นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากกรณีปัญหาการนำเข้าขยะพิษของบริษัท ดับบลิว เอ็มดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด จากต่างประเทศ และประเด็นเกี่ยวกับช่องว่างทางกฎหมาย ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเคลื่อนย้ายขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กรมโรงงานฯ ขอชี้แจงให้ทราบว่า โดยปกติแล้วการนำเข้าของเสียอิเล็กทรอนิกส์นั้นสามารถกระทำได้ แต่จะต้องอยู่ในขั้นตอนการขออนุญาตนำเข้าของเสียเคมีวัตถุภายใต้อนุสัญญาบาเซล ที่มีกระบวนการตั้งแต่การพิจารณาคำขอ คำยินยอมจากรัฐบาล หรือหน่วยงานรัฐจากประเทศต้นทาง จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบความพร้อมในด้านที่จัดเก็บ แผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย กระบวนการผลิต ฯลฯ ของโรงงานผู้นำเข้า ตามด้วยการยืนยันตอบรับหรือปฏิเสธไปยังประเทศต้นทาง และหากได้รับการยินยอมแล้ว จะพิจารณาออกใบอนุญาตนำเข้าและขึ้นทะเบียน โดยขั้นตอนสุดท้ายผู้นำเข้าจะต้องแจ้งยอดการนำเข้าให้กับทางหน่วยงานที่ดูแลกำกับได้รับทราบทุกครั้ง
สำหรับในการออกใบอนุญาตการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ จะออกให้เฉพาะโรงงานที่ประสงค์นำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเป็นวัตถุดิบในโรงงานของตนเองเท่านั้น ไม่สามารถนำไปขายหรือจำหน่ายต่อให้ผู้อื่นหรือโรงงานอื่นได้ และปริมาณที่นำเข้าต้องสอดคล้องกับกำลังการผลิตของโรงงาน แต่บริษัทดับบลิว เอ็มดี ไทย รีไซคลิ้งฯ รวมถึงอื่นๆ ที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา เข้าข่ายลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ และอาจมีการสำแดงข้อมูลอันเป็นเท็จต่อศุลกากรและเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะต้องระวางโทษตามมาตรา 73 จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่หลายฝ่ายมีความเข้าใจว่า เป็นการสร้างมลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อม ข้อมูลดังกล่าวอาจมีบางส่วนที่เข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะการนำเข้าขยะดังกล่าว หรือ E-waste โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Waste from Electrical and Electronic Equipment : WEEE) เมื่อนำมาถอดแยกโดยโรงงานที่มีศักยภาพเพียงพอ ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และมีการควบคุมมลพิษที่ดี จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ทั้งยังได้แร่โลหะซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีมูลค่าสูง
นอกจากนี้ กระบวนดังกล่าวนับเป็นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีตัวอย่างจาก ประเทศญี่ปุ่นที่จะนำโลหะมีค่าที่สกัดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ ทองคำ ทองแดง มาผลิตเป็นเหรียญรางวัลที่จะใช้ในกีฬาโอลิมปิก ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2020
นายมงคล กล่าวว่า โรงงานที่ตรวจพบในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ไม่ใช่โรงงานเถื่อน แต่หากกรณีเป็นโรงงานเถื่อนและสำแดงเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ จะมีความผิดฐานตั้งและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดฐานครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข่าวเกี่ยวข้อง :