สงครามโลกครั้งที่ 1 หรือมหาสงครามมักถูกหลายคนมองข้ามไป แม้แต่วัฒนธรรมป๊อปก็เลือกจะไปทำภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 มากกว่า ทั้งที่สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นสาเหตุให้มีทหารเสียชีวิตในสนามรบกว่า 9.7 ล้านคน และยังมีพลเรือนเสียชีวิตอีกกว่า 10 ล้านคน จากนวัตกรรมการโจมตีทางอากาศ ปืนกล และอาวุธเคมี
ในเวลา 11.00 น.ของวันที่ 11 พ.ย. 1918 ข้อตกลงสงบศึกระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับเยอรมนีเริ่มมีผลบังคับใช้ ก่อนที่จะมีการลงนามสนธิสัญญาแวร์ซายส์ เพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างเป็นทางการในปีต่อมา
สงครามโลกครั้งนี้มีความซับซ้อนและมีรายละเอียดที่น่าสนใจอยู่จำนวนมาก วอยซ์ออนไลน์ได้คัด 8 สิ่งน่ารู้และเกร็ดความรู้ที่หลายคนอาจไม่รู้มาก่อนเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 1
1) สงครามโลกครั้งที่ 1 (WWI) ถูกเรียกว่า มหาสงคราม (Great War) เพราะ...
หนังสือ First World War for Dummies อธิบายว่า "มหาสงคราม" เป็นชื่อสามัญของสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะสงครามครั้งนี้เป็นความขัดแย้งที่มีขนาดใหญ่ เกิดขึ้นทั่วยุโรปเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยุคนโปเลียน
อย่างไรก็ตาม คำว่า Great เองก็มีความหมายในเชิงบวกแฝงอยู่ด้วย เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรเชื่อว่า พวกเขากำลังต่อสู้กับลัทธิทหารอันชั่วร้ายของเยอรมนี หลายคนจึงคิดว่า มหาสงครามครั้งนี้เปรียบเหมือนกับสงครามอาร์มาเกดอน ซึ่งพระคัมภีร์ไบเบิ้ลระบุว่าสงครามระหว่างความดีกับความชั่วในยุคสุดท้ายของโลก
แม้คนจะยังเรียกสงครามครั้งนี้ว่ามหาสงคราม ซึ่งมีนัยแฝงว่าเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่จะยุติสงครามทั้งปวง แต่ความเชื่อเช่นนั้นก็หายไป หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้นมาในช่วงปี 1930
2) สงครามครั้งนี้กลายเป็นสงครามโลกเพราะจักรวรรดินิยม
ในช่วงปี 1914 - 1918 30 ประเทศทั่วโลกประกาศทำสงครามครั้งนี้ โดยส่วนใหญ่เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น เซอร์เบีย รัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี สหรัฐฯ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทำสงครามต่อต้านฝ่ายมหาอำนาจกลางประกอบด้วยเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี บัลแกเรีย และจักรวรรดิออตโตมัน
ช่วงแรกสงครามครั้งนี้เหมือนจะเป็นเพียงความขัดแย้งเล็กๆ ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป แต่สงครามได้ยกระดับขึ้นเป็นการสงครามระหว่างจักรวรรดิต่างๆ ในยุโรป เมื่อจักรวรรดิอังกฤษเข้าร่วมสงคราม ความรุนแรงจึงขยายออกไปยังพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากยุโรป ทั้งในทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลางด้วย
3) คนตายมหาศาล ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ
สงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่ใช่ความตายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คือผลพวงจากการโฆษณาชวนเชื่อให้ไปรบเพื่อชาติในมหาสงครามที่เปรียบดังสงครามระหว่างความดีความชั่วในคัมภีร์ไบเบิ้ล ผู้ชายมากกว่า 65 ล้านคนถูกเกณฑ์หรืออาสาไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 1
สนามรบบริเวณหน้าด่านทางตะวันตกช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีสภาพที่โหดร้ายอย่างมาก เพราะสนามเพลาะเป็นยุทธศาสตร์การรบที่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายตั้งรับ หากจะบุกก็ต้องส่งทหารวิ่งไปยึดพื้นที่สนามเพลาะของฝ่ายตรงข้ามให้ได้ โดยระหว่างทางฝ่ายตรงข้ามก็จะใช้ปืนใหญ่และปืนกลถล่มยิง หากวิ่งหลบกระสุนไปถึงหลุมของฝ่ายตรงข้ามแล้วก็ยังเป็นไปได้ยากที่จะยึดได้ เพราะทหารที่รอดชีวิตมีน้อย และฝ่ายตั้งรับยังสามารถเรียกกำลังเสริมได้ง่ายกว่าอีกด้วย
สงครามครั้งนี้ยังเป็นสงครามโจมตีพลเรือนในพื้นที่ที่กองทัพเข้าไปบุกยึดได้ การโจมตีพลเรือนในพื้นที่ยังเรียกคะแนนนิยมให้กับประชาชนในประเทศบ้านเกิดไปด้วย เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศพยายามโฆษณาชวนเชื่อว่า ประเทศฝ่ายตรงข้ามเป็นพวกชั่วร้ายกันทั้งประเทศ
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังเป็นสงครามแห่งการผลิตเทคโนโลยีทางทหารและอาวุธ การใช้เครื่องบินโจมตีทางอากาศทำให้ทหารและพลเรือนไม่สามารถตอบโต้กลับไปมากนัก อีกทั้งยังมีการใช้อาวุธเคมีอย่างแพร่หลายก่อนที่จะมีสนธิสัญญาแบนอาวุธเคมีเมื่อจบสงครามโลกครั้งที่ 1 และอาวุธที่สำคัญที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็คือปืนกล ที่สามารถยิงได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องบรรจุลูกกระสุนทุกครั้งที่ยิงเสร็จเหมือนที่ผ่านมา
4) ชีวิตหดหู่ในสนามเพลาะ
สนามเพลาะเป็นหลุมแคบๆ ยาวๆ ที่ทหารขุดไว้เพื่ออยู่อาศัย โดยมีการนำถุงดินถุงทรายมาซ้อนทับไว้ เพื่อป้องกันกระสุน โดยแต่ละฝ่ายก็จะขุดสนามเพลาะไว้หลายๆ ชั้นสำรองไว้ ส่วนพื้นที่ตรงกลางเว้นไว้เป็นพื้นที่สู้รบที่ทหารทั้งสองฝ่ายจะวิ่งข้ามไปโจมตีอีกฝ่าย
สภาพในหลุมสนามเพลาะดินโคลนเปรอะเปื้อน สภาพชื้นแฉะ ทำให้หลายคนเป็นโรคเท้าเปื่อย สุขอนามัยในสนามเพลาะค่อนข่างย่ำแย่ มักมีหนูคอยขโมยเสบียงอาหาร และกัดเสื้อผ้า รวมถึงกระเป๋าสะพายประจำตัวทหาร อีกทั้งยังเป็นพาหะนำโรคอีกด้วย ทำให้มีการนำสุนัขมาเลี้ยงเพื่อช่วยจับหนู
กิจวัตรประจำวันของทหารอังกฤษบริเวณหน้าด่านจะต้องลุกขึ้นมาเฝ้าระวังการโจมตีตั้งแต่ 5.00 น. พอถึงช่วงกินข้าวเที่ยงแล้วทหารจะหลับในช่วงบ่าย แล้วตื่นขึ้นมาเฝ้าระวังการโจมตีในช่วงเย็นจนกว่าตะวันจะลับขอบฟ้า และในช่วงกลางคืนจะเป็นเวลาทำงาน เดินตระเวนตรวจตราความเรียบร้อย ขุดสนามเพลาะ ติดตั้งลวดหนาม เป็นต้น ส่วนช่วงเวลาพักผ่อน หลายคนจะเล่นไพ่ เขียนจดหมายหาครอบครัวหรือคนรัก
5) ความเจ็บปวดทางจิตใจส่งผลถึงความเจ็บปวดทางร่างกาย
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพอังกฤษยังมีนโยบายแจกจ่ายรัมให้ทหารทุกเช้า เพื่อให้รู้สึกอบอุ่นในสภาพอับชื้นในสนามเพลาะ อีกทั้งยังเป็นขวัญกำลังใจให้ทหาร เพราะทหารหน้าด่านได้เห็นความตายของเพื่อนทหารด้วยกันอยู่ทุกวัน ขณะที่สภาพความเป็นอยู่ก็ไม่ดีนัก แต่การแจกรัมก็ไม่ได้ช่วยมาก
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ความเจ็บป่วยที่พบเห็นได้ทั่วไปคือ Shell Shock ที่แปลตรงตัวว่า อาการตกใจเสียงระเบิด แต่ความหมายของคำนี้ครอบคลุมอาการผิดปกติทางร่างกายที่ไม่ได้เกิดจากอาการบาดเจ็บจากสงครามโดยตรง มีทหารหลายแสนคนที่กลับจากสนามเพลาะแล้วตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ เป็นอัมพาต หรือมีอาการอื่นๆ ที่แพทย์ไม่สามารถหาคำอธิบายความเสียหายทางร่างกายได้
ทหารกว่าร้อยละ 80 ที่มีอาการ Shell Shock หรืออาการเจ็บปวดทางจิตใจหลังพบเจอเหตุการณ์รุนแรง ไม่สามารถกลับไปสู้รบในสนามเพลาะได้อีกเลย
6) วัฒนธรรมฟุตบอลอังกฤษดำรงอยู่ได้เพราะผู้หญิงในโรงงานผลิตอาวุธ
ช่วงที่ผู้ชายจำนวนมากอาสาไปรบ ช่วงนี้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงออกมาทำงาน และทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เคยเป็นกิจกรรมของผู้ชาย รวมถึงการเล่นฟุตบอลด้วย
ช่วงปี 1914 - 1915 ฟุตบอลลีกสั่งระงับการแข่งขันฟุตบอล ขณะที่การแข่งขันฟุตบอลมือสมัครเล่นก็ไม่ค่อยมีคนเล่น ผู้หญิงที่เป็นพนักงานในอุตสาหกรรมผลิตอาวุธได้ก่อตั้งทีมฟุตบอลมาแข่งกับโรงงานคูู่แข่ง ซึ่งการแข่งขันฟุตบอลของพวกเธอมีคนติดตามจำนวนมาก หลายแมทช์ไปลงแข่งขันกันในสนามของคลับฟุตบอลมืออาชีพด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามสิ้นสุด นักฟุตบอลหญิงจำนวนมากต้องเลิกเล่นฟุตบอลและกลับไปเป็นแม่บ้านแม่เรือนอีกครั้งเหมือนช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่จะยังมีผู้หญิงเล่นฟุตบอลอยู่ต่อเนื่อง จนปี 1921 ที่มีการสั่งแบนไม่ให้ผู้หญิงเล่นในฟุตบอลลีก
7) คนจีนไปทำงานอยู่ในสนามเพลาะ
คนจีนถือเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างมาก แต่กลับเป็นกลุ่มที่ถูกมองข้ามเมื่อพูดถึงมหาสงคราม ทั้งที่เป็นคนแบกถุงดินถุงทราย เป็นคนบรรจุกระสุน ส่งเสบียงอาวุธและอาหาร เป็นคนเก็บกวาดพื้นที่ หลังรถไฟตกราง หรืออาคารต่างๆ ถูกทิ้งระเบิด
นักวิเคราะห์มองว่า แรงงานชาวจีนเหล่านี้ก็มีส่วนสำคัญมากในชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะพวกเขาช่วยทำงานหลังบ้านให้กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยค่าแรงที่ถูกมาก
Chinese Labour Corps เป็นกลุ่มชาวจีนที่เข้าไปใช้แรงงานในยุโรปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยส่วนใหญ่แรงงานชาวจีนจะทำงานอยู่หลังแนวรบ จึงไม่ค่อยมีชาวจีนเสียชีวิตในสนามรบ แต่เสียชีวิตจากไข้หวัดสเปนในปี 1918 เสียมากกว่า
8) สงครามโลกครั้งที่ 1 จบช้ากว่าที่หลายคนรู้ถึง 2 สัปดาห์
แม้ข้อตกลงสงบศึกจะมีผลตั้งแต่ 11.00 น. วันที่ 11 พ.ย. 1918 แต่สงครามในแอฟริกายังคงดำเนินต่อไปอีกถึง 2 สัปดาห์ เนื่องจากนายพลพาวล์ ฟอน เลตโทว-ฟอร์เบก ผู้บัญชาการกองทัพเยอรมนีในแอฟริกา ซึ่งตระเวนรบกับกองทัพอังกฤษและโปรตุเกสในแอฟริกา ไม่ยอมยุติสงคราม แม้ได้รับข่าวการสงบศึกแล้วก็ตาม
ฟอร์เบกกล่าวว่ากองทัพของเขาเป็นกองทัพที่ไม่มีใครสามารถเอาชนะได้ และเขาจะเป็นผู้ตัดสินใจยุติสงครามในแอฟริกาด้วยตัวเอง ไม่สนใจข้อตกลงสงบศึกในยุโรป จนถึงวันที่ 25 พ.ย. 1918 ฟอร์เบกจึงประกาศยอมแพ้ให้กับอังกฤษในนอร์เทิร์น โรเดเซีย หรือแซมเบียในปัจจุบัน
ที่มา : History Extra, Imperial War Museum, BBC