เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ของคณะรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่องให้อุปกรณ์ห่อหุ้ม (Case) โทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องคอมพิวเตอร์แท็ปเล็ตที่มีการนำสารเคมีมาบรรจุอยู่ภายในเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
ปัจจุบันพบว่ามีการจําหน่ายอุปกรณ์สําหรับห่อหุ้ม (Case) โทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องคอมพิวเตอร์แท็ปเล็ต ที่มีการนําสารเคมีที่เป็นของเหลวบรรจุอยู่ภายใน และมีรายงานข่าวว่ามีผู้ได้รับอันตรายจากสารเคมีที่รั่วไหลออกมา จากข้อมูลผลการทดสอบทางวิทยาศาสตร์พบว่าของเหลวที่บรรจุอยู่ภายในเป็นสารเคมี เช่น เดคเคน (Decane) โนเนน (Nonane) เฮปเทน (Heptane) และกรดออกซาลิค (Oxalic acid)
หากสินค้าดังกล่าวเกิดการชํารุดและสารเคมีรั่วไหลออกมาอาจส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายต่อร่างกาย ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าดังกล่าว จึงสมควรกําหนดให้อุปกรณ์สําหรับห่อหุ้ม (Case) โทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องคอมพิวเตอร์แท็ปเล็ตที่มีการนําสารเคมีที่เป็นของเหลวมาบรรจุอยู่ภายในเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 30 และมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 อันเป็นบทบัญญัติในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้า โดยกําหนดการแสดงฉลากของสินค้าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงในสาระสําคัญเกี่ยวกับสินค้านั้น คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้ “อุปกรณ์สําหรับห่อหุ้ม (Case) โทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องคอมพิวเตอร์แท็ปเล็ตที่มีการนําสารเคมีที่เป็นของเหลวมาบรรจุอยู่ภายใน” หมายความว่า อุปกรณ์ที่ใช้สําหรับห่อหุ้มโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องคอมพิวเตอร์แท็ปเล็ตที่มีสารเดคเคน (Decane) โนเนน (Nonane) เฮปเทน (Heptane) และกรดออกซาลิค (Oxalic acid) หรือสารอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์เป็นกรดมาบรรจุไว้ภายใน
ข้อ 2 ให้อุปกรณ์สําหรับห่อหุ้ม (Case) โทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องคอมพิวเตอร์แท็ปเล็ต ที่มีการนําสารเคมีที่เป็นของเหลวมาบรรจุอยู่ภายในเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
ข้อ 3 ฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลากตามข้อ 2 ให้ปฏิบัติตามข้อ 1 ถึงข้อ 3 แห่งประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. 2541 ลงวันที่ 23 ก.ย. 2541 และให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้ไว้ในฉลากด้วย
คำเตือน ต้องระบุว่า “อันตรายหากของเหลวรั่วไหล” ทั้งนี้ ข้อความที่เป็น “คําเตือน” ต้องใช้ตัวอักษรที่มีสีต่างจากสีพื้นผิวผลิตภัณฑ์ และมีขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรอื่นแสดงไว้ในลักษณะคงทนที่ผลิตภัณฑ์
ข้อ 4 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดสามสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ที่มา : เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา
Photo by George Morgan on Unsplash