กรุงเทพมหานครและอีกหลายเมืองในประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต้องการมาเยือนมากที่สุด ถึง 5 ครั้งในรอบ 6 ปี (นับจากปี 2555) และเป็นอันดับหนึ่ง 3 ปีซ้อน จากผลสำรวจสุดยอดจุดหมายปลายทางโลกโดยการสำรวจของมาสเตอร์การ์ด
ขณะที่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยทำรายได้เข้าประเทศถึง 2 ล้านล้านบาทต่อปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ธุรกิจการท่องเที่ยวการโรงแรมจะผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด
แม้ธุรกิจโรงแรมแบบดั้งเดิมยังคงครองตลาดอยู่บวกกับกระแสโฮสเทลในเมืองใหญ่ๆ ที่โตขึ้นไม่แพ้กัน แต่ทั้งโรงแรมและโฮสเทลอาจไม่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้หวังเพียงมาพักผ่อน แต่หวังการมาเสพสุนทรียของการใช้ชีวิตของคนเมืองนั้นๆ
เมื่อมีความต้องการตรงนี้ จึงเป็นที่มาให้เกิด Airbnb เว็บไซต์ที่รวบรวมห้องพักจากเจ้าของห้องจริงๆ ให้กับเหล่านักท่องเที่ยวที่แสวงหาการใช้ชีวิตจริงของผู้คนในเมืองต่างๆ เข้ามาเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยม และเป็น Sharing Economy ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในหลายเมืองท่องเที่ยวทั่วโลก
'วอยซ์ ออนไลน์' ได้มีโอกาสพูดคุยกับ 'ธีวรา วาราชนนท์' ผู้เปิดห้องพักให้เช่าผ่านแพลตฟอร์ม 'Airbnb' ที่มองเห็นโอกาสจาก 'ห้องพัก' ที่มีอยู่ แต่ไม่ได้ใช้งาน และเห็นว่า Airbnb เป็นช่องทางที่สร้างรายได้ค่อนข้างง่าย สามารถไปติดประกาศได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย โดยปัจจุบันเธอเปิดห้องพักให้เช่า โดยประกาศผ่าน Airbnb มาครบ 1 ปีเต็มแล้ว
ขณะเดียวกัน เธอยังทำงานประจำอยู่ในโรงแรมแบบดั้งเดิมควบคุมไปด้วย
'ธีวรา' เล่าว่า มีผลตอบรับค่อนข้างดีมากเลยทีเดียว โดยต่อเดือนจะมียอดนักท่องเที่ยวจองเข้ามาประมาณร้อยละ 90 ต่อเดือน ซึ่งก็แทบจะเรียกได้ว่าเต็มตลอดทั้งเดือน
เมื่อมองอีกมุม แม้การปล่อยเช่าห้องผ่าน Airbnb ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ด้วยความง่ายก็ทำให้ใครก็สามารถเข้ามายังช่องทางนี้ได้โดยไม่ต้องมีทุนหรือความรู้ด้านการบริการนัก ดังนั้นผู้ประกอบการก็จะพบกับคู่แข่งค่อนข้างเยอะ ซึ่งทำให้ต้องมีการสร้างจุดเด่นและเอกลักษณ์ในที่พักของตน
อีกกรณีคือ เทคโนโลยี ที่อยู่เบื้องหลัง Airbnb มีการปรับเปลี่ยนค่อนข้างบ่อยจนบางครั้งทำให้ผู้ปล่อยเช่าห้องตามไม่ทันและเสียโอกาสในการปล่อยเช่าห้องได้
หากมองลึกลงไปแล้วนั้น ทั้งสองข้อนี้อาจไม่ใช่อุปสรรคนัก และดูจะเป็นความท้าทายของการทำธุรกิจในตลาดเปิดที่ไม่มีใครผูกขาดตลาดและเปิดรับทุกคนมากกว่า ซึ่งนี่คือเสน่ห์ในตลาดเสรีที่ผู้บริโภคจะได้สินค้าและบริการที่ดีที่สุดในราคาที่ไม่สูงมากนัก เพราะเมื่อตลาดมีอุปทานมากและอุปสงค์ในจำนวนที่ใกล้เคียงกันราคาดุลยภาพของตลาดจะไม่เอนเอียงเอื้อผลประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นราคาที่เหมาะสมต่อทั้งสองฝ่าย
ในช่วงท้ายของการพูดคุยกัน 'ธีวรา' พูดถึงโอกาสจากเทคโนโลยีที่เด็กรุ่นใหม่ยังมองข้ามไปอยู่ว่าจริงๆ แล้วเด็กรุ่นใหม่นั้นมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีมาก แต่ว่าอาจจะใช้มันไปในทางบันเทิงเป็นส่วนใหญ่มากกว่ามองเป็นช่องทางในการทำธุรกิจ
ดังนั้นหากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยสามารถส่งเสริมการแชร์ข่าวสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในห้องเรียนรวมถึงร่วมกันวิเคราะห์ต่อว่าเทคโนโลยีนั้นๆ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางธุรกิจยังไงได้บ้างก็จะเป็นการสนับสนุนให้เด็กได้ใช้เทคโนโลยีได้ครบตามคุณสมบัติและศักยภาพที่มี
'ธีวรา' ปิดท้ายว่าเด็กสมัยนี้จะทำอาชีพอะไรก็ทำได้ทั้งนั้น เพราะมีความมั่นใจเป็นที่ตั้ง แต่ก็ขอให้ระวังเรื่องการขาดประสบการณ์ เธอบอกว่าเด็กที่จบใหม่หลายคนเชื่อว่าการเข้าออฟฟิศเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น หลายๆ คนออกมาก็อยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเองซึ่งจริงๆ ก็เป็นสิ่งที่ดีแต่ว่ามีสิ่งที่ดีและในนั้นก็มีสิ่งไม่ดีเช่นเดียวกัน
"ทำอะไรกินก็ได้ที่อาจจะต้องดูศักยภาพตัวเองนิดนึงคือไม่ใช่ลงไป 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม คือจริงๆ การที่เราทำอะไรต้องมีประสบการณ์หรือว่ามีความรู้มีข้อมูลอะไรให้มากๆ ก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วข้อมูลข่าวสารหรือเทคโนโลยีก็เป็นตัวหนึ่งที่มีส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนในสิ่งที่เขาจะทำเช่นเดียวกัน" ธีรวากล่าว
ธุรกิจของธีวรา จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เข้ามาพร้อมกับการใช้ชีวิตการทำงานแบบดั้งเดิมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งมันไม่จำเป็นว่า เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามา เราจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองตามไปทั้งหมด หรือทิ้งสิ่งที่ดูเหมือนจะล้าหลังไปเสียทั้งหมด
เพราะทุกโอกาสและทุกเทคโนโลยีที่เข้ามานั้นจะเกิดประโยชน์ได้ ก็ขึั้นอยู่ที่คนใช้สามารถนำมันมาสร้างประโยชน์ได้หรือไม่