ในงานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2561 "ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี" จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI)
'ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์' ประธานทีดีอาร์ไอ เริ่มต้นเปิดงานเสวนาครั้งนี้ ด้วยการกล่าวถึง 'พระโควันพืชมงคล' สัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงที่ประเทศไทยยังคงพึ่งพิงภาคเกษตร โดยปีนี้พระโคกินหญ้า-น้ำ-เหล้า เสี่ยงทายว่า เศรษฐกิจจะรุ่งเรือง
ทว่า ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่พึ่งพาภาคบริการและภาคการผลิต 'พระโค' ในวันนี้จึงต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนให้กลายเป็น 'วากิว'
เพราะวากิว เป็นเนื้อวัวระดับพรีเมียมของญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึง Craft Economy ที่อาศัยการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไปโดยใช้เทคโนโลยีมาปรับปรุงการผลิต เช่น การใช้ปลอกคอเซนเซอร์เพื่อวัด และมีการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดมาตรฐาน จากการการแบ่งเกรดเนื้อ เก็บประวัติพ่อวัวและแม่วัว เป็นต้น
ดังนั้น วากิวจึงเป็นหนึ่งในตัวอย่างง่ายๆ ที่ทำเห็นได้ชัดว่า ประเทศไทยต้องการการปรับตัวจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ธุรกิจ และประชาชน การกำหนดนโยบายสาธารณะจะต้องสอดคล้องกับยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างถอนรากถอนโคนต่อเศรษฐกิจหลายด้าน ทั้งเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ ตลอดจนคนทำงานอาชีพต่างๆ
การมาถึงของ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์
ดร.สมเกียรติ ฉายภาพความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และออโตเมชั่น ว่ามีความสามารถทัดเทียมหรือเกินกว่ามนุษย์ไปแล้วในหลายด้าน เช่น Alpha Go หรือ อัลฟา โก ซึ่งสามารถเอาชนะมนุษย์ได้เป็นครั้งแรกในการแข่งขันโกะเมื่อปีที่ผ่านมา และปัจจุบันยังมี Akpha Go Zero ที่สามารถเอาชนะ Alpha Go ด้วยการเรียนรู้เพียง 3 วัน, Libratus หรือลิบราตัส ซึ่งสามารถเล่นโป๊กเกอร์ชนะคนด้วยการบลัฟ (Bluff) รวมถึง Xiaoyi (เสียวยี่) หุ่นยนต์ที่สามารถสอบผ่านใบอนุญาตแพทย์ได้ แม้กระทั่ง Sophia หุ่นยนต์ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้ ถึงขั้นได้รับสัญชาติในซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น
AI เหล่านี้ ทำงานโดยอาศัยหลักการพื้นฐาน 4 อย่าง คือ การมีเซ็นเซอร์ (Sensors) การเก็บรวบรวมข้อมูลขนาดมหึมา (Big Data) การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI/Deep Learning) รวมถึงการประมวลผลและเก็บข้อมูล (Cloud Computing)
โดยปัจจุบันการพัฒนา AI สามารถเลียนแบบมนุษย์ในหลายขั้น อาทิ
ใครจะเป็นมหาอำนาจด้าน AI ของโลก
ในระดับโลก ผู้เล่นทางฝั่งประเทศตะวันตกคงหนีไม่พ้นสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ขณะที่ฝั่งเอเชียมี จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ที่แข่งกันกำหนดยุทธศาสตร์และลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
เมื่อพิจารณาเม็ดเงินการลงทุนในประเทศฝั่งเอเชีย พบว่า ในปี 2561 จีนลงทุน 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ทำให้จีนเป็นผู้นำด้านการตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับ AI มากที่สุดในโลก เป็นเจ้าของสิทธิบัตรที่แซงหน้าสหราชอาณาจักรไปแล้ว แต่ยังเป็นรองสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การกำหนดนโยบายเช่นนี้ทำให้จีน มีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นมากที่สุดในโลก
ขณะที่ เกาหลีใต้เองมียุทธศาสตร์ Intelligence Information Society ด้วยเงินลงทุน 860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ญี่ปุ่นมียุทธศาสตร์ Connected Industries มีเงินลงทุน 720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไต้หวันมียุทธศาสตร์ AI Taiwan ด้วยเม็ดเงิน 338 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ทางสิงคโปร์มียุทธศาสตร์ AI Singapore ตัวเลขลงทุนอยู่ที่ 112 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น
"ส่วนประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์อะไรเลย เราจึงจำเป็นที่ต้องปรับโมเดลการพัฒนาประเทศให้โตได้ในความปั่นป่วน"
ความปั่นป่วนจากเทคโนโลยี ท้าทายแรงงานหนักขึ้น
ดร.สมเกียรติ กล่าววว่า การเกิดขึ้นของ AI อาจทำให้บางอาชีพ บางอุตสาหกรรม ถูกเขย่าจากการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม ยังมีงานอยู่ 3 ประเภท ที่ไม่ถูกกระทบจากการความปั่นป่วนโดยเทคโนโลยี ได้แก่ กลุ่ม Hand หรือกลุ่มงานที่ใช้มือผลิตแบบประณีต, กลุ่ม Head หรือกลุ่มงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และ กลุ่ม Heart กลุ่มทำงานที่ใช้ความฉลาดทางสังคม
3 ทางเลือก-ทางรอด
ดร.สมเกียรติ ฉายภาพ 3 แนวทางให้เห็นว่า หากประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ประเทศไทยจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
แนวทางที่ 1 เศรษฐกิจไทยไม่มีการพัฒนา บวกกับถูกปั่นป่วนจากเทคโนโลยีของต่างประเทศ การผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มในหลายอุตสาหกรรมจะย้ายออกไปต่างประเทศ เช่น ในอุตสาหกรรมสื่อ ที่สื่อออนไลน์จะเข้ามาแทนที่ อุตสาหกรรมการเงิน ที่จะมี fintech เข้ามา อุตสาหกรรมการผลิตมี Automation หรือระบบอัตโนมัติเข้ามา จะเกิดการ re-shoring หรือการหวนกลับประเทศต้นทาง
หากเป็นไปตามแนวทางนี้ เศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5 ต่อปีตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่น่าจะโตได้เพียงร้อยละ 2.1 ต่อปี คนไทยจะมีรายได้ต่อหัว 8,600 ดอลลาร์สหรัฐ และมีตำแหน่งงานหายไปราว 3 ล้านตำแหน่ง
แนวทางที่ 2 ประเทศไทยเดินหน้าด้วยยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งนำการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และ 10 อุตสาหกรรม S-Curve มาเป็นเรือธง รวมทั้งใช้มาตรการทางภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุน แต่แนวทางนี้กลับขาดการเชื่อมโยงบริษัทต่างชาติเข้ากับการผลิตแรงงานที่มีทักษะฝีมือสูง และขาดงานวิจัยที่เชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา ต่างจากสิงคโปร์ที่ดึงดูดการลงทุนด้วยการให้ทุนทำวิจัยร่วม
หากเป็นไปในลักษณะนี้ ประเทศไทยจะโตได้ร้อยละ 3.1 ต่อปี รายได้ต่อหัวจะอยู่ที่ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ และยังไม่สามารถพาประเทศหลุดจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางได้ นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งงานหายไป 1.5 ล้านตำแหน่ง
แนวทางที่ 3 เศรษฐกิจแห่งอนาคต เป็นการต่อยอด ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยยุทธศาสตร์การใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างจริงจัง และเชื่อมโยงการลงทุน เพื่อสร้างงานใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และแรงงานมีรายได้สูง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโตได้ร้อยละ 4.3 ต่อปี รายได้เฉลี่ยของคนไทยจะอยู่ที่ 12,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ประเทศเราจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำและหลุดจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ภายในปี 2579
นอกจากนี้ แนวทางที่ 3 หากต่อยอดจากกลุ่ม Hand-Head-Heart หรือ 3H มาผนวกเป็นเศรษฐกิจแบบใหม่ ย่อมพบเศรษฐกิจแห่งอนาคต 3C ได้แก่
ดังนั้น โจทย์สำคัญในวันนี้คือ จะทำอย่างไรให้ 'พระโค' เปลี่ยนเป็น 'วากิว'
แล้วคำตอบจาก ทีดีอาร์ไอคือ ประเทศไทยต้องไม่ได้อาศัยเฉพาะการปรับโมเดลการพัฒนาประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการปรับการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะใหม่ ปรับระบบสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ปรับทัศนคติภาครัฐในการกำหนดนโยบายและออกกฎระเบียบด้วย