สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เผยแพร่หนังสือที่ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการบังคับคดี 1 สำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งเตือนถึง 13 แกนนำและแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้แก่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล , นายพิภพ ธงไชย, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือนายรัชต์ชยุตม์ ศิรโยธินภักดี , นายนรัญยู หรือศรัณยู วงษ์กระจ่าง, นายสำราญ รอดเพชร, นายศิริชัย ไม้งาม, นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และนายเทิดภูมิ ใจดี
ให้มาชำระหนี้ตามคำพิพากษา ให้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นเงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น นับตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2551 จนกว่าชำระเสร็จ (เงินต้นรวมดอกเบี้ยจะมีจำนวนเงินอยู่ที่ 744 ล้านบาท) รวมถึงใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความจำนวน 597,847 บาท ภายหลังจากศาลแพ่ง มีคำพิพากษาให้บุคคลทั้ง 13 ราย ชำระหนี้ตามกฎหมาย จากคดีปิดยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง เมื่อปี 2551
ในหนังสือระบุด้วยว่า หากไม่ดำเนินการ ทอท. จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดอายัดทรัพย์สินของ 13 แกนนำพันธมิตรฯ ขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ต่อไป
สำหรับ เหตุการณ์กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปิดสนามบินทั้ง 2 แห่ง เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 24 พ.ย.-3 ธ.ค.2551 เพื่อประท้วงรัฐบาลและขับไล่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ส่งผลให้ทั้ง 2 สนามบินต้องหยุดการให้บริการ
อย่างไรก็ดี หลังเหตุการณ์ปิดยึด 2 สนามบิน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินความเสียหายว่ามีมูลค่า 2 แสนล้านบาท กระทบธุรกิจท่องเที่ยว สายการบิน การขนส่งทางอากาศ และธุรกิจต่อเนื่อง ขณะที่ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินความเสียหาย ภาพรวมเศรษฐกิจมีมูลค่า 134,000-215,000 ล้านบาท พร้อมประเมินว่าจะทำให้จีดีพีปี 2551 ขยายตัวเพียง 4.1-4.4 % อีกด้านหนึ่งในสิ้นปี 2551 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สิ้นปี 2551 ว่า เติบโตเพียง 2.6% ซึ่งชะลอลงมาก เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีอัตราการขยายตัว 4.9%
ขณะที่ นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ท่าอากาศยานไทยเคยประเมินว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสูญเสียรายได้ไปกว่า 350 ล้านบาท นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางอากาศยังสูญเสียรายได้กว่า 25,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมความเสียหายของสายการบินต่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่ง อีกทั้งสถาบันการเงินต่างๆ วิเคราะห์ว่าจะกระทบกับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทยระยะยาว และบางประเทศขาดความเชื่อมั่นเตือนไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทย
อ่านเพิ่มเติม :