ไม่พบผลการค้นหา
สนช.รับหลักการร่างกฎหมายลูก ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวจำนวน 33 คน กำหนดเวลาแปรญัติภายใน 15 วันและกำหนดเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 58 วัน

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา เสนอโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวว่า ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวันนี้นั้นเป็น 2 ฉบับสุดท้ายที่เป็นหน้าที่ของ กรธ.จะต้องทำให้เสร็จภายใน 240 วันนับแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยในส่วนของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้นกรธ.ได้เชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.มาร่วมพิจารณาด้วยจนจบการพิจารณา 

แต่มีบุคคลบางคนแถลงว่า กรธ. เร่งรัดให้ กกต.ส่งความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวกลับมายัง กรธ.ภายใน 3 วัน นั้นไม่เป็นความจริง เพราะ กรธ.เริ่มร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ตั้งแต่วันที่ วันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

พร้อมทั้งเชิญเจ้าหน้าที่ของ กกต.ที่หน้าที่โดยตรงมาร่วมพิจารณา และยังสอบถามเป็นระยะๆว่าหลังจากการพิจารณาเสร็จเป็นระยะๆแล้วได้กลับไปอธิบายให้กับ กกต.และผู้บังคับบัญชาทราบหรือไม่ โดยไดรับการยืนยันเป็นหลักฐานว่าได้นำกลับรายงานต่อ กกต.และผู้บังคับบัญชา

นายมีชัย กล่าวถึงสาระสำคัญของร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เคยทำกัน เว้นแต่บางประเด็นที่ กรธ. จำเป็นต้องเปลี่ยน เช่น เรื่องการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งโดยสุจริตและเป็นธรรม หากไม่ไปใช้สิทธิ์โดยไม่มีเหตุอันอ้างได้ก็จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี

ส่วนการสมัครรับเลือกตั้ง จากผลการรับฟังความเห็นจากประชาชนและจาก สนช. กำหนดให้ผู้สมัครต้องยื่นแบบบัญชีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาย้อนหลัง 3 ปี พร้อมทั้งเปิดช่องให้กรณีที่บุคคลไม่ได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ทำบันทึกแนบมากับใบสมัครรับเลือกตั้งพร้อมทั้งให้ชี้แจงเหตุผลว่าทำไม่ถึงไม่เสียภาษี เช่น เงินรายได้ไม่พอ หรือได้รับยกเว้น เหล่านี้เป็นต้น

สำหรับหมายเลขของผู้รับสมัคร กรธ.กำหนดให้แต่ละเขตมีเบอร์เป็นของตัวเอง เพราะกลไกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรรมนูญที่ต้องการให้คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นคะแนนเสียงที่มีความสำคัญและผู้เลือกตั้งจะต้องพิจารณาทั้ง พรรคและตัวบุคคล หากให้ทุกพรรคมีเบอร์เดียวกันทั้งประเทศจะทำให้ผู้ไปใช้สิทธิ์เกิดความบกพร่องในการพิจารณาตัวผู้สมัครทั้งนี้เพื่อให้พรรคตระหนักในการคัดเลือกบุคคลที่คนในพื้นที่รับรู้รับเห็นและพอใจ 

ด้านนายบัญญัติ จันทน์เสนะ สมาชิก สนช.ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สนช. กล่าวว่าจากการพิจารณาศึกษากรรมการฯมีข้อสังเกตทั้งหมด 46 มาตรา ส่งไปยัง กรธ. และกรธ.ได้พิจาณาปรับแก้แล้ว 12 มาตรา  

สำหรับมาตราที่ กรธ.ไม่ได้ปรับแก้นั้น อาทิ มาตรา 15 กรณีที่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ทั่วไปพร้อมกันทั่วราชอาณาจักรตามที่ กกต.กำหนด ซึ่งคณะกรรมการฯมีข้อสังเกตในเรื่องดังกล่าวว่า เหตุที่ไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งได้ต้องเป็นเหตุที่ทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้พร้อมกันทั้งประเทศ

ร่างมาตรา 17 กรณีที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในการฟ้องคดี หรือยื่นคำร้องเกี่ยวกับการดำเนินการของ กกต.ในการจัดหรือดำเนินการให้มีการจัดการเลือกตั้งนั้นไม่ใช่การใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญให้ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน คณะกรรมการฯเห็นว่าควรบัญญัติให้ชัดเจนว่าคดีประเภทใดบ้างอยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุด หรือ อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง

ทั้งนี้ที่ประชุม สนช.มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้พิจารณาด้วยคะแนนเสียง 187 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 2 พร้อมทั้งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกำหมายดังกล่าวจำนวน 33 คน กำหนดเวลาแปรญัติภายใน 15 วันและกำหนดเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 58 วัน