ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ครู/อาจารย์ และ การศึกษาไทยในปัจจุบัน” เป็นคำถามเกี่ยวกับ ครู/อาจารย์ และการศึกษาไทยในปัจจุบัน จากการสำรวจเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนความรู้สึกของประชาชนเกี่ยวกับข่าว ครูตรวจการบ้านผิด, ครูปล่อยปละนักเรียนจนถูกรุ่นพี่ล่วงละเมิดทางเพศ, อาจารย์ให้นักศึกษาแก้เกรดด้วย SEX ฯลฯ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.38 ระบุว่า ไม่มีจรรยาบรรณในการเป็นครู/อาจารย์ รองลง ร้อยละ 33.94 ระบุว่า ไม่มีคุณธรรม (เมตตา กรุณา ซื่อสัตย์ สุจริต) ร้อยละ 27.42 ระบุว่า ไม่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และวิชาชีพครู ร้อยละ 19.87 ระบุว่า ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับศิษย์ ร้อยละ 17.73 ระบุว่า ไม่เอาใจใส่ศิษย์ไม่ใส่ใจการสอน ร้อยละ 6.36 ระบุว่า เป็นการกลั่นแกล้ง ดูถูกเหยียดหยามศิษย์ ร้อยละ 2.86 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ รู้สึกเฉย ๆ อยู่ที่ตัวครู/อาจารย์และเด็ก และร้อยละ 1.11 ไม่ระบุ/ ไม่แน่ใจ
ด้านคุณสมบัติที่ดีของ “ครู/อาจารย์” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.94 ระบุว่า เป็นที่ปรึกษาและรับฟังปัญหาของนักเรียนในเรื่องต่าง ๆ รองลง ร้อยละ 23.13 ระบุว่า มีทักษะในการสอน ถ่ายทอดความรู้ได้ดี ร้อยละ 18.36 ระบุว่า มีระเบียบวินัย ร้อยละ 14.87 ระบุว่า เก่ง มีความรู้ความสามารถ พัฒนาตัวเองหาความรู้อยู่เสมอ ร้อยละ 4.85 ระบุว่า ใจดีไม่ดุ ไม่ลงโทษเด็ก ร้อยละ 4.77 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับศิษย์ มีคุณธรรมและจริยธรรม และร้อยละ 0.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ส่วนความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับจรรยาบรรณ “ครู/อาจารย์” ที่ควรมีมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 31.72 ระบุว่า อบรม สั่งสอน ฝึกฝน สร้างความรู้ ทักษะและนิสัยที่ถูกต้องดีงามให้แก่ศิษย์เต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ รองลงมา ร้อยละ 27.82 ระบุว่า รักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือส่งเสริม ให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์เสมอ ร้อยละ 25.68 ระบุว่า รักและศรัทธาในวิชาชีพ และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพครู ร้อยละ 8.35 ระบุว่า ไม่แสวงหาประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร้อยละ 3.81 ระบุว่า ไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกายสติปัญญา จิตใจ อารมณ์และสังคมของศิษย์ ร้อยละ 2.46 ระบุว่า ปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญา และวัฒนธรรมไทย และร้อยละ 0.16 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความคาดหวังของประชาชนต่อ “ครู/อาจารย์” ไทยในปัจจุบัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.54 ระบุว่า ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี เช่น ตรงต่อเวลา พูดจาชัดเจน แสดงความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมา สุภาพเรียบร้อย เป็นต้น รองลงมา ร้อยละ 34.42 ระบุว่า ตั้งใจถ่ายทอดวิชาการ ร้อยละ 31.80 ระบุว่า ซื่อสัตย์ ยุติธรรม ไม่มีอคติลำเอียงต่อลูกศิษย์ ร้อยละ 28.06 ระบุว่า รักและเข้าใจศิษย์เพื่อที่ศิษย์จะได้กล้าปรึกษาในสิ่งต่าง ๆ ร้อยละ 24.09 ระบุว่า ส่งเสริมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนหาวิธีการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ร้อยละ 18.84 ระบุว่า ไม่ใช้อำนาจในทางที่ผิด เช่น พูดจาข่มขู่ ใช้คำพูดไม่สุภาพ เยาะหยันหรือดูถูกผู้เรียน ร้อยละ 16.06 ระบุว่า ช่วยเหลือศิษย์โดยสังเกตความผิดปกติหรือข้อบกพร่องของศิษย์ และพร้อมให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ร้อยละ 0.87 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ไม่คาดหวังอะไรกับ “ครู/อาจารย์” ไทยในปัจจุบัน และร้อยละ 0.79 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงสิ่งที่ควรปฏิรูปมากที่สุดด้านการศึกษา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 26.55 ระบุว่า ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รองลงมา ร้อยละ 24.48 ระบุว่า กลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนา ผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ร้อยละ 19.16 ระบุว่า ปรับโครงสร้างของหน่วยงานในสถานการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน ร้อยละ 12.48 ระบุว่า การบริหารจัดการกลุ่มเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน ร้อยละ 11.37 ระบุว่า การจัดการเรียนการสอน เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงใน ศตวรรษที่ 21 ร้อยละ 4.69 ระบุว่า การศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล และร้อยละ 1.27 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ