แม้ว่าในการเลือกตั้งมาเลเซียที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 9 พ.ค.ที่จะถึงนี้ พรรคการเมืองต่างๆในมาเลเซียต่างมุ่งหาเสียงกับกลุ่มเยาวชนที่เป็นคนรุ่นใหม่เป็นหลัก เนื่องจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ทั่วมาเลเซียมีกว่า 18.7 ล้านคน เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 21 - 39 ปี ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจำนวนดังกล่าวเป็น 2 เท่าของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
หลายพรรคการเมืองของมาเลย์อย่างเช่น พรรคประชาชนยุติธรรมมีการเปิดตัวผู้สมัครที่มาจากกลุ่มตัวแทนของเยาวชน หรือพรรคของ ดร.มหาเธร์ ที่มีการส่งผู้สมัคร ส.ส.ที่เป็นหัวหน้าเยาวชนอายุ 25 ปี นายซายิด ซัดดิกลงท้าชิงในการเลือกตั้งครั้งนี้
นายซัดดิกกล่าวว่า "ทางที่ดีที่สุดสำหรับการเป็นตัวแทนของกลุ่มเยาวชน คือ การที่พวกเขาให้พวกเราเป็นกระบอกเสียงของพรรคการเมือง"
ขณะที่ทางพรรครัฐบาลอย่างพรรคแนวร่วมแห่งชาติ หรือBN ก็ออกนโยบายรวมไปถึงการผ่านยุทธศาสตร์แห่งชาติของมาเลเซียปี 2020 - 2050 ก่อนที่จะมาการประกาศวันเลือกตั้ง โดยทางรัฐบาลมีการประชาสัมพันธ์และโปรโมทคลิปวิดิโอที่มีสาระมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนโดยเฉพาะ
"วันวาน ปัจจุบัน และอนาคต รัฐบาลจะให้โอกาสแก่คุณทุกคน" คำกล่าวดังกล่าวปรากฎอยู่ในการโปรโมทยุทธศาสตร์แห่งชาติของมาเลเซีย
จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนมากที่เป็นเยาวชนนั้น ส่วนใหญ่ย้ายมาจากเขตชนบทของมาเลเซียมาสู่เมืองใหญ่อย่างกัวลาลัมเปอร์ ปีนังและยะโฮร์ บาห์รู ต่างมีความกังวลในเรื่องของโอกาสในการหางานและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นหลักมากกว่าความสนใจในเรื่องการเมือง
จากการสำรวจของโพลภายในประเทศมาเลเซียเกี่ยวกับความเห็นของเยาวชนรุ่นใหม่ของมาเลเซียต่อการเมือง พบว่า กว่า 70 เปอร์เซ็นต์พวกเขาไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลได้ รวมไปถึงไม่เชื่อว่าตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งจะใส่ใจประชาชนที่เป็นเยาวชนอย่างพวกเขา
ทั้งนี้จากการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ผ่านมา มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาลงทะเบียนทั้งสิ้น 14.9 ล้านคน คิดเป็น 67 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ซึ่งใน 14.9 ล้านคนนี้พบว่าเป็นเยาวชนที่มีอายุ 21 - 30 ปี เพียง 67 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มาลงทะเบียน
"คุณต้องไปเลือกตั้ง เพราะว่าถ้าคุณอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คุณต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง"
อัลยา อาซิส นักศึกษาวัย 22 ปี หนึ่งในผู้ที่ไม่ได้มาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ กล่าวว่า "ฉันไม่รู้เกี่ยวกับการเมืองมากนัก ฉันรู้แต่เพียงว่าเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ ดอกเบี้ยพุ่งสูงและฉันไม่ต้องการให้มันแย่ลงกว่าเดิม"
ปรากฎการณ์เยาวรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมืองและเพิกเฉยต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าเกิดจากการที่นักศึกษาถูกห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองในองค์กรที่มหาวิทยาลัยเห็นว่าเป็นอันตรายต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวไม่ได้บรรยากาศให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยขึ้นในกลุ่มเยาวชน
"กฎหมายอนุญาตให้นักเรียนมีส่วนร่วมและมีส่วนร่วมในพรรคการเมืองได้ แต่ไม่ใช่องค์กรที่มหาวิทยาลัยเห็นว่า เป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย...อาจรวมไปถึงองค์กรในระดับรากหญ้าด้วย นี่เป็นข้อจำกัด และไม่มีความเป็นประชาธิปไตย " ซายาเรดซาน โจฮัน ผู้เป็นนักกฎหมายกล่าว
วุน เซินยี นักวิเคราะห์จากสถาบันนโยบายสาธารณะศึกษาเชื่อว่า การเติบโตของโซเชียลมีเดียจะเป็นช่องทางที่ทำให้นักศึกษาสามารถสื่อสารกับนักการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆได้โดยตรงมากกว่า นอกจากนี้เขายังกล่าวว่า ช่องว่างระหว่างนักการเมืองและนักศึกษาเยาวชนเป็นเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้พวกเขารู้สึกถึงความไม่เชื่อมโยงกัน
ขณะที่ประชาชนรุ่นใหม่บางคนเห็นว่าการเมืองของมาเลเซียนั้นยังไม่มีนักการเมืองหรือผู้สมัครคนใดที่สามารถเป็นตัวแทนของความเชื่อหรือเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ได้
อัสมาลิซา รอมลี วัย 32 ปี กล่าวว่า "ในต่างประเทศล้วนมีผู้นำรุ่นใหม่อย่างจาซิด้า อาร์เดนของนิวซีแลนด์ หรือจัสติน ทรูโดของแคนาดา ฉันยังไม่เห็นผู้สมัครที่จะเป็นตัวแทนความเชื่อในเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องความยากจน เรื่องเศรษฐกิจสังคมได้และหวังว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเห็นผู้นำรุ่นใหม่ของมาเลเซีย...ทั้งนี้ฉันตระหนักได้ว่า คุณต้องไปเลือกตั้งเพราะว่าถ้าคุณอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คุณต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง"
ที่มา BBC / NikkeiAsianReview / Channal NewsAsia
ข่าวที่เกี่ยวข้อง