วอยซ์ มุ่งหน้าสู่รัฐสภา แยกเกียกกาย พูดคุยกับ ปกรณ์ อารีกุล หรือ แมน วัย 33 ปี ผู้สมัคร ส.ส. นครศรีธรรมราช เขต 1 พื้นที่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช พรรคก้าวไกล อดีตนิสิตภาควิชาสังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา คนที่ “ทำกิจกรรมอย่างบ้าคลั่ง” สมัยเป็นนักศึกษา ชอบใช้ชีวิตอยู่นอกห้องเรียนมากกว่าอยู๋ในห้องเรียน โดยมักจะลงพื้นที่ต่างๆ เพื่อไปเรียนรู้ปัญหาชาวบ้าน และเนื่องจากช่วงเรียนมหาวิทยาลัยเป็นช่วงต่อเนื่องของเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 เขาจึงมีโอกาสได้ไปร่วมสัมผัสการชุมนุมของทั้งคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดง
ซึ่งเขายอมรับว่า ด้วยความที่เป็นคนใต้ มาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2548-2549 จึงเคยเข้าไปอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวคัดค้าน ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็เกิดการตกผลึกว่า จริงๆแล้ว ปัญหาของการเมืองไทย ไม่ใช่ตัวบุคคลจากตระกูลใดตระกูลหนึ่ง อย่างที่ตระกูลชินวัตรถูกกล่าวหา แต่เป็นการรัฐประหารล้มระบอบการปกครอง และการที่ชนชั้นนำแตะต้องไม่ได้ จึงทำให้เกิดข้อสรุปว่า เขาเห็นด้วยกับการต่อสู้ของคนเสื้อแดงมากกว่า
เขาเล่าให้ฟังว่า ตัวเองมีประสบการณ์ทำงานมาแล้วหลายอาชีพ หลังเรียนจบในระดับชั้น ม.6 ได้เดินทางเข้ามากรุงเทพครั้งแรก และได้งานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง พอเรียนจบมหาวิทยาลัยก็ได้ไปทำงานภายในสถานีโทรทัศน์ และเมื่อลาออกจากงานสื่อสารมวลชน ก็ได้ทำงานในฐานะ NGO ก้ำกึ่งการเป็นออร์แกไนเซอร์จัดกิจกรรมภายในงานต่างๆ รวมถึงเป็นที่ปรึกษาด้านการสื่อสารให้องค์กรพัฒนาเอกชน โดยช่วงหลังปี 2562 เป็นต้นมา จึงได้เริ่มต้นทำงานการเมืองกับพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเขาเป็นอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ภายในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ด้วย
เมื่อถามถึงที่มาที่ไปของการตัดสินใจทำงานร่วมกันกับพรรคอนาคตใหม่ เขาเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์หลังการรัฐประหาร 2557 ที่มีการจัดกิจกรรม “รำลึก 1 ปี รัฐประหาร 22 พ.ค.” หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2558 นำโดย รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ซึ่งขณะนั้นยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหากจะให้พูดแบบไม่อาย คือเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะออกไปสู้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เสียด้วยซ้ำ
ครั้งแรกเราแค่ไปดูว่าน้องๆทำอะไร แต่แค่ไปดู เราเลยถูกจับด้วย ก็เลยรู้แล้วว่า เผด็จการมันไม่เลือก เผด็จการไม่ได้สนใจว่าคุณจะเป็นใคร แต่ถ้าคุณยืนอยู่ตรงนั้น เขาบอกให้คุณกลับบ้าน แล้วไม่กลับ เขาก็จับ
เขาจึงเริ่มต้นเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อสู้กับเผด็จการตั้งแต่นั้นเรื่อยมา และผลของการต่อสู้เหล่านั้น ทำให้เขามีคดีติดตัวมากถึง 8 คดี เมื่อไปสมัครงานตามที่ต่างๆ ก็ถูกปฏิเสธ การกลับไปใช้ชีวิตตามปกติเรียกว่าเป็นไปไม่ได้แล้ว จึงมีทางเลือกอยู่สองทางระหว่างการอยู่ในวงการจัดงานอีเว้นท์ไปเรื่อยๆ หรือกลับบ้านที่นครศรีธรรมราช แต่บังเอิญว่าหลังการเลือกตั้ง 2562 ได้รับการติดต่อจากพรรคอนาคตใหม่มาว่า พรรคอยากทำงานร่วมกับภาคประชาชน จึงได้ตอบรับมาเป็นหัวหน้าคณะทำงานส.ส. ให้กับ รังสิมันต์ ในที่สุด และได้ใช้บทบาทนี้ในการติดต่อประสานงานนำประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในประเด็นต่างๆ เข้ามายื่นหนังสือต่อสภาฯ ซึ่งเขารู้สึกดีใจ แม้ว่าพรรคอนาคตใหม่จะกลายมาเป็นพรรคก้าวไกลแล้ว แต่โจทย์ของพรรค คือ การทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติกลับมาเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน ตอบสนองปัญหาของพวกเขาได้
ดังนั้น การตัดสินใจเปิดตัวเล่นการเมืองในตอนนี้ เพราะเขามองว่า ภูมิทัศน์ทางการเมืองทั้งประเทศกำลังเปลี่ยน คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ หรือวัฒนธรรมการเมืองแบบเดิมอีกแล้ว ดังนั้น ถ้ารอให้การเมืองเปลี่ยนทั้งหมดก่อนแล้วค่อยไปทำพื้นที่ เขามองว่าจะเป็นการเอาเปรียบทั้งตัวพรรคและบุคลากรของพรรค แต่ถ้าทำตอนนี้ ต่อให้ยังไม่ชนะ ก็ถือว่าได้ไปลุยทำงานทางความคิด สร้างฐานที่มั่นให้กับพรรคแล้ว
คนจะเลือกพรรคก้าวไกลด้วยความชัดเจนทางการเมืองมีอยู่แล้ว แต่จะเปลี่ยนให้คนมาเลือกผู้สมัครเขต หรือเพิ่มคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้ได้ในพื้นที่นั้นๆ หน้าที่ของผู้สมัคร ส.ส.เขต คือ ต้องบอกประชาชนให้ได้ว่า ถ้าเลือกพรรคก้าวไกล ชีวิตพวกเขาจะดีกว่าอย่างไร ปากท้องจะดีกว่าอย่างไร
เขาบอกด้วยว่า ประชาชนในพื้นที่บางคนรู้สึกว่า ถ้าเขาเป็นผู้สมัครพรรคอื่น คงเลือกง่ายกว่า แต่เพราะเขาเข้ามาทำงานการเมืองและผ่านการทำงาน NGO รวมถึงทำกิจกรรมมามากพอที่จะเข้าใจได้ว่า ปัญหาของประเทศนี้ต้องแก้ที่โครงสร้าง ไม่ว่าจะราคาพืชผลเกษตร รัฐสวัสดิการ หรือการประมงชายฝั่ง ซึ่งเป็นปัญหาเชิงประเด็นของประชาชน และพรรคการเมืองเดียวที่พูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างก็คือพรรคก้าวไกล ถ้าหากไม่มีพรรคที่ยืนหยัดในอุดมการณ์นี้ เขาก็คงไม่เป็นผู้สมัคร ส.ส.
ภาพ : ปฏิภัทร จันทร์ทอง