอินเทอร์เน็ต พรรคเกรียนก็เช่นกัน มีความมุ่งหมายทำงานจากความต้องการของประชาชน ดังนั้น อย่าตีความจากแค่ชื่อ แต่ขอให้ดูว่า พรรคจะทำอะไร
แนวคิดของพรรคเกรียน
'ไม่หาเสียง แต่หาเรื่อง' ยึดหลัก ประชาชนต้องการอะไร โดยไม่สนใจว่า พรรคการเมืองเก่า ทำอะไรอย่างไรมาบ้าง เพราะจะไม่ใช้วิธีไปเดินไหว้ พบปะ หรือหาเสียง แต่จะฟังทุกเสียงเล็กๆ ทำเป็น Think tank รวบรวมความต้องการของประชาชนผ่านทางอินเทอร์เน็ต ก่อนจัดกลุ่มความคิด เวิร์คช็อป สร้างกระบวนการนำเสนอ ประมวลผล และออกมาเป็นนโยบาย ซึ่งจะไม่ใช่แค่ของพรรคเกรียนเอง แต่จะเป็นคลังความคิด แบบ Open Data ให้พรรคการเมืองอื่นๆ นำไปใช้ประโยชน์สร้างนโยบายได้ด้วย
"เกรียน ไม่ใช่คำที่มีความหมายไม่ดี ตรงกันข้าม เกรียน หมายถึง ทำให้เรียบร้อย"
สมาชิกพรรคเกรียน
ไม่ได้ต้องการแค่จำนวนเยอะๆ เพราะนอกจากค่าสมัครสมาชิกตามกฎหมายแล้ว ไม่ใช่ใครก็เป็นได้ แต่ต้องผ่านเงื่อนไข เสนอไอเดีย พร้อมรายละเอียดความเป็นไปได้ ตอนนี้กำลังคัดกรอง ผ่านการสัมภาษณ์ทางโซเชียลมีเดีย และกำลังมีแนวคิดให้ทำคลิปเสนอไอเดีย ก่อนพิจารณาให้เป็นสมาชิกพรรค เชื่อว่า มีคนไม่น้อยที่มีแนวคิดอยากทำการเมืองเพื่อประชาชนแบบพรรคเกรียน จะเสนอตัว และชวนกันมาร่วมเป็นสมาชิก
ที่นั่ง ส.ส.
ตอนนี้ เน้นเรื่องการตั้งพรรคการเมือง ให้เป็นไปตามกฎหมาย และตั้งต้นที่กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนก่อน คัดสรรสมาชิกพรรคที่พร้อมทำงานเพื่อประชาชนจริงๆ โดยไม่ได้มุ่งหมายตั้งจำนวนที่นั่งในสภาฯ ไม่ได้มุ่งหวังชิงอำนาจรัฐ หรือหมายถึง การให้น้ำหนักกับแนวคิด มากกว่าการผลิตจำนวนคน แต่หากมีสมาชิกพรรคคนใด ต้องการลง ส.ส. จะพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง เบื้องต้นกำลังมองการเลือกตั้งท้องถิ่น ในอนาคตต้องการส่งผู้สมัครเป็นตัวแทนตั้งแต่ระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัย หมู่บ้าน เพราะเหล่านี้ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นในการบ่มเพาะประชาธิปไตยก่อนจะเติบโตมาเป็นสังคมใหญ่
หัวหน้าพรรค
รอประชุมลงมติ ไม่ขอตอบว่าจะเป็นตัวเองหรือไม่ ส่วนการยื่นคำขอจดทะเบียนพรรคนั้นจะทำภายในเดือน มี.ค. แต่ยังไม่ระบุวัน ขอรอจังหวะที่เหมาะสม
(ภาพ - เฟซบุ๊ก สมบัติ บุญงามอนงค์)
มีพรรคการเมืองแล้ว Social Movement จะหายไป?
ไม่หาย แต่พรรคเกรียน คือ Social Movement (การเคลื่อนไหวทางสังคม) ที่แทรกอยู่ในสนามการเมือง สนใจเรื่องประชาชน เช่น การเกษตร สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ แล้วเสนอออกมาเป็นนโยบายให้ได้
มองพรรคการเมืองอื่นที่เกิดขึ้นใหม่
การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ ในแบบใหม่ ทั้งพรรคของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้บริหารไทยซัมมิท กรุ๊ป ร่วมกับ ผศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ และพรรคสามัญชน ที่ยื่นจดจองตั้งพรรคแล้ว รวมทั้งพรรคเกรียนเอง ทำให้การเมืองไทยมีสีสัน เห็นความพยายามของการทำการเมืองแบบใหม่ เชื่อว่า แต่ละพรรคจะเกื้อหนุนกัน เป็นแนวร่วมที่ดี ส่วนตัวมีแนวคิด เปิดฟรีโหวต หากสมาชิกพรรคเกรียน เห็นนโยบายพรรคอื่นดีกว่า สามารถลงคะแนนให้พรรคอื่นได้ เพราะถือเป็นเสรีภาพ
การเมือง ตอนนี้ และจากนี้ไป
คนตื่นตัวกับการเลือกตั้ง สูบฉีดให้สังคมมีชีวิตชีวา แม้แต่คนกลุ่มที่ช่วยกันล้มเลือกตั้งครั้งล่าสุด ก็ตื่นเต้นที่จะได้เลือกตั้ง เพราะต้องเว้นวรรคกันมาหลายปี พร้อมมองว่า นักการเมือง และพรรคการเมืองเดิมๆ ต้องตระหนัก เรียนรู้ และปรับตัว หลังจากที่ผ่านมาถูกนำมาเป็นข้องอ้าง ในการรัฐประหารยึดอำนาจ และต้องประสบเคราะห์กรรมมากมาย