ไม่พบผลการค้นหา
จากเพลิงระเบิดโกดังเก็บพลุบนพื้นที่ ‘ตลาดชุมชนมูโนะ’ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 29 ก.ค. โดยจังหวัดนราธิวาสสรุปผลกระทบว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 1,935 คน 427 ครัวเรือน เสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บ 209 คน

กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ตามมาด้วยคำถามว่า ‘วัตถุอันตราย’ จำนวนมาก ที่ถูกลักลอบมาเก็บไว้ใจกลางชุมชน เพื่อเตรียมขนย้ายไปขายยังประเทศมาเลเซีย เกี่ยวพันกับการเรียกผลประโยชน์หรือไม่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ซึ่งมีอำนาจภายใต้กฎอัยการศึกมาหลาย 10 ปี 

ซึ่งภายหลังเกิดเหตุ ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ส.ส.พรรคก้าวไกลออกมาประกาศผ่านโซเชียลว่า ‘ส่วยมูโนะ’ ปล่อยไว้ไม่ได้ มือแฉแห่งพรรคก้าวไกล ยังเปิดโปงอีกว่าเรื่องนี้ต้องลากไส้ไปให้ถึงกระบวนการที่อยู่เบื้องหลัง โดยมี ‘จ่า ฟ.’ เป็นตัวละครสำคัญ ในการเก็บส่วยส่ง ‘นาย’ ซึ่งประชาชนในตำบลมูโนะต่างรู้ดีว่าบุคคลนี้คือใคร 

วิโรจน์ยังพุ่งตรงไปยังทหาร-ตำรวจ จะไม่รู้เรื่องนี้อย่างไร และจี้ไปยัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัส ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ต้องตรวจสอบและนำผู้เกี่ยวข้องมาลงโทษทางกฎหมาย 


เพือนตำรวจแฉตำรวจ

เช่นเดียวกับเพจ ‘เพื่อนตำรวจ’ ซึ่งเคยเปิดโปงความาไม่ชอบมาพากลในวงการตำรวจ ได้ออกมาโพสต์เรื่องราวความว่า เป็นไปได้หรือที่เจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองจะไม่รู้เลย โกดังลักลอบเก็บประทัดไม่ได้เพิ่งมี แต่มีมานานแล้ว

พร้อมระบุอีกว่าเจ้าของโกดังแห่งนี้ชื่อ ‘สมปอง’ หรือ ‘เถ้าแก่ไหว’ กับ ‘เจ๊หลิน’ ซึ่งตอนนี้ทั้งสองคนหลบหนีอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งทั้งสองมีธุรกิจค้าขายประทัดและพลุส่งออกประเทศมาเลเซีย เป็นเจ้าใหญ่ของ อ.สุไหงโก-ลก 

“เคยถูกจับกุมเมื่อปี 59 โดยชุด กอ.รมน. แต่ก็วิ่งเต้นหลุดคดีมาได้ ถือว่าไม่ธรรมดา” เพจเพื่อนตำรวจ ระบุ

หลังจากเกิดเหตุวันนี้ เจ้าหน้าที่บุกเข้าไปค้นที่บ้านของเถ้าแก่ไหว พบว่ายังมีประทัดซุกซ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันจ่ายเงินส่วยผ่าน ‘จ่าฟาโร’ ซึ่งเป็นคนเก็บเงินธุรกิจสีเทาในมูโนะทั้งหมด 


ภาครัฐเร่งหาคนรับผิด 

ด้านความเคลื่อนไหวของภาครัฐ ‘พล.อ.อนุพงษ์’ ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุพร้อมสั่งการเยียวยาช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัย และหาแนวทางจัดหาพื้นที่อาศัย และย้ำว่าเจ้าของโรงงานต้องรับผิดชอบ รวมถึงส่วนราชการโดยเฉพาะนายอำเภอผู้เป็นคนอนุมัติ ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ต้องมีหูมีตาต้องรู้ หากไม่ดำเนินการถือเป็นการละเว้น 

เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เดินทางไปบริเวณจุดเกิดเหตุ พร้อมสั่งดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งขณะนี้มีการออกหมายจับไปแล้ว 2 ราย คือ สามีภรรยาเจ้าของโกดัง ที่หลบหนีอยู่ และจะขยายผลตั้งแต่ต้นตอถึงปลายทาง ซึ่งขณะนี้ ผบ.ตร.ได้มีคำสั่งให้ 4 นายตำรวจ สภ.มูโนะ และ ‘จ่าฟาโร’ ไปช่วยราชการ เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง 


แฉเส้นทางส่วยถึงมือฝ่ายความมั่นคงทุกระดับ 

ฟาก ‘อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์’ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ยื่นเอกสารหลักฐานถึง ผบ.ตร. เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนขบวนการรับส่วยมูโนะ

โดยขอให้ตรวจสอบการทุจริต 5 หน่วยงาน คือ กรมศุลกากรแหลมฉบัง, ทหารพรานประจำชุดมูโนะ, เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. กองทัพภาค 4 ที่ดูแลความมั่นคงในพื้นที่บ้านมูโนะ และตำรวจท้องที่นายหนึ่ง รวมถึงอ้างว่ามีนักการเมืองที่เป็น ส.ส.ในพื้นที่อยู่เบื้องหลัง

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ใช้กฎหมายพิเศษทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความมั่นคง การนำพลุ-ดอกไม้ไฟเข้ามาในพื้นที่จำนวนมากต้องขออนุญาตแม่ทัพภาค 4 และจะต้องผ่านด่านการขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษจาก กอ.รมน. ดังนั้นหากไม่มีการจ่ายส่วย รถที่ขนส่งดังกล่าวก็ไม่สามารถเข้ามาในพื้นที่ได้


ทนายมุสลิมชงดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ในฐานะองค์กรให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการ ดังนี้

1.ขอให้รัฐรีบดำเนินการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประสบภัยครั้งนี้โดยเร็ว ทั้งในภาวะเร่งด่วน และการวางแผนฟื้นฟูเยียวยาทางจิตใจในระยะยาว เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนมูโนะโดยเร็ว

2.ขอให้รัฐใช้มาตรการในการรักษาและดูแลความปลอดภัยให้แก่บ้านเรือน และที่อยู่อาศัยของผู้ประสบภัยทุกครัวเรือน โดยเฉพาะความปลอดภัยของทรัพย์สินที่ผู้ประสบภัยไม่สามารถที่จะดูแลด้วยตนเองได้

3.เหตุที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่ง มาจากการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมดูแล จึงขอให้รัฐทบทวนการบังคับใช้กฎหมายและข้อปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวโดยเร็ว

4.ชาวบ้านมีข้อสงสัยว่าเจ้าหน้าที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องและอยู่เบื้องหลังการขนย้าย รวมทั้งได้รับผลประโยชน์ จึงขอเรียกร้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับเป็นคดีพิเศษ เข้ามาทำการสืบสวนสอบสวน เพื่อขยายผลไปยังบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้ 


จากส่วยชายแดนสู่ข้อเรียกร้องในสภา

จากประเด็นร้อนนี้ทำให้เรื่องนี้ถูกพูดถึงในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ประจำวันที่ 3 ส.ค. โดยมี 8 ส.ส.จาก หลากหลายพรรคการเมือง อาทิ ‘รอมฎอน ปันจอร์’ ส.ส.ก้าวไกล, ‘ซาการียา สะอิ’ ส.ส.ภูมิใจไทย, อามินทร์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.พลังประชารัฐ รวมถึง กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.ประชาชาติ ได้ร่วมกันสะท้อนผลกระทบในพื้นที่พร้อมใช้เวทีประชุมสภาฯ เรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานความมั่นคงที่ดูแลพื้นที่ ทั้งในแง่การบรรเทาเยียวยาช่วยเหลือป้องกันเหตุซ้ำรอย รวมถึงการดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้อง

เนื่องจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ อยู่ภายใต้ความไม่สงบร่วม 20 ปี และต้องประสบภัยจากความปล่อยปละละเลยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นการหาผลประโยชน์ของธุรกิจสีเทา จึงขอให้นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานความมั่นคงดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุดอย่างตรงไปตรงมา ผ่านกระบวนการตรวจสอบจากคณะกรรมการกลางที่ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายความมั่นคง เพื่อความโปร่งใสและไม่มีการแทรกแซงในการตรวจสอบ

นอกจากนี้บางส่วยยังได้เสนอทางออกเพื่อให้การเยียวยาทำได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากพื้นที่เกิดเหตุถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งหลายครอบครัวส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินผ่านกองทุนต่างๆของรัฐ เพื่อบรรเทาทุกข์และสร้างขวัญกำลังใจให้คนในพื้นที่ผ่านพ้นวิกฤตที่ต้องเผชิญ 

ภาพประกอบข่าว:สำนักข่าวอิศรา

อ้างอิง

  • https://www.komchadluek.net/news/crime/555094
  • https://www.thaipbs.or.th/news/content/330262
  • https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/120608-fireworksnara.html