ย้อนเวลาลับไปราวๆ 20 ปี ชื่อเสียงของ นาโอโตะ ฟุคาซาวะ (Naoto Fukasawa) เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากผลงาน Wall-Mounted CD Player (1999) เครื่องเล่นซีดีของแบรนด์มูจิ (MUJI) ที่รับแรงบันดาลใจมาจากพัดลมดูดอากาศแขวนผนัง และมีวิธีการทำงานแสนเรียบง่าย เพียงแค่ดึงสายเปิด-ปิด ตัดกระบวนการคิดของผู้ใช้งานออกหมดสิ้น แล้วยกทุกอย่างเป็นเรื่องสัญชาติญาณตามธรรมชาติแทน ซึ่งต่อมาคอนเซ็ปต์อันแข็งแกร่งของผลงานชิ้นดังกล่าว ทำให้ได้รับคัดเลือกไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (Museum of Modern Art: MoMA) ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
ไม่เพียงแค่ทำงานให้แบรนด์จากประเทศบ้านเกิดเพียงเท่านั้น ฝีมือของฟุคาซาวะเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก ส่งผลให้เขามีโอกาสทำงานร่วมกับบริษัทชื่อดังมากมาย อาทิ สวารอฟสกี้ (Swarovski) เฮอร์แมน มิลเลอร์ (Herman Miller) ซัมซุง (Samsumg) หรือล่าสุดแบรนด์จากประเทศไทยอย่าง คอตโต้ (COTTO) ในการออกแบบสุขภัณฑ์คอลเลคชันใหม่ OVAL
ฟุคาซาวะเล่าว่า ช่วงเริ่มต้นทำงานผู้คนมักติดภาพว่า งานออกแบบจำเป็นต้องมีแรงดึงดูดทางอารมณ์เป็นพิเศษ แต่ความจริงในชีวิตประจำวันทุกคนมักจะเจอกับสิ่งประดิษฐ์มากมาย ดังนั้น การออกแบบของเขาจึงตัดฟังก์ชันไม่จำเป็นออกหมดสิ้น เพื่อให้ง่ายสำหรับผู้ใช้งานมากที่สุด และเรียกปรัชญาการทำงานดังกล่าวว่า ‘Without Thought’ หรือการละทิ้งความคิด แล้วหันมาใช้ความรู้สึกสร้างสรรค์ผลงานอย่างเป็นธรรมชาติ
“เวลาใช้งานสิ่งของ จิตใจของผู้คนไม่ได้คิดถึงผลิตภัณฑ์ แต่ยังมีสัญชาติญาณในการโต้ตอบ เช่น ขณะเดินคุณไม่ต้องมาคิดถึงรองเท้า หรือพื้น ทุกอย่างมันเป็นไปตามธรรมชาติ นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าการไม่ต้องคิด”
ผมเหมือนคนทำซุป ที่ปรุงรสชาติด้วยแบรนด์ และวัฒนธรรม ดังนั้น ผมใช้ปรัชญาเดียวกันกับทุกแบรนด์
นักออกแบบผลิตภัณฑ์จากแดนอาทิตย์อุทัยเล่าถึงปรัชญาของเขาต่อว่า เขาจดจ่ออยู่กับการสำรวจผู้คน เพื่อค้นหาสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการมากที่สุด “ผมคิดว่า ผู้คนไม่รู้หรอกว่า อะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ หน้าที่ของผมคือหาคำตอบออกมา ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจมาก (ยิ้ม)”
เจ้าของตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาการออกแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยศิลปะทามะ มักจะหยิบยกเรื่องความเป็นมนุษย์มาใช้ในห้องเรียนอยู่เสมอ แม้ครั้งนี้จะไม่ได้อยู่ในห้องเรียน แต่ฟุคาซาวะก็สวมบทบาทอาจารย์ และเริ่มต้นการเลคเชอร์เรื่องหัวใจในการออกแบบ
“ความสุข และความเป็นธรรมชาติ คือสิ่งสำคัญในการออกแบบ ผมต้องทำให้แน่ใจว่า ห้วงเวลาแบบไหนที่จะทำให้ผู้บริโภคมีความสุข ผมคิดว่าถ้าเราสังเกตุทุกๆ สิ่งเกี่ยวกับจิตใจของผู้คน มันง่ายมากที่จะหาคำตอบว่า พวกเขาต้องการอะไร สิ่งที่ผมต้องทำคือ มองเข้าไปในผู้คน และทำนายหน้าตาผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาต้องการออกมา”
อย่างไรก็ตาม ฟุคาซาวะบอกว่า ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาไม่จำเป็นต้องมีหน้าตาล้ำอนาคต แต่ต้องเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ซึ่งอะไรที่พื้นฐานมากๆ และเขามักจะหยิบเรื่องปกติธรรมดามาทำให้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดามากขึ้น
ล่าสุด ฟุคาซาวะร่วมมือกับแบรนด์สุขภัณฑ์สัญชาติไทยอย่าง คอตโต้ ในการออกแบบคอลเลคชัน OVAL ซึ่งได้แนวคิดมาจาก ‘วงรี’ ที่ส่วนตัวนักออกแบบมองว่า เกี่ยวพันกับธรรมชาติของมนุษย์
“ผมพยายามคิดถึงรูปทรงที่มีความเรียบง่าย และแรงบันดาลใจของผมคือ วงกลมรูปไข่ รูปร่างของมนุษย์ไม่ใช่แค่ลักษณะของร่างกาย แต่ถ้ามองจากด้านบนก็จะเห็นเป็นวงรี เวลาคุณใช้อ่างล้างหน้า ในขณะที่จับมันไว้ก็มีลักษณะเป็นวงรีเหมือนกัน พฤติกรรมตามธรรมชาติก็เป็นวงรีอยู่แล้ว”
วงกลมหมดจดดูแข็งกระด้าง เพราะเป็นเรขาคณิตมากเกินไป ต่างกับวงรีที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น และนุ่มนวล
ฟุคาซาวะย้ำว่า การออกแบบที่ดีคือ ผลิตภัณฑ์นั้นๆ สามารถใช้ได้จริงในทุกๆ วัน พร้อมทิ้งท้ายว่า เขาอยากจะช่วยให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขมากขึ้น