ภายหลังจากเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา นายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้งอาลีบาบา กรุ๊ป ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจภายใต้กรอบความร่วมมือ Smart Digital Hub and Digital Transformation Strategic Partnership จำนวน 4 ฉบับกับรัฐบาลไทย โดยหนึ่งในนั้น คือความร่วมมือด้านการลงทุน Smart Digital Hub ในพื้นที่ EEC เบื้องต้นได้เตรียมแผนก่อสร้างแล้วมูลค่า 11,000 ล้านบาท
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานข่าวว่า ในระหว่างการเยือนประเทศจีน ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าชมงาน International China Import-Export เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการหารือระหว่างฝ่ายไทยกับ นายแจ็ค หม่า ในเรื่องของการ transform ประเทศไทยสู่ digital 4.0 โดยนายแจ็ค หม่า ได้ยื่น “ข้อเสนอใหม่” ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น hub logistic ที่มากกว่าการเป็น hub ธรรมดา ๆ ตามความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและจีน รวมถึงการสร้างศูนย์พัฒนาบุคลากรไทย-จีน โดยอาลีบาบาต้องการที่จะขอ “ซื้อที่ดิน” ในประเทศไทยแทนการ “เช่าที่ดิน” ที่ตกลงเบื้องต้นกันไว้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทอาลีบาบาได้ทำข้อตกลงกับภาคเอกชนคือ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เพื่อขอเช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมของ WHA ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา สำหรับพัฒนาเป็นเขตส่งเสริมธุรกิจอีคอมเมิร์ซและสมาร์ทโลจิสติกส์
“ขณะนี้ทีม EEC และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รับทราบข้อเสนอใหม่ของอาลีบาบาแล้ว โดยมีการสั่งการให้ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันในการหาทางออกให้กับข้อเสนอซื้อที่ดินว่าจะสามารถทำได้อย่างไร และเกี่ยวพันกับกฎหมายฉบับใดที่เปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้บ้าง”
เผย พ.ร.บ.อีอีซีให้ "เช่า" ไม่เกิน 99 ปี
ประชาชาติธุรกิจ ได้สัมภาษณ์ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยระบุว่า ภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ. 2561) ได้กำหนดไว้ในมาตรา 52 นักลงทุนจะไม่สามารถใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อการ “ซื้อ” ที่ดินลงทุนได้ แต่จะทำได้เพียงการ “เช่า” พื้นที่ตามกฎหมายเท่านั้นคือ แบ่งการอนุมัติให้เช่าออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกอนุมัติระยะเวลาการเช่าไม่เกิน 50 ปี และระยะที่สองสามารถต่ออายุการเช่าได้อีกไม่เกิน 49 ปี เมื่อรวม 2 ระยะแล้วไม่เกิน 99 ปี
ดังนั้นในกรณีที่นักลงทุนต้องการจะซื้อที่ดินจะต้องใช้กฎหมายฉบับอื่นที่ว่าด้วยเรื่องของการขายที่ดิน เช่น กฎหมายที่ดินเพื่อนำมาพิจารณาเพื่อขอซื้อที่ดินแทนกฎหมาย EEC เพื่อลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวที่นักลงทุนสนใจ
พ.ร.บ. EEC ให้ถือกรรมสิทธิ์ได้แค่เช่า 49+50 ปี
ด้านนางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการ EEC กล่าวกับประชาชาติธุรกิจเพิ่มเติมว่า นักลงทุนที่มีความต้องการซื้อที่ดินเพื่อลงทุนในพื้นที่ EEC นั้น “สามารถทำได้” โดยมีช่องให้ใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แต่ต้องทำตามเงื่อนไขที่ BOI กำหนด เช่า เรื่องของเงินลงทุนส่วนใหญ่จะสูงเป็นระดับหลาย ๆ พันล้านบาท รวมถึงจะต้องเป็นการลงทุนที่นำเอาห่วงโซ่ทั้งคลัสเตอร์มาลงทุนด้วย หากเป็นกิจการเดียวลงทุนครั้งเดียวแล้วก็ถือว่า “ไม่เข้าเงื่อนไขของ BOI ไม่สามารถซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างและลงทุนได้
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนระบุไว้ในมาตรา 27 “ผู้ได้รับการส่งเสริมจะได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบการกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามจำนวนที่คณะกรรมการ พิจารณาเห็นสมควร แม้ว่าจะเกินกำหนดที่จะพึงมีได้ตามกฎหมายอื่น ในกรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฏหมายที่ดินเลิกกิจการที่ได้รับการส่งเสริมหรือโอนกิจการนั้นให้แก่ผู้อื่น ผู้ได้รับส่งเสริมต้องจำหน่ายที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่เลิกหรือโอนกิจการ มิฉะนั้นให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายที่ดิน
อย่างไรก็ตาม การใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป กล่าวคือ พ.ร.บ. EEC ให้สิทธินักลงทุนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินใน “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ” ด้วยการ “เช่า” แต่เป็นระยะเวลายาวนานถึง 1 ชั่วอายุคนคือ 49+50 ปี พร้อมกับได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ อาทิ การ “ยกเว้น” หรือลดหย่อนภาษีเป็นกรณีพิเศษ, ยกเว้นการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา ฯลฯ
ส่วน พ.ร.บ. BOI ให้สิทธินักลงทุนต่างด้าวในการ “ซื้อที่ดิน” ได้ แต่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามประเภทกิจการนั้น ๆ เท่านั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :