ไม่พบผลการค้นหา
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายปีใหม่ ชี้เงินสะพัด 1.32 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 13 ปี เพิ่มจากปีก่อน 2.1% คนไทยนิยมมอบเงินสดเช็คของขวัญ และเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากที่สุด

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ว่า ในภาพรวมคาดว่าประชาชนทั่วประเทศจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับในช่วงปีใหม่นี้ประมาณ 132,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.1% ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการสำรวจมาในรอบ 13 ปี

แบ่งเป็น การใช้จ่ายของประชาชนในกรุงเทพฯ 64,292 ล้านบาท และการใช้จ่ายของประชาชนในต่างจังหวัด 67,757 ล้านบาท และหากรวมการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น มาตรการช้อปช่วยชาติ, โครงการ "รวมใจ เพิ่มสุข ช้อปสนุก ลดรับปีใหม่" และมาตรการอื่นๆ เช่น เที่ยวช่วยชาติ คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้รวมทั้งสิ้น 159,632 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.4%

ทั้งนี้ หากแยกเป็นพฤติกรรมการใช้จ่ายสำหรับตัวเองจะพบว่า 3 อันดับแรกที่ประชาชนจะนำเงินไปใช้จ่ายมากสุด คือ การทำบุญ รองลงมา คือ ท่องเที่ยว และจัดเลี้ยงสังสรรค์ ส่วนการใช้จ่ายเพื่อซื้อของขวัญให้ผู้อื่น ของขวัญยอดนิยม 3 อันดับแรก คือ เงินสดและเช็คของขวัญ รองลงมา คือ การรับประทานอาหาร และกระเช้าของขวัญ

ส่วนพฤติกรรมการท่องเที่ยวของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 83.5% ยังเลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ขณะที่อีก 16.5% เป็นการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ทั้งนี้ หากเป็นการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ จะเป็นการท่องเที่ยวประเทศในแถบเอเชียสูงสุด รองลงมา คือ ยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง

ส่วนการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ จะเป็นการท่องเที่ยวในจังหวัดภาคกลางสูงสุด รองลงมาคือ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดในภาคเหนือ โดยสถานที่ประชาชนเลือกจะเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศมากสุด คือ ภูเขา รองลงมา คือ ทะเล, น้ำตก, โบราณสถาน เป็นต้น

สำหรับการใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยว หากเป็นการท่องเที่ยวในประเทศจะเฉลี่ยคนละ 13,960 บาท แต่หากเป็นการท่องเที่ยวต่างประเทศจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 60,135 บาท โดยแหล่งที่มาของเงินสำหรับการใช้จ่ายส่วนใหญ่จะมาจากเงินเดือน/รายได้ปกติ รองลงมา คือ โบนัส/รายได้พิเศษ และเงินออม

ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 38% ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงปีใหม่ให้เพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง

เมื่อถามถึงสิ่งที่เป็นห่วงในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 พบว่า ประชาชนห่วงมากสุด คือ อุบัติเหตุในท้องถนน รองลงมาคือ ความไม่เพียงพอของรถบขส./รถไฟ ด้านการจราจรที่อาจมีปัญหา การก่อการร้าย เช่น ระเบิด ปัจจัยที่น่าห่วงได้แก่ ยาเสพติด อัตราดอกเบี้ย เศรษฐกิจ เป็นต้น ส่วนปัญหาที่รัฐบาลควรแก้ไขเร่งด่วนคือ การเตรียมความพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ ปัญหาสังคม เสถียรภาพทางการเมือง และเศรษฐกิจโดยรวม เป็นต้น

สำหรับของขวัญหรือพรที่ต้องการให้กับตนเองมากที่สุดคือ 31% ค้าขายดี เงินทองไหลมาเทมาตลอดทั้งปี ทำมาค้าขึ้น อันดับสองคือ มีความรักความสุขจากครอบครัว 23.4 % มีการงานที่มั่นคง มีความก้าวหน้า 20.6 % มีสุขภาพแข็งแรง 15.7% และมีบ้านและรถยนต์ใหม่ 9.4% พร้อมกันนี้ ประชาชนระบุว่าตั้งใจปรับปรุงตัวเองในเรื่องการมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รวมถึงออกกำลังกาย/รักษาสุขภาพ และทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัด 1.32 แสนล้านบาท มีอัตราการเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.1% เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัว จึงเริ่มเห็นการซื้อสินค้าคงทน และสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าการจับจ่ายใช้สอยจะเริ่มกลับมาเป็นปกติในช่วงปลายไตรมาส 2 ของปี 2561


"เศรษฐกิจเริ่มฟื้น ทำให้มั่นใจว่าจะเติบโตได้ 4% เพราะมีการซื้อสินค้าในจำนวนชิ้นที่เพิ่มขึ้น และมูลค่ามากกว่าปีก่อน และคาดว่า การใช้จ่ายและกำลังซื้อของประชาชนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในภายในปลายไตรมาส 2 ปี 2561" นายธนวรรธน์ระบุ