บริษัท โรลส์-รอยซ์ จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 14 มิ.ย. ประกาศแผนปรับโครงสร้างองค์กรในช่วงครึ่งปี 2018 ไปจนถึงปี 2020 โดยจะมีการปลดพนักงานรวม 4,600 คน โดยส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งงานในอังกฤษ คาดว่าจะช่วยให้บริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายรายปีไปได้ประมาณ 400 ล้านปอนด์ (ประมาณ 17,200 ล้านบาท)
'วอร์เรน อีสต์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโรลส์-รอยซ์ เปิดเผยว่าการปรับลดตำแหน่งงานไม่ใช่การตัดสินใจที่เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย แต่บริษัทจำเป็นต้องสร้างองค์กรที่เป็นผู้นำทั้งด้านเทคโนโลยีและผลประกอบการ ขณะที่ การปรับโครงสร้างองค์กรจะช่วยปรับเปลี่ยนการทำงานภายในให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
หุ้นของโรลส์-รอยส์ดีดตัวขึ้นร้อยละ 2.8 หลังมีการประกาศปลดพนักงาน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี เพราะบริษัทประสบภาวะยากลำบากและเกิดวิกฤตเรื่องภาพลักษณ์อย่างหนักเมื่อปีที่แล้ว โดยกรณีแรกเกี่ยวข้องกับกรณีเครื่องยนต์เครื่องบินรุ่นเทรนต์-1000 ซึ่งใช้กับเครื่องบินโบอิง 787 ประสบปัญหาขัดข้อง และต้องดำเนินการสอบสวนสาเหตุที่ทำให้เครื่องยนต์ขัดข้อง โดยอ้างอิงจากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2016
ส่วนกรณีที่สอง เกิดขึ้นหลังจากที่สำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษ หรือ SFO เผยผลสอบสวนการกระทำผิดกฎหมายต่อต้านการทุจริตและฟอกเงินในต่างประเทศ ที่พบว่าโรลส์-รอยซ์พัวพันการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่หรือนายหน้าในหลายประเทศ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการซื้อขายและดำเนินธุรกิจ
ประเทศที่ SFO ตรวจสอบพบพฤติกรรมทุจริตติดสินบนที่เกี่ยวพันกับโรลส์-รอยซ์ ได้แก่ สหรัฐฯ บราซิล อังกฤษ อินโดนีเซีย อินเดีย รัสเซีย ไนจีเรีย จีน มาเลเซีย และไทย แต่มีเพียงสหรัฐฯ บราซิล และอังกฤษเท่านั้น ที่ดำเนินการสอบสวนและตั้งข้อหาผู้กระทำผิดในคดีโรลส์-รอยซ์
จนกระทั่งเดือน ม.ค.ปีที่แล้ว ศาลใน 3 ประเทศมีคำพิพากษาปรับเงินโรลส์-รอยซ์ รวมกว่า 671 ล้านปอนด์ (ราว 28,853 ล้านบาท) ซึ่งกรณีดังกล่าวส่งผลกระทบทั้งเรื่องการเงินและภาพลักษณ์ของบริษัท และการสอบสวนยังดำเนินต่อมาถึงปัจจุบัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯ เพิ่งออกหมายจับอดีตเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศจีน และชาวรัสเซียรายหนึ่งซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการติดสินบนและฟอกเงินในคดีโรลส์-รอยซ์ เมื่อ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา
ขณะที่ การสอบสวนข้อกล่าวหาว่าโรลส์-รอยซ์จ่ายเงินสินบนให้กับกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจเป็นคุณเป็นโทษในการจัดซื้อจัดหาเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์เพื่อนำมาใช้กับเครื่องบินในประเทศไทย กลับไม่มีความคืบหน้า โดยเมื่อเดือน ม.ค.ปีที่แล้ว นายวิทยา อาคมพิทักษ์ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บอกว่า ป.ป.ช.ไทยจะขอข้อมูลจาก ป.ป.ช.อังกฤษ เพื่อสอบสวนกรณีนี้
ส่วนนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บอกว่า กรรมการบริหารของการบินไทยจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อหาตัวบุคคลที่พัวพันกับการจ่ายและรับสินบน และบอกด้วยว่า โรลส์-รอยซ์ได้ให้ข้อมูลมาแล้ว คาดว่าผลสอบจะสรุปได้ภายใน 30 วัน
จนถึงขณะนี้ ผ่านมาแล้ว 1 ปี กับอีกเกือบ 5 เดือน ยังไม่มีหน่วยงานใดเปิดเผยความคืบหน้าในการสอบสวนคดีดังกล่าว แต่เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา บมจ.การบินไทย ได้ลงนามความร่วมมือกับโรลส์-รอยซ์ เพืิ่อสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ของการบินไทยที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อให้สามารถซ่อมเครื่องยนต์รุ่นใหม่ๆ รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาความสามารถทางธุรกิจร่วมกันเพื่อเพิ่มรายได้
ที่มา: Rolls-Royce/ CNN Money/ Bloomberg
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: