ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนเหตุการณ์รัฐบาลแต่ละยุคในอดีต ภายหลังเสร็จศึกเลือกตั้งส่วนใหญ่ใช้กรอบเวลาประมาณ 1 เดือนในการตั้งนายกฯ และ ครม.หลังการเลือกตั้ง ขณะที่การเลือกตั้งนับแต่การประกาศใช้ รธน.ปี 60 ใช้เวลาการจัดตั้งรัฐบาลกินเวลาหลายเดือน
  • รัฐบาล ชวน หลีกภัย : สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 18 

การเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2535 พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรค ได้รับชัยชนะเลือกต้ัง ด้วย ส.ส. 79 ที่นั่ง นำจัดตั้งรัฐบาลผสม 5 พรรรคการเมืองประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคกิจสังคมและพรรคเอกภาพ โดย ชวน ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 20 เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2535 และมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2535

หลังการเลือกตั้งครั้งนั้น ใช้เวลาเพียง 10 ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และ 16 วันในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี 

  • รัฐบาล บรรหาร ศิลปอาชา : สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 19 

การเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เมื่อวันที่  2 ก.ค. 2538 ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคชาติไทย นำโดย บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 ด้วยเสียง ส.ส. 92 ที่นั่ง จึงจัดตั้งรัฐบาลผสม และต่อมา บรรหารได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ตามประกาศพระบรมราชโองการ  เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2538 และต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2538

หลังการเลือกตั้งใช้เวลาแต่งตั้งนายกฯ เพียง 11 วัน และจัดตั้งคณะรัฐมนตรี 16 วัน

  • รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ : สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 20 

เลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2539 พรรคความหวังใหม่ ซึ่งมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าพรรคได้รับเลือกตั้ง ส.ส.มากที่สุด 125 ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 6 พรรค ประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่ พรรคชาติพัฒนา พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคเสรีธรรมและพรรคมวลชน  พล.อ.ชวลิต ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 22 เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2539 จากนั้นได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2539 และแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2539

รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ใช้เวลาหลังการเลือกตั้ง 8 วันในการได้นายกรัฐมนตรี และใช้เวลา 12 วันในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี

  • รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สมัยที่ 1 : สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 21

หลังการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2544 พรรคไทยรักไทย ที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรค ชนะเลือกตั้ง กวาด ส.ส.มาเป็นอันดับหนึ่ง ด้วย จำนวน ส.ส. 248 คน จัดตั้งรัฐบาลผสม และได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ตามประกาศพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2544 จากนั้นมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2544 จากนั้นได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อ 26 ก.พ. 2544

รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ 1 ใช้เวลาหลังการเลือกตั้ง เป็นเวลา 34 วันถึงได้นายกรัฐมนตรี และใช้เวลาหลังเลือกตั้ง 42 วันถึงจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ

ทักษิณ สภา นายกรัฐมนตรี PH2001020937310.jpg
  • รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สมัยที่ 2 : สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 22

หลังการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2548 พรรคไทยรักไทย นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ หัวหน้าพรรคได้ประสบความสำเร็จชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวที่มี ส.ส. 377 คน โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนนตรี คนที่ 23 ตามประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2548 โดยมี โภคิน พลกุล ประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ จากนั้นวันที่ 11 มี.ค. 2548 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2548

รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ 2 ใช้เวลาหลังเลือกตั้ง เป็นเวลา 31 วัน ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และใช้เวลา 33 วันในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี

สมัคร สุนทรเวช  สุรพงษ์ เฉลิม พลังประชาชน Hkg1477153.jpg
  • รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช : สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 23

ภายหลังการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2550 พรรคพลังประชาชน ที่สืบทอดพันธุกรรมทางการเมืองจากพรรคไทยรักไทย นำโดย สมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรค ได้นำพรรคชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 โดยกวาด ส.ส.ได้เสียงข้างมากจำนวน 233 คน จากจำนวน ส.ส. 480 คน สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสม โดย สมัครได้รับการลงมติจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2551 เห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 25 และมีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 29 ม.ค. 2551 ต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2551

หลังการเลือกตั้งปี 2550 ได้ใช้เวลา 36 วันในการแต่งตั้งนายกฯ และใช้เวลา 45 วันจัดตั้งคณะรัฐมนตรี

  • รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร : สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 24

เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 ครั้งนั้นพรรคเพื่อไทย ที่มี ยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นหัวหน้าพรรค มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้รับชัยชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน ส.ส. 265 คน จากจำนวน ส.ส. 500 คน สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสม ที่มี พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังชล พรรคชาติพัฒนา พรรคประชาธิปไตยใหม่

โดย ยิ่งลักษณ์ ได้รับเลือกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2554 และจัดตั้งคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2554

หลังการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554 ใช้เวลา 33 วันในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วยเวลา 37 วันในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี

  • รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่2 : สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 

หลังการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 การเลือกตั้งครั้งนี้ แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้รับเลือกตั้ง มาเป็นอันดับ 1 ด้วย เสียง ส.ส.ในสภาฯ จำนวน 136 คน ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 2 ด้วยจำนวน ส.ส. 116 คน แต่ด้วยกติกาการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม ใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว และกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดให้ กกต.ต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้เสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับจากวันเลือกตั้งทั่วไป และรัฐธรรมนูญกำหนดให้การลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรีต้องทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มี ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 750 คน และต้องได้เสียงมากกว่า 375 เสียงขึ้นไปในการเป็นนายกฯ

โดยกว่าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ต้องรอจนถึงวันที่ 5 มิ.ย. 2562 โดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้มีมติ 500 เสียงเห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ในสมัยที่ 2 หลังจากเป็นนายกฯ สมัยแรกที่มาจากการรัฐประหาร ขณะที่สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่25 มีพรรคการเมือง จำนวนมากถึง 26 พรรคการเมือง เพราะมีพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. 1 คนจากบัญชีรายชื่อ อยู่หลายพรรคการเมือง 

พล.อ.ประยุทธ์ได้รับพระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2562 และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีในวันที่ 10 ก.ค. 2562

หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ใช้เวลา 73 วันในการเปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อลงมติเห็นชอบนายกฯ และใช้เวลา 108 วันในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี

พิธา ประชาชาติ พรรคร่วมรัฐบาล 547.jpeg
  • เลือกตั้ง 66 รอ กกต.รับรองอย่างช้า 13 ก.ค. 66

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 14 พ.ค. 2566 ซึ่งจะถือเป็น สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ซึ่งปัจจุบัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้ประกาศผลคะแนนเลือกตั้งแบบทางการแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ผู้ชนะเลือกตั้ง และผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ได้เป็น ส.ส.เพียงสักคนเดียว ซึ่ง กกต.วางกรอบการประกาศผลเลือกตั้งอย่างช้าสุดคือวันที่13 ก.ค. 2566 ที่จะต้องมี ส.ส.ในสภาฯให้ถึงร้อยละ 95 เพื่อเปิดประชุมรัฐสภาและเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกในการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ก่อนดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีในขั้นตอนต่อไป 

ด้วยกฏกติการัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่มีกรอบเวลาไม่เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับในอดีต จึงทำให้กรอบเวลาการประกาศผลเลือกตั้งล่าช้ากว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่มีกรอบเวลาให้ กกต.ประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.โดยใช้กรอบเวลา 30 วัน

เลือกตั้ง บรรหาร ชวน ชวลิต ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ พิธา กราฟฟิก ครม IMG_5187.jpeg