นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเรื่องตัวแทนการให้บริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ (banking agent) นั้น ธปท. ขอชี้แจงว่าไม่ได้เป็นการอนุญาตให้เอกชนมาขอใบอนุญาตทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ใหม่ และปัจจุบัน ธปท. ยังไม่มีนโยบายให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่
อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับช่องทางการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับบริการการเงินได้สะดวกและทั่วถึงมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนตัวแทนธนาคารพาณิชย์ หรือ banking agent นั้น จะมีขอบเขตการให้บริการจำกัด
โดยธนาคารพาณิชย��จะเป็นผู้เลือกตัวแทนการให้บริการทางการเงิน (banking agent) โดยเปิดกว้างให้ได้ทั้งนิติบุคคลและบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่ ธปท. กำหนด และธนาคารพาณิชย์จะต้องจัดให้มีระบบควบคุมและบริหารความเสี่ยงสำหรับธุรกรรมที่ทำผ่าน banking agent
อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีกระแสข่าวร้านสะดวกซื้อประกาศให้บริการฝาก-ถอนเงิน โดยกล่าวอ้างว่าเป็นแบงกิ้งเอเยนต์นั้น อยู่ในเงื่อนไขอื่น ซึ่ง ธปท. อยู่ระหว่างตรวจสอบ
ปลัดคลังหนุนเซเว่นฯ รับฝาก-ถอน-โอนเงิน เพิ่มทางเลือก
แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังไม่อนุญาต ฝาก ถอน โอนเงิน ในร้านสะดวกซื้อ แต่มีความเห็นของปลัดกระทรวงการคลังที่ออกมาสนับสนุน เพราะมองว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น ขณะที่ธนาคารต้องปรับตัวรองรับบริการลักษณะดังกล่าวในยุคไทยแลนด์ 4.0
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เห็นด้วย หากร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น 7-11 จะเป็นตัวแทนธนาคารหรือแบงกิ้งเอเยนต์ เปิดบริการฝาก-ถอน-โอนเงินกับประชาชน มองว่าเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้รับฝากถอนเงิน เพราะปัจจุบัน ถอน โอนเงินฝากผ่านมือถือมากขึ้นอยู่แล้ว จึงเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้บริษัทเอกชนที่จะดำเนินธุรกิจ banking agent ต้องมีคุณสมบัติในหลายด้าน ทั้งจำนวนเงินทุน ตั้งสำรองดำเนินธุรกิจ จำนวนสาขา บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีข้อกำหนดตามหลักธรรมาธิบาล นับว่ามีเอกสารต้องเสนอหลายอย่าง ข้อกำหนดพิจารณาอย่างรัดกุมมากตามมาตรฐาน ธปท. เพราะหากเอกชนรายใดไม่พร้อมจะดำเนินการไม่ได้ เนื่องจากเป็นบริการทางการเงิน
อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบาย e-payment อำนวยความสะดวกบริการทางการเงินให้กับประชาชน เพื่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ขณะที่แบงก์รัฐ หรือธนาคารอื่นต้องปรับตัวรองรับบริการลักษณะดังกล่าวด้วยเช่นกันในยุคไทยแลนด์ 4.0