แต่จนแล้วจนรอด ‘ผู้เฒ่าเฝ้ารัฐธรรมนูญ’ ทั้ง 250 คน ก็ยังทำหน้าที่ได้อย่างแข็งขัน จนสุดท้ายญัตติดังกล่าวก็ถูกปัดตกไปในชั้นวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย 157 ต่อเห็นด้วย 12 เสียง เป็นการดับฝัน ‘นับ 1 ร่างรัฐธรรมนูญใหม่’ ของพรรคร่วมฝ่ายค้านไปอย่างหมดจดงดงาม
ถึงแม้การประชุมนัดนี้จะมี ส.ว.อภิปรายไม่ถึง 20 คน แต่ถือว่ามีนัยสำคัญ เพราะมีความเห็นต่างกันแทบจะสุดขั้ว หากจะแยกแบบง่ายๆ เป็น 2 ฝั่ง ก็คือ ‘ไม่เห็นด้วย’ และ ‘เห็นด้วย’ กับการทำประชามติ ซึ่ง ‘วอยซ์’ ขอชวนมองให้ลึกลงไปถึงเหตุผลของแต่ละฝ่าย อาจจะทำให้เราเข้าใจแนวคิดของ ‘สภาผู้เฒ่า’ อันลึกลับนี้ได้ดีขึ้น
ความเห็นส่วนใหญ่ของวุฒิสภา ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘พลังเงียบ’ (เพราะเงียบเหลือเกิน ไม่ค่อยลุกอภิปราย รอยกมืออย่างเดียว!) ซึ่งหัวขบวนก็หนีไม่พ้น สมชาย แสวงการ ผู้อุตส่าห์ตั้งคณะกรรมาธิการฯ มาเพื่อดองญัตติของฝ่ายค้านข้ามปี ก่อนจะควบคุมเสียงให้ปัดตกลงไปได้ในที่สุด
สมชาย แสวงการ: ถือเป็นอีกผลงานของ ส.ว.จอมวางแผน ที่ถึงขั้นตั้งกรรมาธิการฯ จัดทำรายงานชี้ให้เห็นปัญหาต่างๆ ของการทำประชามติ เช่น ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง ใช้งบประมาณครั้งละ 3.5 พันล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จแล้วไม่ต่ำว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ไหนจะข้อเสนอทำประชามติพร้อมเลือกตั้วทั่วไป ก็เต็มไปด้วยปัญหาเวลาและบุคลากรไม่สอดคล้อง หนุนหลังด้วยความเห็นจากตัวแทน กกต. ที่วุฒิสภาเลือกมาเองกับมือด้วย
สมชาย ยังย้ำหลายครั้งว่า ข้อเสนอของฝ่ายค้านครั้งนี้ ไม่ใช่การ ‘แก้ไข’ รัฐธรรมนูญ แต่เป็นการล้มฉบับเดิม แล้วเขียนฉบับใหม่ขึ้นมาโดยไม่มีกรอบเกณฑ์ใดๆ แปลว่าอยากจะแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 หรือยกเลิกองค์กรอิสระก็ทำได้ทั้งสิ้น ซึ่งบรรดา ส.ว.ก็ทำทีตื่นตูม รับลูกกันเกรียวกราว
แสบที่สุดคงหนีไม่พ้น พล.ต.อ.เฉลิมชัย เครืองาม ที่ชงคำถามว่า ข้อเสนอของฝ่ายค้านให้ประชาชนเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่ได้เอ่ยถึง สสร. เลย ทำให้ สมชาย ยกความเห็นของ เจษฎ์ โทณวณิก อดีตที่ปรึกษา กรธ. มาสนับสนุน ว่าการที่ฝ่ายค้านตั้งคำถามประชามติ โดยเอ่ยถึง สสร. นั้น เป็นการทำเหนืออำนาจรัฐธรรมนูญ จนส่อขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเสียเอง
กล่าวได้ว่า งานนี้ สมชาย ได้นก 2 ตัว คือ สร้างความกลัวเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่แบบไร้ขีดจำกัด และการทำหมัน สสร. ด้วยวาจากลายๆ
กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ: ส.ว.ตัวตึงท่านนี้เคยให้สัมภาษณ์กับ ‘วอยซ์’ เมื่อปีที่แล้วว่า “ผมฟันธงได้เลยว่าถึงเวลาที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ และผมจะเป็นคนสนับสนุน คอยดูผมไว้ ถ้าไม่แตะสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ผมยินดีร่วมแก้ไข”
แต่ในการอภิปรายวันนี้ กลับพูดเต็มปากว่า “เหตุผลที่ ส.ส.ต้องการล้มรัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะเป็นฉบับปราบโกง ถ้าทุจริตแล้วถูกจับได้จะถูกตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิต จึงต้องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ เพื่อนิรโทษกรรม ปลดโทษทุจริตให้โกงหนักกว่าเดิม”
ไม่น่าต้องขยายความอะไรเพิ่มเติม นอกจากคาดว่า ส.ว.ท่านนี้น่าจะได้ ‘แนวทาง’ ในการลงมติที่ชัดเจนลงมาแล้ว
อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ : https://voicetv.co.th/read/ZF1sjpjW4
ประพันธุ์ คูณมี: หัวชนฝาคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะมองว่าที่ ส.ส.อยากแก้ เพราะจะได้เลือกนายกฯ จาก ส.ส.เอง แต่เขามองว่า นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง “ประชาชนจะไม่ไว้ใจ” เพราะทำประเทศเสียหายมาทุกคน ยกตัวอย่าง ‘พล.อ.ชวลิต-ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์’ พร้อมย้ำว่า ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯ ดีอยู่แล้ว เพราะจะได้ช่วยถ่วงดุล ขณะที่ ส.ส. เอาแต่คอยฟังคำสั่งนายทุน บางคนอยู่มาหลายสมัย ยังต้องหลีกทางให้ลูกสาวนายทุนพรรค ไม่รู้ไปเรื่องนั้นได้ยังไง...
ถวิล เปลี่ยนศรี: เขาอธิบายข้อเสนอทำประชามติว่า มาถูกทางแล้ว แต่ ‘ใจเร็วด่วนได้’ ไปหน่อย และอาจนำมาซึ่งความวุ่นวาย โดยชี้ว่า หากรอสักนิดให้บทเฉพาะกาลที่มีคำถามพ่วงเกี่ยวข้องกับ ส.ว. ซึ่งถูกโจมตีนั้น เมื่อถึงเวลาหมดวาระก็จะหายไปเอง จึงไม่จำเป็นต้องรีบเสนอมาตอนนี้ การจัดทำรัฐธรรมนูญแบบลวกร้อนเช่นนี้คงไม่เหมาะนัก
ส.ว.ฝ่ายที่เห็นด้วย แม้จะเป็นเสียงข้างน้อย แต่ก็แสดงเหตุผลที่หนักแน่นน่าสนใจ และค่อนข้างแตกต่างกัน ความเห็นของ ส..ว.กลุ่มเล็กๆ นี้เอง อาจช่วยสะท้อนให้เราเห็นว่า ผู้อาวุโสเหล่านี้มองเกมการเมืองในอนาคตไว้อย่างไร และย่างก้าวแห่งอำนาจจะเป็นไปในทิศทางใดต่อ โดยแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม เช่น
1) กลุ่ม ‘มนุษย์หลักการ’
คำนูณ สิทธิสมาน: เป็น ส.ว.คนหนึ่งที่ยืนยันความเห็นเดิมอย่างหนักแน่นมาเสมอ เขาบอกว่าไม่สามารถหาเหตุผลให้ตัวเองได้ว่า จะขวางทางการทำประชามติทำไม เพราะเป็นการเสนอมาอย่างถูกต้องตามหลักการ และเป็นเพียงการถามความเห็น ‘เบื้องต้น’ จากประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเท่านั้น สุดท้ายอำนาจตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ อยู่ที่ ครม. เท่านั้น
มณเฑียร บุญตัน: ผู้โหวตสวนแทบจะทุกโอกาส ครั้งนี้เขากล่าวว่า แม้จะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่มองว่าอย่างน้อยควรเปิดทางให้ประชาชนได้มีโอกาสแสดงเจตนารมณ์ร่วมบ้าง ทั้งยังอธิบายแนวคิดของตัวเองที่ต่อระบอบประชาธิปไตยไว้ได้อย่างตกผลึก จนน่าแปลกใจที่คำเหล่านี้หลุดออกมาจาก 1 ใน 250 ส.ว.
“เราไม่สามารถรู้ได้หรอกว่าประชาชนจะเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ แต่ในระบอบประชาธิปไตย เราไม่อาจคาดเดาหรือมีสูตรสำเร็จรูปในเรื่องใดได้เลย ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของความล่าช้า ต้องใจเย็นและอดทน เชื่อมั่นในกระบวนการ มันอาจไม่ถูกใจเราในวันนี้ อาจต้องทำซ้ำทำใหม่ แก้ไขไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่สังคมตกผลึกร่วมกัน ประชาธิปไตยจึงไม่เป็นระบบที่การันตีประสิทธิภาพประสิทธิผลในเร็ววัน เป็นเรื่องน่ารำคาญ น่าเบื่อหน่าย ต้องอดทนใจเย็นไปตลอด แต่ผมยอมรับได้”
2) กลุ่ม ‘ขอมีส่วนร่วม’
วันชัย สอนศิริ: มองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ทางที่ดีควรเร่งทำในขณะที่ ส.ว.ชุดปัจจุบันยังมีอำนาจ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขได้ แต่หากวันนี้วุฒิสภาไม่ลงมติเห็นชอบกับญัตตินี้ก่อน จะเริ่มนับหนึ่งได้อย่างไร ดังนั้น การที่เราไม่เห็นด้วย เราไมได้อะไรเลย และไม่ได้นับหนึ่งการมีส่วนร่วมแก้ไขแต่อย่างใดด้วย
“ถ้าเราเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ผมเห็นว่าเรามีแต่ได้กับได้ อาจทำให้เรามีโอกาสมีส่วนร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเวลาที่เหลือสั้นๆ 1 ปี และเราได้ภาพจน์ที่ดี อย่างน้อยที่สุดเราก็มีความเป็นประชาธิปไตยในบางส่วน”
คำว่า ‘บางส่วน’ นี่ตีความได้เยอะทีเดียว...
เฉลิมชัย เฟื่องคอน: ถ้าเราไม่ทำรัฐธรรมนูญใหม่ตอนนี้ แล้ว ส.ว.ชุดใหม่มา ก็เป็นพวกฝ่ายการเมืองทั้งหมด เขาจะทำง่ายกว่าสมัยนี้ สมัยนี้ ส.ว.พวกเราก็ยังเห็นๆ กันอยู่ว่ามาจากไหน และเราก็ยังมีอำนาจตามมาตรา 256 ที่สามารถยับยั้งได้ ถ้าเราปล่อยอำนาจไปโดยหมดวาระ ส.ว.ชุดใหม่ก็มาจากพรรคการเมืองทั้งหมด เขาก็ยิ่งแก้ไขง่ายกว่าปัจจุบันนี้
3) กลุ่ม ‘รู้ทันนักการเมือง’
เสรี สุวรรณภานนท์: เตือนสติวุฒิสภาว่า อย่าเพิ่งคิดแทน ครม. ไปไกล เราต้องรู้เท่าทันเกมของนักการเมือง ฝ่ายค้านที่เสนอเข้ามาก็รู้อยู่แล้วว่าต้องถูกปัดตก และเขาจะเอาจุดนี้ไปขยายผลเพื่อทิ่มแทง ส.ว.ต่อไปในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
“หากคราวนี้วุฒิสภาไม่ให้ผ่าน เขาก็จะไปหยิบอ้างว่า นี่แหละ ส.ว.ชุดนี้ ไม่เห็นเงาประชาชนเลย มาจากเผด็จการสืบทอดอำนาจ ไม่ให้ความสำคัญประชาชน แล้วเรารู้เท่าทันไหม เขากำลังเอาเราเป็นเครื่องมือไปหยิบยกให้เขาสร้างคะแนนเสียง”
ไม่บ่อยนัก ที่เราจะได้เห็นการถกเถียงกันอย่างเอาจริงเอาจังภายในวุฒิสภาด้วยกันเอง โดยเฉพาะในหัวข้อสำคัญเช่นเรื่องการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งที่เอาด้วยและไม่เอาด้วย ไม่ว่าจะเหตุผลอะไร หากลองสืบสาวประวัติของพวกเขาก่อนจะมาเป็น ส.ว. ก็อาจเข้าใจได้ไม่ยาก
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้ชวนให้ติดตามต่อว่า เมื่อรอยร้าวเล็กๆ ในวุฒิสภาเริ่มเผยให้เห็นแล้ว จะส่งผลอย่างไรต่อปลายทาง คือการยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 อันเป็นภารกิจสุดท้ายของวุฒิสภาชุดพิเศษนี้