วันนี้ (27 ตุลาคม 2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ข้อมูลการส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลก ช่วง 8 เดือน (มกราคม – สิงหาคม 2567) นั้นพบว่าประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลก มีมูลค่ามากถึง 19,826 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นการส่งออกไปกลุ่มประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย มูลค่า 13,774 ล้านดอลลาร์ หรือ 4.3 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 69% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด
ซึ่งประเทศไทยสามารถครองแชมป์เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 8 ของโลก
โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่
- จีน สัดส่วนกว่า 31% ของการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยทั้งหมด
- อาเซียน สัดส่วน 15%
- ญี่ปุ่น สัดส่วน 11%
- เกาหลีใต้ สัดส่วน 3%
ตลาดที่เติบโตได้ดี ได้แก่
- อาเซียน ขยายตัว 39%
- อินเดีย ขยายตัว 34%
- ออสเตรเลีย ขยายตัว 23%
- สิงคโปร์ ขยายตัว 10%
- เกาหลีใต้ ขยายตัว 9%
- ญี่ปุ่น ขยายตัว 7%
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเจออุปสรรคการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ และความท้าทายจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน แต่แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยยังมีทิศทางที่ดี และขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากรายงานถึงสถิติการส่งออกรายเดือน พบว่าความต้องการสินค้าเกษตรไทยเพิ่มขึ้น โดยในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 1,651 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9% จากเดือนก่อนหน้า และภาพรวมของไทยกับคู่ค้าในตลาด FTA เติบโตเพิ่มขึ้น อาทิ จีน และญี่ปุ่น ขยายตัว 11% อินเดีย ขยายตัว 24% นิวซีแลนด์ ขยายตัว 34% อาเซียน ขยายตัว 4% ฮ่องกง ขยายตัว 2% ชิลี ขยายตัว 42.8% อีกทั้ง ในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ 5 อันดับต้นของไทย ขยายตัวเป็นที่น่าพอใจทุกรายการ
โดยสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกเป็นอันดับที่หนึ่ง คือ
- ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง มูลค่า 604 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 21%
- ข้าว มูลค่า 562 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 41%
- ยางพารา มูลค่า 497 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9%
- ไก่ มูลค่า 392 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 6%
- ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่า 260 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2%
“แม้ว่าแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรไทยในอนาคตมีโอกาสขยายตัวมากขึ้น ถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งลดอุปสรรคและเงื่อนไขต่างๆ ในข้อติดขัดเพื่อสนับสนุนให้ผู้ส่งออกของไทย ทำธุรกิจได้ง่ายขึ้นซึ่งจะมีโอกาสส่งผลให้ไทยติดอันดับหนึ่งใน 5 ของโลกได้ในปีหน้า"
โดยใช้ประโยชน์จากการดำเนินการของรัฐบาลที่เปิดโอกาส ในการสร้างข้อตกลง FTA อย่างเต็มที่ โดยปัจจุบันไทยได้เจรจาจัดทำ FTA สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยทั้งสิ้น 14 ฉบับกับคู่ค้า 18 ประเทศคู่ค้า อีกทั้ง มีการลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่แล้ว อาทิ ยางพารา 16 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยแล้ว ยกเว้นจีนและอินเดีย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 15 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทย ยกเว้นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ไก่แปรรูป 14 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าไก่แปรรูปจากไทย ยกเว้นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ชิลี และเปรู ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง 12 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าแล้ว ยกเว้นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ