ไม่พบผลการค้นหา
สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจประชาชน ต่อความกังวลในโลกโซเชียลมีเดีย

นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนามแบบผสมผสาน เรื่อง ปัจจัยเสี่ยงต่ออันตรายทางไซเบอร์ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศจำนวน 1,017 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 19-22 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา ปรากฏผลดังนี้ 

เมื่อถามว่า อันตรายทางไซเบอร์ การใช้โซเชียลมีเดีย อินเทอร์เน็ต และระบบออนไลน์ต่าง ๆ ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ 94.2 % พบการระดมปลุกปั่นในโลกโซเชียลมีเดียและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สร้างความแตกแยกของคนในชาติและสั่นคลอนสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะที่ 81.7 % เคยพบปัญหาข้อมูลการค้าขาย ธุรกรรมทางธุรกิจ ผิดปกติจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ออนไลน์ 

นอกจากนี้ 76.0 % เคยถูกหลอกลวง เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากการใช้เทคโนโลยี ดิจิทัล ระบบออนไลน์ และการใช้โซเชียลมีเดีย เป็นต้น ในขณะที่ 75.5 % เคยเจอความไม่ปลอดภัยกับข้อมูลส่วนตัวและอื่น ๆ จากการใช้บริการธนาคารและสถาบันการเงิน เช่น การถูกดูดเงินออกจากบัญชี การโอนเงิน การใช้ออนไลน์แบงก์กิ้ง เป็นต้น และ 68.5 % เคยถูกบูลลี่ (Bully) ข่มขู่ คุกคาม เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โซเชียลมีเดียและการใช้ออนไลน์ต่าง ๆ

เมื่อถามถึง ปัญหาหน่วยงานรัฐต่างคนต่างทำงาน ไม่บูรณาการเชื่อมโยงด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ เป็นผลทำให้ประเทศชาติและประชาชนเกิดอันตรายจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้โซเชียลมีเดีย ผลสำรวจพบว่า 48.9 % พบปัญหาค่อนข้างมากถึงมากที่สุดว่า หน่วยงานรัฐยังไม่ค่อยตื่นตัว ไม่บูรณาการเชื่อมโยงด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ในขณะที่ 40.3 % พบปัญหาปานกลาง

เมื่อถามถึง ระดับความเสี่ยงต่ออันตรายจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดียและระบบออนไลน์ต่าง ๆ พบว่า 50.5 % ระบุเสี่ยงค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในขณะที่36.1 % ระบุเสี่ยงปานกลาง และ 13.4 % ระบุเสี่ยงค่อนข้างน้อยถึงไม่เสี่ยงเลย

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่ 97.6 % กังวลต่ออันตรายจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และระบบออนไลน์ต่าง ๆ ในขณะที่เพียง 2.4 % เท่านั้นที่ไม่กังวลเลย